posttoday

ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ในปี ’58

21 ธันวาคม 2557

ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างเป็นอันดับ 2 รองจากดาวศุกร์ มีขนาดใหญ่และมวลสูงที่สุด

ดาวพฤหัสบดี

ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างเป็นอันดับ 2 รองจากดาวศุกร์ มีขนาดใหญ่และมวลสูงที่สุด การหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วทำให้ดาวพฤหัสบดีมีรูปร่างเป็นทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวศูนย์สูตรยาวกว่าในแนวขั้ว สามารถใช้กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์สังเกตดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีได้อย่างน้อย 4 ดวง

ดาวพฤหัสบดีโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 11.86 ปี ดาวพฤหัสบดีจึงขยับเข้าสู่กลุ่มดาวจักรราศีกลุ่มที่อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกปีละกลุ่มโดยประมาณ การหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วของดาวพฤหัสบดีทำให้เมฆในบรรยากาศมีลักษณะเป็นริ้วสว่างกับคล้ำสลับกัน ริ้วสว่างเป็นส่วนที่อยู่สูง ริ้วที่คล้ำกว่าเป็นส่วนที่อยู่ลึกลงไป เมฆสีขาวอยู่สูงที่สุด ประกอบด้วยผลึกแอมโมเนีย ต่ำลงไปเห็นเป็นสีน้ำตาลอ่อนกับน้ำตาลเข้ม ส่วนที่เห็นเป็นสีน้ำเงินและม่วงน่าจะเป็นบริเวณที่อยู่ลึกที่สุด

จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) ที่เป็นเอกลักษณ์ของดาวพฤหัสบดีคือพายุขนาดยักษ์ พัดวนทวนเข็มนาฬิกา มีทรงรี ขนาดใหญ่กว่าโลก ตำแหน่งของจุดแดงใหญ่อยู่บริเวณละติจูด 22 องศาใต้ นอกจากจุดแดงใหญ่ ยังมีโอกาสเห็นพายุขนาดเล็กที่เรียกว่าจุดขาวและจุดมืด

ต้นปี 2558 ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต จากนั้นเคลื่อนถอยหลังเข้าสู่กลุ่มดาวปู วันที่ 7 ก.พ. 2558 ดาวพฤหัสบดีผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ สว่างที่สุดในรอบปี หลังจากนั้นจะเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำของทุกวันไปจนถึงเดือน ส.ค.

ต้นเดือน พ.ค. ดาวพฤหัสบดีทำมุม 90 องศากับดวงอาทิตย์ จึงเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่เหนือศีรษะขณะดวงอาทิตย์ตก และตกลับขอบฟ้าราวเที่ยงคืน ต้นเดือน มิ.ย. ดาวพฤหัสบดีเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต ปลายเดือน มิ.ย.ถึงต้นเดือน ก.ค. ดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงคู่ดาวศุกร์

ต้นเดือน ส.ค. ดาวพฤหัสบดีเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนปรากฏอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ ขณะนั้นดาวพุธจะผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีและมีดาวหัวใจสิงห์ในกลุ่มดาวสิงโตอยู่ใกล้ๆ ดาวพฤหัสบดีหายไปในแสงจ้าของดวงอาทิตย์โดยอยู่ในทิศทางเดียวกันในปลายเดือน ส.ค.

กลางเดือน ก.ย. หากท้องฟ้าเปิดอาจเริ่มเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ดาวพฤหัสบดีเคลื่อนห่างดวงอาทิตย์มากขึ้น ผ่านใกล้ดาวอังคารในวันที่ 18 ต.ค. และใกล้ดาวศุกร์ในวันที่ 26 ต.ค. ดาวพฤหัสบดีอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดต่อไปจนถึงต้นปี 2559 โดยทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ และเข้าใกล้กลุ่มดาวหญิงสาวมากขึ้น กลางเดือน ธ.ค. ดาวพฤหัสบดีทำมุมฉากกับดวงอาทิตย์ ขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาประมาณเที่ยงคืน แล้วอยู่เหนือศีรษะในเวลาเช้ามืด

ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ในปี ’58

 

ดาวเสาร์

ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในระบบสุริยะ มีรูปร่างเป็นทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวขั้วสั้นกว่าในแนวศูนย์สูตรราวร้อยละ 10 บรรยากาศของดาวเสาร์ถูกแบ่งเป็นแถบและเขตต่างๆ แบบเดียวกับดาวพฤหัสบดี บางครั้งเกิดแถบเมฆขนาดใหญ่สีขาวขึ้นในบรรยากาศ

ดาวเสาร์มีวงแหวนสว่างล้อมรอบอยู่ในแนวระนาบศูนย์สูตร เมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก สามารถแบ่งวงแหวนดาวเสาร์ออกได้เป็น 3 วง ได้แก่ วงแหวนเอ (A), บี (B), และซี (C) เรียงลำดับจากวงนอกถึงวงในสุด เมื่อสังเกตจากโลก ขอบวงแหวนจะหันเข้าหาโลกทุกๆ 15-16 ปี ครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2552 ปัจจุบันดาวเสาร์กำลังหันขั้วเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ วงแหวนดาวเสาร์จึงมีแนวโน้มขยายกว้างขึ้นในแนวเหนือ-ใต้ โดยจะกว้างที่สุดใน พ.ศ. 2560

ต้นปี 2558 ดาวเสาร์อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด โดยอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง ค่อนไปทางกลุ่มดาวแมงป่อง วันที่ 23 พ.ค. ดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เป็นช่วงที่สว่างและมีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ หลังจากนั้นจะเริ่มเห็นดาวเสาร์บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ดาวเสาร์อยู่บนท้องฟ้าเวลานี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นเดือน พ.ค. โดยเข้าสู่กลุ่มดาวแมงป่องตั้งแต่กลางเดือน ต.ค.

กลางเดือน พ.ค. ดาวเสาร์เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถสังเกตได้ อยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 30 พ.ค. กลางเดือน ธ.ค. ดาวเสาร์ออกห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น น่าจะเริ่มเห็นได้บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู ซึ่งแม้ว่าไม่ได้นับเป็นกลุ่มดาวจักรราศีแบบดั้งเดิม แต่การแบ่งพื้นกลุ่มดาวบนท้องฟ้าในปัจจุบัน ทำให้มีส่วนหนึ่งยื่นมาอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถี (ทางเดินของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า) ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู ดวงจันทร์และดาวเคราะห์มีระนาบวงโคจรใกล้เคียงกับแนวสุริยวิถี เราจึงมีโอกาสเห็นดวงจันทร์และดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวคนแบกงูด้วย

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (21–28 ธ.ค.)

ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำมีดาวศุกร์และดาวอังคารอยู่ทางทิศตะวันตก ดาวศุกร์ห่างดวงอาทิตย์มากพอที่จะสังเกตเห็นได้ แต่ยังอยู่ใกล้ขอบฟ้า อาจต้องใช้กล้องสองตาช่วยส่องหา เมื่อใกล้สิ้นปีดาวศุกร์จะเคลื่อนห่างดวงอาทิตย์wมากกว่านี้ ซึ่งจะทำให้สังเกตได้ง่ายขึ้น

ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล อยู่สูงเหนือขอบฟ้าให้เห็นได้ง่ายกว่าดาวศุกร์ แต่มีความสว่างน้อยกว่าดาวศุกร์มาก เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดดาวอังคารอยู่สูงเกือบ 30 องศา ดาวอังคารจะเคลื่อนต่ำลงเรื่อยๆ จนตกลับขอบฟ้าในเวลา 3 ทุ่ม

ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต เริ่มเห็นเหนือขอบฟ้าก่อน 4 ทุ่มเล็กน้อย และอยู่บนท้องฟ้าไปจนถึงเช้ามืด โดยค่อยๆ เคลื่อนสูงขึ้น ผ่านเหนือศีรษะในเวลาตี 4 แล้วเคลื่อนต่ำลงเมื่อใกล้เช้า แต่ก็ยังเห็นอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศตะวันตก

ท้องฟ้าเวลาเช้ามืดมองเห็นดาวเสาร์อยู่ทางทิศตะวันออก เยื้องไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ดาวเสาร์ยังอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง ซึ่งกลุ่มดาวนี้ไม่มีดาวสว่างให้สังเกตได้ง่ายนัก ตาเปล่าจะสังเกตได้ว่าดาวเสาร์อยู่ใกล้ส่วนหัวของกลุ่มดาวแมงป่อง ซึ่งมีดาวสว่างกว่าหลายดวงเรียงกันเป็นรูปแมงป่อง เมื่อใกล้ฟ้าสาง กลุ่มดาวแมงป่องขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าเฉพาะส่วนหัวและกลางลำตัว มองเห็นดาวแอนทาเรสหรือดาวปาริชาตเป็นดาวสว่างสีแดงในกลุ่มดาวนี้

จันทร์ดับในวันที่ 22 ธ.ค. ซึ่งตรงกับวันเหมายัน ดวงอาทิตย์อยู่ค่อนไปทางทิศใต้มากที่สุดในรอบปี ทำให้ซีกโลกเหนือเป็นฤดูหนาว ขณะที่ซีกโลกใต้เป็นฤดูร้อน วันที่ 23 ธ.ค. ดวงจันทร์เริ่มปรากฏเป็นเสี้ยวในเวลาหัวค่ำ จากนั้นดวงจันทร์จะเคลื่อนสูงขึ้นทุกวัน มองเห็นอยู่ทางขวามือของดาวอังคารในวันที่ 25 ธ.ค.ที่ระยะ 6 องศา