สัมปชัญญะ 4
สิ่งหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายปรารถนาเหมือนกันอย่างหนึ่งนั่นก็คือ การเป็นผู้รู้ตัวทั่วพร้อม
สิ่งหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายปรารถนาเหมือนกันอย่างหนึ่งนั่นก็คือ การเป็นผู้รู้ตัวทั่วพร้อม หรือการมีสัมปชัญญะ ในทางธรรมท่านเรียกว่า สัมปะชานะการี คือ ผู้มีสัมปชัญญะหมายถึงอะไร คือ ผู้ที่ประกอบกิจทุกอย่างด้วยสัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว เป็นปกติ หรือเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวนั่นแหละเป็นปกติ ก็คือไม่ว่าจะทำอะไร หรืออยู่ในอิริยาบถใดก็รู้ตัว นี่คือคำอธิบายในอรรถกถาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งท่านได้กล่าวถึงสัมปชัญญะ 4 อย่าง คือ
- สาตถกสัมปชัญญะ
- สัปปายสัมปชัญญะ
- โคจรสัมปชัญญะ
- อสัมโมหสัมปชัญญะ
สาตถกสัมปชัญญะ หมายถึง การไม่ไปตามอำนาจความคิด เช่น คิดจะไปก็ไปเลย แต่กำหนดผลได้ผลเสีย เสียก่อนว่า การไปนี้จะมีประโยชน์แก่เราหรือไม่ แล้วถือเอาแต่ประโยชน์ “ประโยชน์” ในที่นี้เรียกว่า “ผลได้” (ผลได้ เรียกว่า “อัตถะ” ส่วนผลเสีย เรียกว่า “อนัตถะ”) ก็ได้ แต่ไม่ใช่แปลตรงๆ อย่างในทางโลก แต่หมายถึง “ความเจริญในทางธรรม” เช่น เมื่อไปแล้ว กุศลจะเกิด เช่น ไปแล้วจะเกิดสติ จะเกิดปัญญา ได้ฟังธรรม เกิดความสำรวมเพิ่มขึ้น เกิดศรัทธาเพิ่มขึ้น เป็นต้น การไปเหล่านี้ เช่น การได้ไปเห็นพระเจดีย์ ได้เห็นสงฆ์ ได้เห็นต้นโพธิ์ ได้ฟังธรรม เป็นต้น แม้ประโยชน์ในทางโลกที่ไม่ได้เป็นไปโดยผิดศีลผิดธรรม อาจารย์บางพวกท่านก็อนุโลมเข้าในสัมปชัญญะข้อนี้ เพราะเมื่ออาศัยประโยชน์นั้นแล้ว ก็ได้อนุเคราะห์การปฏิบัติธรรม
ดังนั้น หากมีสาตถกสัมปชัญญะเกิดขึ้นในจิตใจ ผู้นั้นจะคิดก่อนไป คิดก่อนทำอะไรๆ ว่าจะได้ประโยชน์ ได้บุญกุศล หรือเป็นทางเสื่อมประโยชน์ เสื่อมบุญกุศล ทำให้บาปอกุศลเจริญ หากจะเทียบในทางโลกก็คงคล้ายๆ กับการที่เราต้องคิดพิจารณาถึงสิ่งที่จะเป็นความเสี่ยง คือ ก่อให้เกิดปัญหา ความวุ่นวายในอนาคตได้ หากเราไป หรือทำ พูด คิด ในทางนั้น ผู้ที่มีสาตถกสัมปชัญญะ ก็จะมีความปลอดภัย ด้วยหากคิดก่อนแล้วเลือกกระทำเลือกไปแต่ในทางที่ดีที่เจริญ ที่เกิดประโยชน์ ก็สามารถรักษาตัวรอดปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงต่อการเสียศีล เกิดโทษ มัวหมอง สาตถกสัมปชัญญะจึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ เป็นความรู้สึกตัว ที่ควรต้องมีประจำตัวผู้ประพฤติธรรมทั้งหลาย
สัมปชัญญะตัวที่ 2 คือ สัปปายสัมปชัญญะ คือ การกำหนด ความสบาย (สัปปายะ) หรือไม่สบาย (อสัปปายะ) เห็นเช่นนี้ อย่าได้นึกถึงแต่ความสบายทางกายอันประกอบด้วยกิเลสอย่างที่เราคุ้นเคยกัน เช่น การไปสปา เป็นต้น ซึ่งเขาเอาชื่อไปใช้ แต่ไม่ได้เอาความหมายที่แท้จริงไป การที่ว่าอะไรสบาย และไม่สบาย ต้องดูที่มีอันตรายหรือไม่ หากไม่มีอันตรายต่อศีล สมาธิ ปัญญา แบบนี้เรียกได้ว่าสัปปายะ แต่ถ้าอาจมีอันตรายต่อคุณงามความดี อย่างนี้เรียกว่าไม่สัปปายะ
ตัวอย่างเช่น การไปไหว้พระธาตุเจดีย์นั้นเป็นสิ่งที่เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาแล้วก็รู้ว่ามีอัตถะ คือ มีประโยชน์ มีผลได้ แต่เมื่อใคร่ครวญเพียงแค่สาตถกสัมปชัญญะอย่างเดียว นับว่ายังไม่พอ เพราะต้องคิดต่ออีกว่า สัปปายะหรือเปล่า เช่น ถ้าวันนั้น ที่วัดมีงานรื่นเริง เฉลิมฉลอง มีการละเล่น มีดนตรี ผู้คนมากมายล้วนประดับประดา มาเดินเที่ยวงาน เหมือนกับภาพจิตรกรรมอันงาม หากผู้ปฏิบัติ ซึ่งถือศีลอุโบสถ หรือเป็นภิกษุสามเณร จะไปไหว้พระเจดีย์ในวันเช่นนั้น ก็นับว่าไม่สัปปายะ เพราะอาจมีอันตราย เช่น ความโลภย่อมเกิด ความติดข้องในอารมณ์อันน่ายินดีพอใจเพราะการมองและการได้ยินที่ไม่เหมาะสม หรือมีโอกาสที่จะเกิดการถูกต้องกายของเพศตรงข้าม ซึ่งเป็นอันตรายต่อการประพฤติพรหมจรรย์ นับว่าไม่สัปปายะ อย่างนี้ก็จึงควรพิจารณาให้ครบถ้วน
สัมปชัญญะตัวที่ 3 คือ โคจรสัมปชัญญะ สัมปชัญญะนี้ท่านหมายเอา โคจระ คือ “กรรมฐาน” เราอาจคิดว่า โคจร คือ การท่องเที่ยวไป น่าจะเป็นสถานที่ แต่ไม่ใช่ เพราะกรรมฐานเป็นที่เที่ยวไปของจิต คือเป็นอารมณ์ของจิต ดังนั้นเมื่อผู้ปฏิบัติเลือกกรรมฐานที่ถูกต้องและเป็นที่พอใจของตนแล้ว เมื่อจะไป ก็ควร “นำกรรมฐานไป และนำกรรมฐานกลับด้วย” คือ การอยู่ในกรรมฐานทั้งไปและกลับ โดยไม่ละทิ้งกรรมฐาน อรรถกถาท่านอธิบายไว้ว่า เช่น พระภิกษุจะไปทำวัตรที่ลานพระเจดีย์ เมื่อตนเป็นผู้ปฏิบัติกรรมฐาน เช่น มีพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ เมื่ออยู่ในกุฏิ ก็มีพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ เดินออกไปยังลานพระเจดีย์ก็ยังมีกรรมฐานของตน คือ พุทธานุสสติเป็นอารมณ์ เมื่อเข้าไปยังลานพระเจดีย์ ก็กำหนดพักกรรมฐานไว้ เหมือนการพักวางของไว้ที่เชิงบันได ขึ้นไปไหว้พระเจดีย์ กระทำประทักษิณ 3 ครั้ง (เวียนขวา) เพื่อแสดงความเคารพ ดังเช่นอยู่ต่อหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วลงจากลานพระเจดีย์ ไปยังที่ที่ตนพักกรรมฐานไว้ เสมือนคนเอามือถือสิ่งของที่ตนวางพักไว้ชั่วคราว นำกรรมฐานกลับ ในขณะที่กลับมีกรรมฐานที่ตนตั้งใจไว้ คือ พุทธานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์เครื่องระลึก กลับจนถึงกุฏิ อย่างนี้เรียกว่า นำกรรมฐานไป แล้วนำกรรมฐานกลับ
นี่เป็นโคจรสัมปชัญญะ ซึ่งเกี่ยวกับการรักษากรรมฐานในการไปและกลับที่ใดๆ เพราะเมื่ออยู่ในที่พักก็ปฏิบัติกรรมฐานนั้นอยู่แล้ว อย่างนี้ก็เกิดความต่อเนื่อง จะทำกิจอื่นที่ควรและสัปปายะ เช่น ไหว้พระเจดีย์ หรือบิณฑบาต ก็พักกรรมฐานเพียงชั่วครู่ เสร็จแล้วก็นำกรรมฐานกลับ อย่างนี้จึงเรียกว่ามีความรู้ตัวอยู่ในกรรมฐาน
สุดท้าย คือ อสัมโมหสัมปชัญญะ หมายถึง การไม่หลงลืม คือ ไม่หลงลืมเหมือนอันธปุถุชน ผู้หลง คือ ประกอบด้วยอวิชชา คือ โมหะ ในการทำอะไรๆ ที่ยากก็คือ ต้อง “รู้” ด้วยปัญญาอันถูกต้องตามความเป็นจริง คือ รู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้น ว่าอะไรเกิด เกิดเพราะอะไร เป็นต้น เช่น การเดิน ถ้ารู้ว่าเราเดิน อย่างนี้ไม่ใช่ อสัมโมหสัมปชัญญะ เพราะใครๆ ก็รู้ ปุถุชนทั้งหลายก็รู้ เป็นการรู้ด้วย โมหะ จะรู้ด้วย อสัมโมหะ คือ ไม่มีโมหะ ต้องรู้ด้วยปัญญา เช่น การก้าวไปข้างหน้า ในการก้าวไป จิตคิดจะก้าว จึงเกิดวาโยธาตุที่มีจิตเป็นเหตุ ทำให้เกิดการไหวขึ้น โครงกระดูกที่สมมติว่ากายนี้ จะก้าวไปข้างหน้าตามอำนาจของการแผ่ไปแห่งวาโยธาตุที่เกิดเพราะจิตนั้น (จิตตชวาโย) รู้ตัวอย่างนี้จึงเป็นอสัมโมหสัมปชัญญะ
จะเห็นได้ว่า เรื่องของสัมปชัญญะตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสั่งสอนไว้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จะต้องอาศัย มิใช่เฉพาะสติ แต่ต้องอาศัย ทั้งสติและปัญญา อีกทั้งความพยายามอย่างยิ่งยวดและต่อเนื่อง ผู้ที่ปฏิบัติได้อย่างครบถ้วน นับว่า น่าเคารพ น่าสรรเสริญ น่าอนุโมทนา อย่างยิ่ง