posttoday

"มนุษย์กล้อง-นักถ่ายประจาน"... ระวังติดคุกไม่รู้ตัว

19 เมษายน 2558

พฤติกรรมแอบถ่ายรูปคนอื่นแล้วแชร์ลงโซเชียล นอกจากละเมิดสิทธิส่วนบุคคลยังเข้าข่ายผิดกฎหมายด้วย

โดย...จักรวาล ส่าเหล่ทู

การถ่ายรูปและการแชร์ของ “มนุษย์กล้อง” หลายครั้งสะท้อนภาพที่น่าอยู่ของสังคม เช่น การนำเสนอภาพของพลเมืองดีช่วยเหลือผู้คน หรือเหตุการณ์ที่ดี-น่าชื่นใจในบ้านเมือง แต่ก็มีหลากหลายครั้งที่การถ่ายภาพ-แชร์ภาพ ไปกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น รวมถึงสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้บุคคลนั้นๆ

ผลกระทบที่รุนแรงจากพฤติกรรมดังกล่าว บางครั้งก็ทำให้บุคคลที่ถูกถ่ายภาพแทบไม่เหลือที่ยืนในสังคม อย่างกรณีที่การแชร์เรื่องผู้ชายกับรองเท้ามีรู แรกเริ่มว่ากันว่าชายคนนี้ซ่อนกล้องแอบถ่ายในรองเท้า กระทั่งคนในสังคมออนไลน์พากันต่อว่าด่าทอด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ทั้งที่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

กรณีล่าสุดมีการแชร์ภาพคู่รักข้ามชาติเพศที่สาม จนเกิดกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรง หนักไปถึงขั้นเหยียดชาติพันธุ์ ย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บางคนร้ายถึงขั้นเทียบเคียงบุคคลในภาพโดยเปรียบเปรยกับสัตว์ แน่นอนว่าความเสียหายเกิดขึ้นกับบุคคลในภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามคือ ... บุคคลในภาพเหล่านั้นมีความผิดอะไร ?

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ พฤติกรรม “มนุษย์กล้อง” กำลังสร้างปัญหา ตอกลิ่มความขัดแย้ง-ความกลียดชัง ในสังคมและในพื้นที่สาธารณะใช่หรือไม่

“กล้อง” คืออำนาจที่มีอยู่ในมือ

“พฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องของมารยาททางสังคม การถ่ายภาพคู่รักเพศที่สามในกรณีล่าสุดถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควร ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไร บุคคลที่สามก็ไม่มีสิทธิถ่ายรูปคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต” ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ระบุ

นั่นเพราะ พฤติกรรมเช่นนี้เข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างชัดเจน

สำหรับสาเหตุของพฤติกรรม “มนุษย์กล้อง” เนื่องมาจากคนในสังคมกำลังเห่อกับเทคโนโลยีและรู้สึกว่ามีอำนาจในมือ สามารถถ่ายเพื่อนำมาประจาน-แฉ หรือทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์อย่างไรก็ได้ ที่สำคัญคือบุคคลที่ถูกถ่ายไม่ได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใด

อีกหนึ่งสาเหตุก็คือ คนไทยยังคงมีความเข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจแนวคิดในเรื่องของพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัว

ธาม ยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรปว่า การถ่ายรูปผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ แม้ว่าจะไม่มีเจตนาด้านลบ เช่น การถ่ายรูปเด็กน่ารัก และถ้าหากเจ้าตัวรู้ว่ากำลังถูกแอบถ่าย เขาสามารถขอร้องเจ้าของกล้องให้ลบรูปของตนเองในกล้องนั้นได้ทันที

นั่นเพราะ บ้านเมืองเขามีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องของการโพสรูปที่เกี่ยวข้องกับบุคคล และมีการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น ซึ่งในไทยเองยังไม่ได้มีกฎหมายนี้เป็นเรื่องเป็นราว

“การคนไทยส่วนใหญ่คิดว่ากล้องเป็นของตัวเองแล้วสามารถถ่ายอะไรก็ได้นั้น จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ผิดมาก เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และถ้าหากโพสต์ลงในโลกออนไลน์ก็เป็นความผิดละเมิดซ้ำอีกครั้ง และถ้ามีข้อความเชิงดูถูกศักดิ์ศรี ทำให้เสียหาย หรือเหยียดชาติพันธุ์ ผู้โพสต์ก็เข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาทได้เช่นกัน” นักวิชาการรายนี้ระบุ

\"มนุษย์กล้อง-นักถ่ายประจาน\"... ระวังติดคุกไม่รู้ตัว

ประณาม “พฤติกรรม” อย่าประณาม “ตัวบุคคล”

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ต้องเริ่มจาก “เพจ” ที่สนับสนุนมนุษย์กล้องก่อน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น อยากจะนำเสนอเรื่องราวของคู่รักที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมพลอดรักกันในที่สาธารณะ คุณอาจจะถ่ายรูปและนำเสนอได้ แต่ต้องทำภาพเบลออัตลักษณ์ของบุคคลและไม่โพสข้อความเชิงดูหมิ่น หรือเป็นการวิจารณ์แบบเหมารวมประกอบเช่น เกย์ กระเทย คนจน เพราะสิ่งที่คุณกำลังจะสื่อคือการประณามคือพฤติกรรม ไม่ใช่ตัวบุคคล

“ก่อนที่คุณจะยกกล้องถ่ายรูปใครก็ตาม ต้องถามดีๆ ว่าคุณกำลังใช้ใจตัดสินอะไร ตัดสินความผิดของเขาหรือต้องการวิจารณ์ ซึ่งจริงๆ แล้วคุณอาจจะเก็บภาพไว้เป็นหลักฐาน โดยที่คุณอาจจะไม่รู้ข้อเท็จจริงว่ามีความเป็นมาอย่างไร” อาจารย์ธาม ระบุ

ธามบอกว่า มีความเป็นไปได้ที่พฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการบังคับใช้กฎหมายมีความอ่อนแอ แต่คงไม่ใช่เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องของค่านิยมและจิตสำนึกด้วย

“ถึงแม้ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจัง พฤติกรรมเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ เพียงแต่การแชร์ภาพถ่ายอาจะถูกจำกัดวงแคบลง ถูกส่งผ่านช่องแชทส่วนตัว ซึ่งก็ยังก่อความเสียหายให้บุคคลในภาพอยู่ดี”

สอดคล้องกับ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ที่ให้ความเห็นต่อการบังคบใช้กฎหมายที่อ่อนแอว่า การบังคับใช้กฎหมายก็ยังคงจำเป็น แต่ว่าการมีจิตสำนึก ไม่อคติ ไม่ด่วนตัดสิน ไม่ถ่ายภาพโดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

"อย่างในกรณีวัยรุ่นไทยกลุ่มหนึ่งเต้นบนรถไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น แล้วไปถ่ายติดหน้าคนอื่นในขณะที่เขากำลังแสดงสีหน้าไม่พอใจ เรื่องนี้ก็เป็นที่วิจารณ์กันมาก เพราะว่าวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมองว่าการถ่ายภาพบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเรื่องที่ผิด แต่ในไทยเองกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น กลับมองว่าไม่ผิดและไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายแต่อย่างใด ความแตกต่างทางวัฒนธรรมจึงอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสละเมิดสิทธิส่วนบุคคลสูง ดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหานี้จะต้องมีการเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคม บางคนอาจจะคิดว่าเรื่องการเคารพสิทธิส่วนบุคคลเป็นค่านิยมเมืองนอก แต่หากจะคิดแบบไทยๆ แล้ว ก็อยากให้คิดแบบใจเขาใจเรา ที่ต้องการให้ผู้ถ่ายภาพคิดไตร่ตรองว่าถ้ามีคนทำแบบนี้กับเรา เราจะรู้สึกอย่างไร วิธีการคิดแบบนี้จะส่งผลดีต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมแบบส่วนรวม และวิธีคิดดังกล่าวไม่เพียงแต่ใช้กับกรณีมนุษย์กล้องเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับกรณีอื่นๆ อีกด้วย"

ถ่ายเพลิน-โพสต์เพลิน คุก 5 ปี ปรับ 1 แสน

เจษฎ์ โทณวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิพากษ์ว่า ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเอาผิดกรณีการแอบถ่ายภาพ หรือว่านำเอาภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตไปลงเผยแพร่ในโลกออนไลน์ แต่ในมุมของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้มีการกำหนดไว้ว่าการเอาชื่อบุคคล หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบุคคลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตถือว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

ส่วนในเรื่องความผิดทางแพ่งได้กำหนดว่า หากมีการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้ผู้อื่นเสียหายถึงชื่อเสียหรือเกียรติยศร่างกายทรัพย์สิน ถือว่าเป็นความผิดซึ่งระบุไว้ใน มาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะฉะนั้นการเอารูปของบุคคลมาลงก็เข้าข่ายความผิด เพราะทำให้คนในภาพเกิดความเสียหาย โดยผู้กระทำจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายเป็นการชดเชย

นอกจากนี้ หากว่าตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม มาตรา 326 ที่ระบุถึงการทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นถูกกระทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท  และมาตรา 328 ที่ว่าด้วยความผิดหมิ่นประมาทด้วยการเผยแพร่ภาพถ่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท โดยโทษทั้งสองมาตราอาจจะมีกรณีทั้งจำทั้งปรับก็ได้

อย่างไรก็ดี การเอาผิดทางอาญาต้องมีการแจ้งความ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องมีการระบุผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่โดนแจ้งข้อกล่าวหาจะเป็นผู้ดูแลเพจหรือเว็บไซต์ที่นำเสนอเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวก็อาจจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในมาตรา 14 ที่ระบุความผิดในฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จสร้างความเสียหายให้กับประชาชน รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลเท็จนั้นด้วย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“เมื่อดูในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ในมาตราที่ 4 ได้ให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเป็นส่วนตัว เพราะฉะนั้นการที่คู่รักจะนั่งจับมือถือแขนกับใครย่อมทำได้ ถ้าหากว่ามันไม่ได้เป็นการอนาจาร หรือถ้าหากมีการอนาจารจริง คุณก็ไม่สามารถตัดสินเขาได้ ต้องไปแจ้งความกับตำรรวจว่ามีการทำอนาจาร เพราะไม่ว่าคุณทำด้วยเจตนาอะไร ก็ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเขาแน่นอน” นักวิชาการด้านกฎหมายสรุปความไว้ชัด