posttoday

จัดระเบียบสังคมสร้างความนิยมทหาร

19 มิถุนายน 2557

หลังจากอำนาจเริ่มอยู่มือ คสช. ก็ได้เวลาออกประชานิยมเฟสใหม่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หลังจากอำนาจเริ่มอยู่มือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้เวลาออกประชานิยมเฟสใหม่ ว่าด้วยการจัดระเบียบสังคมจัดระเบียบผู้มีอิทธิพล โดยมอบหมายให้ “บิ๊กหมู” พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบ เป็นผู้ดูแล

นโยบายของ คสช.ครั้งนี้ เน้นจัดระเบียบครอบจักรวาล เริ่มตั้งแต่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตู้โดยสาร แท็กซี่ เลยไปถึงการจัดระเบียบผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมอบหมายให้หน่วยทหารที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ซึ่งมี “เสธ.แดง” พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นผู้บัญชาการ ดูแลการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ โดยมอบนโยบายไปแล้ว ให้ทหารจับตาเรื่องค่าโดยสารที่สูงเกินเหตุ และค่าใช้จ่ายที่วินมอเตอร์ไซค์ต้องจ่ายไปยังผู้มีอิทธิพล

กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) ซึ่งมี พล.ต.สมโภชน์ วังแก้ว เป็นผู้บัญชาการ รับผิดชอบการจัดระเบียบรถตู้โดยสารก็ไม่น้อยหน้า เริ่มงานด้วยการย้ายที่จอดรถตู้โดยสารที่จอดระเกะระกะอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และบริเวณใต้ทางด่วน ไปไว้ที่สถานีแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสันแทน ซึ่งนอกจากจะเป็นระเบียบมากขึ้นแล้ว ยังสามารถแก้ปัญหาการจราจร รวมถึงทำให้ผู้ที่เรียกเก็บค่าหัวคิวที่จอดรถตู้เดิมต้องสูญสลายไปด้วย

ขณะที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ซึ่งมี พล.ต.นิรันดร สมุทรสาคร เป็นผู้บัญชาการ รับผิดชอบด้านการจัดระเบียบแท็กซี่ ชิมลางด้วยการจัดระเบียบแท็กซี่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไม่ให้มีการเก็บค่าโดยสารเกินกำหนด และไม่ให้มีมาเฟียเรียกรับค่าตอบแทน

ส่วนการจัดระเบียบผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้า คสช. มอบหมายตรงมายัง พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก และประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เป็นผู้ดูแลโดยตรง โดยได้ให้นโยบายว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ควรมีราคาเกิน 80 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ตีพิมพ์ไว้บนตัวสลากขณะขาย

ในระหว่างที่นโยบายทางเศรษฐกิจยังไม่เห็นผล และนโยบายปรองดองยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ การจัดการผู้มีอิทธิพล และการใช้อำนาจแก้ปัญหาเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นการเริ่มต้นเรียกคะแนนจากผู้ที่เห็นด้วย หรือแม้แต่ผู้ที่เห็นต่างได้ดีที่สุด ทำให้ช่วงนี้มีผู้ขานรับการจัดระเบียบกันอย่างหนาตา และกลายเป็นนโยบายที่ คสช.ได้รับเสียงปรบมือมากที่สุดนโยบายหนึ่ง โดยเฉพาะจากคนกรุง

ถนนทุกสายจึงมุ่งเข้าสู่ คสช. เพื่อยื่นเรื่องร้องเรียนให้แก้ปัญหามาเฟีย เพราะในประเทศนี้มาเฟียไม่ได้อยู่แค่วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ รถตู้ หรือลอตเตอรี่ หากแต่ในธุรกิจอื่นๆ เช่น สถานบันเทิง ตลาด หรือรถโดยสารสาธารณะ ก็มีมาเฟียดูแล ซึ่งสถานการณ์ในต่างจังหวัดหลายแห่ง โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ มีการปล่อยให้รถแท็กซี่และรถสองแถว ขูดรีดค่าโดยสารจากนักท่องเที่ยวเป็นล่ำเป็นสัน รุนแรงมากกว่าใน กทม.ด้วยซ้ำ

อันที่จริงการจัดระเบียบเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา หรือแม้แต่ผู้ว่าฯ กทม.ทุกคนที่ได้รับเลือก ก็ขึงขังจัดการเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด ในช่วงได้รับเลือกตั้งใหม่ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาต่างๆ ก็กลับมาเข้าวงจรเดิมอีกครั้ง ทั้งที่ผู้มีอำนาจโดยตรงพยายามแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง

ทุกคนรู้ดีว่าวงจรของรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ หรือสลากกินแบ่งนั้น เป็นแดนสนธยา ที่ไม่มีผู้ใดย่างกรายเข้าไปจัดระบบได้ เพราะวงเงินที่หมุนอยู่ในคนกลุ่มนี้มหาศาลถึงหลักพันล้าน และทุกวงจร ล้วนมีคนมีสีเข้าไปเอี่ยวด้วย ไม่ว่าจะสีกากีหรือสีเขียว จากรับราชการอยู่ดีๆ ก็กลายเป็นมาเฟียใหญ่ เรียกค่าคุ้มครองผู้ประกอบการทุกคนจนขนพองสยองเกล้า

เมื่อชาวบ้านธรรมดาหาเช้ากินค่ำเงินไม่ถึงก็จำเป็นต้องออกจากวงจร และเมื่อเงินที่ใช้ในการหาเช้ากินค่ำไม่พอจ่ายให้ผู้มีอิทธิพล ก็ต้องไปรีดไถกับผู้โดยสารแทน คนสุดท้ายในห่วงโซ่กลายเป็นผู้รับกรรมหนักที่สุด

วันที่ทหารมีอำนาจสูงสุด จึงถือเป็นโอกาสดี หากใช้อำนาจนั้นในการจัดการกับผู้มีอิทธิพล แต่ที่น่ากังวลก็คือ ขอบเขตการจัดการของหน่วยทหารใน กทม.จะกล้าดำเนินการด้วยวิธีการเฉียบขาดหรือไม่ หากพบว่ามาเฟียเหล่านี้ไม่ใช่คนอื่นไกล หากแต่เป็นรุ่นพี่ที่จบโรงเรียนเดียวกันอย่าง “โรงเรียนเตรียมทหาร”

เป็นที่รู้กันว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คิดจะจัดการปราบผู้มีอิทธิพล หลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ ก็เผชิญกับ “เสธ.” มาเฟียหลายคน จนในที่สุดนโยบายนี้ก็กลายเป็นนโยบายที่ล้มเหลว และหากย้อนไปไกลกว่านั้น ในยุคที่ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปกครองประเทศ ก็มีนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลเช่นเดียวกัน แต่หลังปราบปรามผู้มีอิทธิพลให้ออกไปได้ เหล่าทหารก็รับไม้ต่อ กลายเป็นมาเฟียคุมธุรกิจผิดกฎหมายที่มีช่องว่างเสียเอง

นอกจากนี้ อีกปัญหาหนึ่งคือ ผู้มีอำนาจทุกครั้งจะอาศัยช่วงฮันนีมูนสร้างอีเวนต์โปรโมทว่าเป็นผลงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลายเป็นงานผักชีโรยหน้า เพราะผู้ที่รับผิดชอบในการจัดการเรื่องการขนส่งสาธารณะโดยตรงอย่างตำรวจ กทม. หน่วยงานระดับจังหวัด และกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งดูแลราคาลอตเตอรี่นั้น ไม่ได้เอาจริงเอาจังที่จะสานต่อ หรือพูดง่ายๆ ว่า “หากไม่มีปืนจี้ ก็ไม่ทำ”

จากนโยบายดังกล่าวในระยะสั้นคงสร้างคะแนนนิยมให้ คสช.ได้มากโข แต่ในระยะยาว หากไม่รื้อใหม่ทั้งระบบ ด้วยการจัดการให้โปร่งใสตั้งแต่ต้นทาง มีองค์กรที่รับผิดชอบชัดเจน รวมถึงมีหน่วยงานในการตรวจสอบ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก็ยากที่จะจัดการเรื่องนี้ทั้งวงจร เพราะที่ผ่านมามีบทเรียนให้เห็นแล้วว่า เมื่อใช้อำนาจทหารจัดการแบบลูบหน้าปะจมูก หรือแบบไฟไหม้ฟาง สุดท้ายวงจรของอิทธิพลเถื่อนก็กลับมาซ้ำอีกไม่รู้จบ และเมื่อถึงตอนนั้นทหารอาจกลายเป็นจำเลยสังคมก็เป็นได้