โนวาในกลุ่มดาวคนยิงธนู
โนวาหรือนวดารา (nova) มาจากคำเต็มในภาษาละตินว่า “stella nova” แปลว่าดาวดวงใหม่
โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด
โนวาหรือนวดารา (nova) มาจากคำเต็มในภาษาละตินว่า “stella nova” แปลว่าดาวดวงใหม่ หมายถึงดาวที่ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้าตรงตำแหน่งที่ไม่เคยมีดาวสว่างปรากฏอยู่ตรงนั้นมาก่อน วันที่ 15 มี.ค. 2558 จอห์น ซีช นักล่าโนวาในออสเตรเลีย ค้นพบโนวาในกลุ่มดาวคนยิงธนู โดยอาศัยการเปรียบเทียบภาพถ่ายท้องฟ้าบริเวณเดียวกันที่ถ่ายไว้ในวันที่ 14 และ 15 มี.ค.
โนวาเกิดขึ้นในระบบดาวคู่ ซึ่งเป็นดาวสองดวงโคจรรอบกันและกัน ดาวดวงหนึ่งเป็นดาวแคระขาว มีขนาดเล็ก ความหนาแน่นสูง ดาวอีกดวงหนึ่งเป็นดาวฤกษ์มวลต่ำ มีขนาดใหญ่ บางกรณีเป็นดาวยักษ์แดง ดาวทั้งสองอยู่ใกล้กันมาก แรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อกันทำให้ไฮโดรเจนจากดาวที่เป็นคู่ไหลไปวนรอบดาวแคระขาว เมื่อไฮโดรเจนสะสมกันมากขึ้น ก่อให้เกิดความร้อนสูง จุดปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่ผิวของดาวแคระขาว ทำให้ระบบดาวนั้นปะทุความสว่างขึ้นจากเดิมหลายเท่า
นักดาราศาสตร์ระบุความสว่างของดาวฤกษ์ รวมไปถึงวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ ด้วยโชติมาตร หรืออันดับความสว่าง ตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งสว่าง ดาวศุกร์ที่เราเห็นบนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำขณะนี้มีโชติมาตร -4 ดาวพฤหัสบดีที่อยู่ทางทิศตะวันออกในเวลาเดียวกัน ณ ขณะนี้ มีโชติมาตร -2.4 ดาวจางที่สุดที่ตาเปล่าของเราจะมองเห็นได้ภายใต้ท้องฟ้ามืด ไม่มีแสงรบกวน มีโชติมาตร 6.5 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลรายงานการค้นพบและเรียกชื่อโนวาดวงที่ค้นพบล่าสุดนี้ว่า โนวาคนยิงธนู 2015 หมายเลข 2 (Nova Sagittarii 2015 No.2) มีความสว่างขณะค้นพบที่โชติมาตร 6 จากนั้นสว่างขึ้นมาที่โชติมาตร 5
โนวาเป็นวัตถุท้องฟ้าชนิดหนึ่งในบรรดาวัตถุท้องฟ้าไม่กี่ชนิดที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นสามารถค้นพบได้ ไม่ว่าจะโดยการสังเกตด้วยตาเปล่า ส่องดูด้วยกล้องสองตา กล้องโทรทรรศน์ หรือโดยการถ่ายภาพ นักดาราศาสตร์สมัครเล่นหลายคนอุทิศเวลาส่วนหนึ่งของตนในแต่ละวันออกตามล่าโนวา เพื่อที่จะได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นคนแรกที่เป็นผู้ค้นพบ ขณะเดียวกันก็เป็นการแจ้งเตือนนักดาราศาสตร์จากทั่วโลกได้ร่วมกันศึกษาโนวาที่ค้นพบใหม่ การตามล่าโนวาบนท้องฟ้านับว่ายากกว่าการตามล่าดาวหาง เพราะดาวหางจะมีลักษณะปรากฏเป็นดวงฝ้า แตกต่างจากดาวฤกษ์ที่เป็นจุด ทำให้สามารถแยกแยะได้ง่ายกว่า และดาวหางสามารถปรากฏขึ้นในบริเวณใดของท้องฟ้าก็ได้ ส่วนโนวาจะมีลักษณะเป็นจุดเหมือนดาวทั่วไป ส่วนใหญ่ปรากฏเฉพาะบริเวณแนวของทางช้างเผือก ซึ่งมีดาวฤกษ์อยู่หนาแน่น นักล่าโนวาที่ใช้กล้องสองตาในการตามล่า จะต้องจดจำรูปแบบการเรียงตัวและความสว่างของดาวในกลุ่มดาวต่างๆ ได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ จึงจะสามารถสังเกตได้ว่ามีดาวดวงใหม่ปรากฏขึ้น บางคนมุ่งค้นหาเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่ง หรือจำกัดขอบเขตของการค้นหาให้แคบลง เพื่อให้ตนคุ้นเคยกับท้องฟ้าบริเวณนั้น
นักล่าโนวาอีกส่วนหนึ่งไม่จำเป็นต้องจดจำรูปแบบของดาวบนท้องฟ้าก็ได้ แต่อาศัยการถ่ายภาพเข้ามาช่วย โดยใช้กล้องถ่ายภาพท้องฟ้าทุกคืน โดยเฉพาะกลุ่มดาวที่อยู่ตามแนวทางช้างเผือก แล้วนำภาพถ่ายของแต่ละคืนมาเปรียบเทียบกันโดยอาศัยเทคนิคการสลับภาพไปมา เพื่อหาดาวดวงที่ไม่ปรากฏในภาพที่ถ่ายไว้ในคืนก่อนหน้า แล้วตรวจสอบอีกครั้งจากแผนที่ดาวช่วง ค.ศ. 2001-2010 นักดาราศาสตร์ค้นพบโนวาในดาราจักรทางช้างเผือกเฉลี่ยประมาณ 7 ดวง/ปี แต่เชื่อว่าความจริงมีมากกว่านั้นหลายเท่า โดยคาดว่าโนวาส่วนใหญ่ถูกสสารระหว่างดาวหรือฝุ่นมืดที่อยู่ในแนวทางช้างเผือกบดบัง การเปลี่ยนแปลงความสว่างของโนวาแต่ละดวงมีจุดที่สว่างที่สุดและเวลาที่ใช้ในการลดความสว่างลงในรูปแบบคล้ายคลึงกัน จึงเป็นวัตถุท้องฟ้าหนึ่งที่นักดาราศาสตร์นำมาใช้คาดคะเนระยะห่างของระบบดาวนั้นได้ข้อมูล ณ วันที่ 20 มี.ค. โนวาที่ค้นพบล่าสุดในกลุ่มดาวคนยิงธนูนี้ยังคงมีแนวโน้มสว่างขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่ทราบว่าจะถึงจุดสูงสุดเมื่อใด ล่าสุดมีรายงานว่าสว่างถึงโชติมาตร 4.6 แสดงว่าโนวานี้สว่างพอจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าสำหรับคนที่อยู่ชานเมืองหรือห่างไกลจากตัวเมือง เมื่อสังเกตจากประเทศไทย โนวาดวงนี้จะขึ้นมาเหนือขอบฟ้าก่อนตี 2 เล็กน้อย และจะปรากฏอยู่บนท้องฟ้าให้เห็นได้ไปจนถึงเช้ามืด (ดูแผนที่ดาวประกอบ)
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (22-29 มี.ค.)
ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำมีดาวเคราะห์สว่างสามดวง ดาวศุกร์และดาวอังคารอยู่ทางทิศตะวันตก ดาวพฤหัสบดีอยู่ทางทิศตะวันออก ดาวศุกร์สว่างที่สุด สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกขณะที่ท้องฟ้ายังไม่มืดดีนัก ดาวอังคารจางกว่าและอยู่ต่ำกว่าดาวศุกร์ เริ่มสังเกตดาวอังคารได้ยากขึ้นเนื่องจากอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่มาก ดาวอังคารจะตกลับขอบฟ้าไปก่อนตั้งแต่ราว 2 ทุ่ม ส่วนดาวศุกร์สังเกตได้จนกระทั่งตกลับขอบฟ้าเกือบ 3ทุ่ม ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวปู เริ่มเห็นขณะอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศตะวันออก ดาวพฤหัสบดีผ่านเหนือศีรษะในขณะที่ดาวศุกร์ตกลับขอบฟ้า สังเกตดาวพฤหัสบดีได้ต่อไปจนตกลับขอบฟ้าราวตี 3 ครึ่ง ดาวเสาร์อยู่ตรงส่วนหัวของกลุ่มดาวแมงป่อง ขึ้นเหนือขอบฟ้าให้เห็นได้ตั้งแต่ 5 ทุ่ม จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นจนไปอยู่สูงทางทิศใต้ในเวลาตี 4 ครึ่ง สัปดาห์นี้เป็นข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำของทุกวัน วันที่ 22 มี.ค. จันทร์เสี้ยวอยู่เกือบตรงกลางระหว่างดาวศุกร์กับดาวอังคาร ห่างดาวเคราะห์ทั้งสองใกล้เคียงกันที่ระยะ 7 องศา วันที่ 25 มี.ค. จันทร์เสี้ยวเคลื่อนไปอยู่ใกล้ดาวอัลเดาบารันหรือดาวตาวัวในกลุ่มดาววัวที่ระยะ 2 องศา จากนั้นดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในวันที่ 27 มี.ค. 2558