posttoday

ไขปมคาใจ...ทำไมห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์

22 เมษายน 2558

เหตุใดถึงห้ามขึ้นสะพานข้ามแยก-ลงอุโมงค์? แล้วเราจะทำให้รถมอเตอร์ไซค์กับรถยนต์สามารถใช้ถนนร่วมกันได้หรือไม่?

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

หลังจากกระแสข่าวที่มีคนกลุ่มหนึ่งออกมารณรงค์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผ่อนผันอนุโลมให้รถมอเตอร์ไซค์ทุกชนิดสามารถขึ้นสะพานข้ามแยกและลงอุโมงค์ลอดได้ เช่นเดียวกับรถยนต์ โดยให้เหตุผลว่าพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่บังคับใช้อยู่นั้นไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ เพราะเหตุใดถึงห้ามขึ้นสะพานข้ามแยก-ลงอุโมงค์? แล้วเราจะทำให้รถมอเตอร์ไซค์กับรถยนต์สามารถใช้ถนนร่วมกันได้หรือไม่?

ขอเถอะครับ

ในหมู่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเฟซบุ๊ก ขอเถอะครับ และแฮชแท็ก ‪#‎ขอเถอะครับ

เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อไม่นานนี้ มีนักขับบิ๊กไบค์รายหนึ่งออกมาโพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามว่าเหตุใดวิศวกรไทยจึงไม่ออกแบบ"ถนน สะพาน และอุโมงค์ข้ามแยกแบบปลอดภัย"ให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถสองล้อ ทั้งที่จ่ายภาษีเหมือนกัน ทว่าในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่าห้ามไม่ให้รถมอเตอร์ไซค์ทุกชนิดขึ้นสะพานและลงอุโมงค์ ฝ่าฝืนถูกจับ-ปรับไม่มีละเว้น กระทู้ดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจและถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงอย่างกว้างขวาง

ล่าสุด โดม เผือกขจี วัย 39 สิงห์นักบิดและผู้ก่อตั้งเพจ ขอเถอะครับ ในฐานะแกนนำรณรงค์ให้มีการแก้ไขปรับปรุงพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เพิ่งตกเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อเขาลงทุนคุกเข่าอ้อนวอนเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรกลางสี่แยก เพื่อขอไม่ให้เขียนใบสั่งข้อหาขึ้นสะพาน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

"ผมขี่มอเตอร์ไซค์มา 25 ปี เรื่องสะพานข้ามแยกและลงอุโมงค์นั้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนเข้าใจนะว่ามันขึ้นไม่ได้ เพราะขนาดซีซีเครื่องยนต์มันน้อย ขี่ขึ้นไปแล้วเสียวสันหลังแน่ๆ แต่ระยะหลังรถมอเตอร์ไซค์มีขนาดเครื่องยนต์ 100 ซีซีขึ้นไป สามารถทำความเร็วได้เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งตรงกับความเร็วที่กฏหมายกำหนดไว้ว่ารถทุกชนิดที่ขึ้นสะพานหรือลงอุโมงค์ต้องทำความเร็วไม่เกิน 60 กม.ต่อชั่วโมง นั่นหมายความว่าถ้ากำหนดแบบนี้ มอเตอร์ไซค์ก็ต้องขึ้นสะพานหรือลงอุโมงค์ได้สิ แต่เหตุผลที่มอเตอร์ไซค์ขึ้นไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมายข้อหนึ่งในพรบ.จราจร พ.ศ.2522 ที่ระบุไว้ว่ารถจักรยานยนต์จะต้องขับชิดขอบทางด้านซ้าย ซึ่งพอเอาเข้าจริง ขอบทางด้านซ้ายมันชิดไม่ได้ มีทั้งฝาท่อระบายน้ำ รถเมล์ รถแท็กซี่จอดแช่กันเยอะแยะเต็มไปหมด เรื่องนี้ทุกคนรู้หมด

สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้คือ มอเตอร์ไซค์โดนจับทุกวัน ไม่ให้ขึ้นสะพาน ไม่ให้ลงอุโมงค์ เขาก็ต้องเลี้ยวซ้ายไปกลับรถ จากนั้นต้องตัดเลนเพื่อเข้ามาเลนซ้ายสุดอีก เพิ่มความเสี่ยงอันตรายในชีวิตและทรัพย์สินเข้าไปอีกถ้าเทียบกับการข้ามสะพานไปแค่ 15 วินาที"

หนุ่มบิ๊กไบค์รายนี้เสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน

"ตัวเลขคร่าวๆของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในพื้นที่กทม. ผมเชื่อว่ามีมากกว่าหนึ่งล้านคน แล้วท่านผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในบ้านเมืองจะไม่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งหนึ่งล้านคนนี่เลยเหรอครับ ถึงเวลาแล้วที่ควรปรับปรุงพรบ.จราจรทางบก ซึ่งเราใช้กันมาเกือบ 40 ปีแล้ว ถ้าเรามีความจริงใจและเต็มใจในการพัฒนา ผมว่าทุกอย่างปรับปรุงแก้ไขได้

ทุกวันนี้ คนขับรถมอเตอร์ไซค์ต้องโดนจับ ปรับไปไม่รู้วันละเท่าไหร่ สำหรับบางคนที่มีเงินเดือนไม่กี่พัน เช่น พนักงานขับรถส่งเอกสาร พนักงานส่งอาหาร โดนใบสั่งทีนึง 300-400บาทถือว่าเยอะมากนะครับเลยไม่แปลกใจที่เราเห็นคนขี่มอเตอร์ไซค์กลับรถตรงคอสะพานเพื่อหนีตำรวจ เพราะนั่นเท่ากับรายได้เขาทั้งวันนะครับ ผมขอเรียกร้องให้ตำรวจจราจรช่วยอนุโลมให้เราสามารถใช้สะพานและอุโมงค์ไปก่อน จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ถ้าไม่อนุโลมให้เราใช้เราจะต้องโดนใบสั่งอีกกี่แสนอีกกี่ล้านบาท อนุโลมเรื่องนี้แค่เรื่องเดียว ส่วนเรื่องอื่นไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน แต่งท่อ ผ่าไฟแดง วิ่งช่องทางด่วน จับไปเถอะ"

นี่คือเสียงสะท้อนของตัวแทนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯ

ไขปมคาใจ...ทำไมห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์ โดม เผือกขจี

ความปลอดภัยต้องมาก่อน

จากข้อมูลของกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ระบุว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสะพานข้ามแยกทั้งหมด 21 แห่ง ประกอบด้วย 1.สะพานกรุงเทพ 2.สะพานกรุงธน 3.สะพานเฉลิมหล้า 56 4.สะพานชมัยมรุเชฐ 5.สะพานผ่านพิภพลีลา 6.สะพานผ่านฟ้าลีลาศ 7.สะพานพระปกเกล้า 8.สะพานพระพุทธยอดฟ้า 9.สะพานพระราม 3 10.สะพานพระราม 6 11.สะพานพระราม 7 12.สะพานพระราม 8 13.สะพานพระราม 9 14.สะพานภูมิพล 15.สะพานมหาดไทยอุทิศสะพานมัฆวานรังสรรค์ 16.สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน 17.สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 18.สะพานเทวกรรมรังรักษ์ 19.สะพานเหล็ก 20.สะพานหัน และ21.สะพานอรไท

ขณะที่ อุโมงค์ลอดมี 10 แห่ง ประกอบด้วย 1.อุโมงค์ดินแดง 2.อุโมงค์บางพลัด 3.อุโมงค์ห้วยขวาง 4.อุโมงค์ท่าพระ 5.อุโมงค์สุทธิสาร 6.อุโมงค์หลักสี่ 7.อุโมงค์เชื่อมพหลโยธิน-ลาดปลาเค้า 8.อุโมงค์ถาวรธวัช 9.อุโมงค์กลับรถพัฒนาการ และ10.อุโมงค์แยกเกษตรฯ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) อธิบายว่า สะพานข้ามแยกถูกออกแบบมาเพื่อระบายรถในช่วงที่การจราจรติดขัด รถมอเตอร์ไซค์สามารถลัดเลาะซิกแซกจนไปอยู่ตำแหน่งด้านหน้าสุดได้ จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นสะพาน

"การห้ามไม่ให้รถมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานข้ามแยกเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย เนื่องจากความเร็วของรถยนต์ต่างจากรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์เวลาขับเร็วแล้วเกิดอุบัติเหตุจะมีระบบป้องกันที่ดีกว่า ทั้งเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ต่างจากรถมอเตอร์ไซค์ที่แทบไม่มีอะไรป้องกันเลย ยิ่งถ้าสะพานข้ามแยกยาวๆปล่อยให้รถมอเตอร์ไซค์วิ่งปนกับรถยนต์จะอันตรายมาก เพราะเวลาถนนโล่ง รถจะวิ่งเร็วมาก ยกตัวอย่างสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ทางยาวๆรถมาเร็วๆ ถ้าเกิดอุบัติเหตุขณะที่มีมอเตอร์ไซค์อยู่บนสะพาน โอกาสที่คนขี่มอเตอร์ไซค์จะบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตมีสูงมาก เช่นเดียวกับกรณีห้ามมอเตอร์ไซค์เข้าช่องทางด่วนและขึ้นบนทางด่วน เพราะไม่สามารถควบคุมความเร็วของรถได้เลย

ส่วนเรื่องอุโมงค์ลอด ตามหลักวิชาการด้านความปลอดภัยบนท้องถนนระบุว่า เวลากลางวันขณะที่เราขับรถ ม่านตาจะหรี่ลงเพื่อไม่ให้มีแสงเข้ามามากเกินไป พอลงอุโมงค์ ม่านตาจะต้องมีการปรับตัวขยายขึ้นทันที ทำให้สายตาของคนขับรถช่วงนั้นจะเบลอไปประมาณครึ่งวินาที ไม่สามารถโฟกัสวัตถุข้างหน้าได้ ประกอบกับมอเตอร์ไซค์เป็นวัตถุขนาดเล็กไม่เหมือนรถยนต์ที่มีวัตถุขนาดใหญ่ ทำให้มองเห็นไม่ชัด อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านความเร็วด้วย จะสังเกตได้ว่าก่อนลงอุโมงค์ ถนนจะถูกออกแบบให้รถไม่ชลอความเร็วลง เพราะไม่รู้ว่าข้างในอาจมีรถติดหรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหรือเปล่า

ไขปมคาใจ...ทำไมห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์

ควบคุมความเร็วได้=ใช้ร่วมกันได้

ถามว่า สามารถออกแบบสะพานข้ามแยกหรืออุโมงค์ลอดมาให้รถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ใช้งานร่วมกันได้ไหม?

คำตอบจาก ผศ.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่าเป็นไปได้ แต่ต้องกำหนดเกณฑ์การใช้อย่างเคร่งครัด โดยไม่จำเป็นต้องมีปรับปรุงสะพานใหม่ด้วยซ้ำ

"วิธีคือต้องกำหนดให้ใช้ความเร็วที่เหมาะสมในระดับเดียวกัน เช่น กำหนดความเร็วไว้ที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วดังกล่าวถือว่าปลอดภัยสำหรับมอเตอร์ไซค์หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น พูดง่ายๆว่าไม่ทำให้ถึงตาย นอกจากนี้ต้องให้มอเตอร์ไซค์วิ่งตรงกลางร่วมกันกับรถยนต์เลย ไม่ต้องชิดขอบทางด้านซ้ายเหมือนก่อน เท่ากับว่ารถยนต์ก็ต้องเคารพรถมอเตอร์ไซค์เสมือนว่าเป็นรถยนต์อีกคันหนึ่งด้วย ถ้าทำแบบนี้รถทุกประเภทก็สามารถใช้สะพานข้ามแยกร่วมกันได้ ถึงอย่างนั้น อาจใช้ได้แค่สะพานข้ามแยกในบางพื้นที่เท่านั้น ต้องวิเคราะห์เป็นกรณีไป เช่น พื้นที่นั้นมีความเป็นไปได้ที่รถยนต์สามารถลดความเร็วลงเหลือ 50 กม.ต่อชั่วโมง ยกตัวอย่างสะพานข้ามแยกม.เกษตร ถนนวิ่งยาวๆแบบนั้นยากที่จะไม่ลดความเร็วลงเหลือ 50 กม.ต่อชั่วโมง การที่มอเตอร์ไซค์เข้าไปปะปนก็อาจมีปัญหา แล้วถ้าขึ้่นบนสะพานแล้วตอนลงจะต้องเปลี่ยนช่องมาเลนซ้ายสุด ก็อาจเกิดอันตรายได้ถ้ารถยนต์ที่วิ่งมาด้านล่างมาด้วยความเร็วสูง 

ขณะที่เรื่องอุโมงค์ลอด มีข้อจำกัดด้านการมองเห็น เพราะเวลาลงอุโมงค์สายตาจะเบลอไปช่วงสั้นๆ รถมอเตอร์ไซค์ก็เล็กมาก อีกอย่างถ้าในอุโมงค์ระบบระบายน้ำไม่ดี ก็มีความเสี่ยงทำให้มอเตอร์ไซค์ลื่นล้ม  โดยสรุปแล้วไม่มีข้อห้ามใดที่ไม่ให้รถมอเตอร์ไซค์ใช้สะพานข้ามแยกและอุโมงค์ลอดร่วมกับรถยนต์ได้ ถ้าเราสามารถควบคุมความเร็วได้"เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบถนน