นายกฯ พอใจ 5 ฝ่ายเดินหน้าตามโรดแมป
"ประยุทธ์" พอใจ สนช.-สปช. เดินหน้าออกกฎหมาย - ปฎิรูป ตามโรดแมป ยัน ไม่แทรกแซงการทำงาน
"ประยุทธ์" พอใจ สนช.-สปช. เดินหน้าออกกฎหมาย - ปฎิรูป ตามโรดแมป ยัน ไม่แทรกแซงการทำงาน
วันที่ 19 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. กล่าวถึงการหารือ 5 ฝ่าย ระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ วานนี้ (18 พ.ค.) ว่า เป็นการพูดคุยในทางปฏิบัติว่าให้ประเทศดำเนินการไปด้วยความ เรียบร้อยตามแนวทาง หรือโรดแมป ที่วางไว้ โดยให้ทั้ง 5 ส่วนทำงานภายใต้นโยบายเดียวกัน ในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และวางพื้นฐานของประเทศระยะยาว ซึ่งเกี่ยวพันเรื่องของกฎหมาย รัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายลูกที่จำเป็นต้องออกให้ทันเวลา โดยแต่ละฝ่ายต้องตั้งโจทย์ว่า อะไรคือความเดือดร้อนของประชาชน และจัดลำดับความเร่งด่วน เพื่อวัตถุประสงค์ให้ทันเวลาตามกรอบที่วางไว้ 1 ปี และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคตด้วย เรื่องใดที่สามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องใช้กฎหมายให้เสนอมายังรัฐบาล จะได้เร่งขับเคลื่อนทันที ส่วนเรื่องใดที่ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายก็ให้เสนอสนช. ออกให้ทันใน 1 ปี ส่วนเรื่องใดที่ทำไม่ทันให้ใส่เข้าไปในรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อส่งต่อการปฏิรูปให้รัฐบาลใหม่ ต้องแยกให้ชัดเจน เหมือนการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบันที่มีการแบ่งเป็นห้วงเวลา เพื่อให้มีผลสัมฤทธิ์จับต้องได้
"ปัญหาใดกฎหมายใดที่ออกไม่ได้ วันนี้อยากให้ออกให้ได้ เช่น ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประชาชน จะต้องออกมาเพื่อให้เกิดความชัดเจน ส่วนปัญหาใดกฎหมายใดซึ่งต้องใช้เวลา ในการหาข้อมูล ข้อสรุปมากๆ มีส่วนเกี่ยวข้องเยอะๆ มีส่วนได้ส่วนเสียมากๆ คงต้องใช้เวลาพิจารณานานหน่อย อาจจะต้องส่งต่อให้มีการปฏิรูปในรัฐบาลต่อไป เพราะเราไม่สามารถเอาหลายร้อยปัญหามาทำในระยะเวลาเดียวกัน ทันตามเวลาที่กำหนดได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายเสนอ ผมจึงให้แนวทางในการจัดปัญหาความเร่งด่วน" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า พอใจในการทำงานของแต่ละด้าน แต่ต้องเห็นใจสนช. ที่เดินหน้ากฎหมายที่อยู่ในกระบวนการกว่า 170 ฉบับ รวมถึงมีจำนวน 20 ฉบับ ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนอีกประมาณ 100 กว่ากฎหมาย อยู่ที่แต่ละกระทรวงกำลังดำเนินการส่งเรื่องให้ครม. ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาทุกขั้นตอน เราคิดถึงทุกประเด็น ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าจะออกอะไรก็ออก ต้องทำให้ทุกคนมีความพึงพอใจ ประเด็นสำคัญของกฎหมายเหล่านี้ บางกฎหมาย ก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ ดูแลซึ่งกันและกัน เผื่อแพร่แบ่งปัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปฎิรูป โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยสั่งการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
"ผมเคยได้อ่านบทความของอาจารย์คณิต ณ นคร ในการใช้กฎหมายแก้ปัญหาทางการเมืองว่า เป็นเรื่องอันตรายต้องระมัดระวัง ก็อยากให้ทุกคนได้ศึกษาบทความของอาจารย์คณิต เพื่อไม่ให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น จะได้รู้ว่าประชาชน ต้องทำอย่างไร รัฐบาลต้องทำอย่างไร แต่ยอมรับว่า ไม่สามารถสร้างความพอใจให้ทุกฝ่ายได้อยู่แล้ว แต่อยากให้เอาประโยชน์ชาติเป็นหลักในการขับเคลื่อนประเทศแม้จะยังมีความคิดเห็นต่างกันอยู่ก็ตาม อยากให้ยึดหลักของในหลวงที่ให้ทุกคนมีเหตุผล มีสติ และระมัดระวัง ขอให้ ให้เกียรติกันบ้างในการแก้ปัญหา เพราะปัญหามีความซับซ้อนบางปัญหาก็ไม่ได้แก้ พอจะแก้ก็บอกว่ามันเหมือนเดิม แล้วแบบนี้จะมีกำลังใจไปทำไหม"นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า ไม่มีการแสวงหาผลประโยชน์หรือสืบทอดอำนาจ ส่วนการทำประชามติขอให้รอดูสถานการณ์ ซึ่งหากทุกคนร่วมมือกันก็ไม่น่าจะมีปัญหา
ภาพ @duangtip_TPBS