เทคโนเวิลด์
สถาบันวิจัยการขับเคลื่อนยนต์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ได้พัฒนา “โรบอทซิเมียน”
หุ่นยนต์กู้ภัยสไตล์วานร
สถาบันวิจัยการขับเคลื่อนยนต์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ได้พัฒนา “โรบอทซิเมียน” หุ่นยนต์กู้ภัย 4 ขา ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งแขนและขาและเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับการเดินและปีนป่ายของลิงไร้ขน ซึ่งด้วยคุณสมบัติพิเศษดังกล่าวทำให้หุ่นยนต์กู้ภัยตัวนี้สามารถเคลื่อนที่ในพื้นผิวที่แตกต่างกันบนซากปรักหักพัง รวมถึงการหยิบยกสิ่งของ และเคลื่อนที่ด้วยล้อเมื่ออยู่บนพื้นราบ แถมที่พิเศษยิ่งไปกว่านั้น โรบอทซิเมียนสามารถทำงานในสภาพแวดล้อมอันตรายโดยไม่ต้องมีมนุษย์คอยบังคับ เพราะใช้ซอฟต์แวร์เดียวกับหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคาร นอกจากนี้ด้วยกล้องที่ติดตั้งไว้ถึง 7 ตัว ทำให้หุ่นตัวนี้มองได้รอบทิศ กระนั้นเพราะการเคลื่อนไหวที่ยังช้าเกินไป ทำให้นาซาจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยซานตา บาร์บารา และสถาบันเทคโนโลยีคัลเทค เพื่อพัฒนาต่อไป
ตู้เย็นระบบแม่เหล็กเพื่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรง ส่งผลให้ระบบระบายความร้อนด้วยก๊าซหรือน้ำยาทำความเย็นของตู้เย็นที่ใช้มานานหลายทศวรรษ ซึ่งยังเป็นตัวการทำลายชั้นบรรยากาศโลกจนส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องล้าสมัยและผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านตู้เย็นทั่วโลกพัฒนาระบบตู้เย็นแบบใหม่ คือ ระบบแม่เหล็ก ที่ไม่เพียงแต่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าแล้ว ยังใช้ไฟฟ้าได้คุ้มค่ามากกว่าแบบเดิมถึง 30% โดยระบบดังกล่าวจะทำงานด้วยการใช้สนามแม่เหล็กสร้างความร้อน และเมื่อปลดสนามแม่เหล็กลง จะสามารถสร้างความเย็นขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม วัสดุบางอย่างยังคงหายากและมีราคาแพง ทำให้ตู้เย็นระบบแม่เหล็กนี้ยังต้องพัฒนาปรับปรุงกันต่อไป
ชิปตรวจจับโรคจากลมหายใจ
ท่ามกลางความพยายามของนักวิจัยที่พยายามคิดค้นเครื่องมือเพื่อใช้วิเคราะห์วินิจฉัยโรคร้าย เช่น มะเร็ง แอนดริว โคเอลฮ์ นักประดิษฐ์ไมโครชิป จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์ไมโครชิปที่สามารถตรวจสอบโรคจากลมหายใจได้ โดยเซ็นเซอร์ตรวจจับโรคจะวิเคราะห์หาสารอะไรก็ตามที่อยู่ในอากาศ และเมื่อใดที่ตรวจจับสารผิดปกติได้อย่างมีนัยสำคัญ เซ็นเซอร์ดังกล่าวจะส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ใช้ได้รับรู้ โดยระบบตรวจจับดังกล่าวดัดแปลงพัฒนาจากเซ็นเซอร์ที่ใช้เพื่อป้องกันเหตุร้ายอย่างเหตุการณ์ 911 ด้วยการตรวจสอบระเบิด สารเคมี หรือภัยคุกคามจากการก่อการร้ายอื่นๆ
ชาร์จไฟจากระยะไกลด้วยอัลตราซาวด์
เทคครันช์ เว็บไซต์ข่าวสารเทคโนโลยีสหรัฐ รายงานว่า ยูบีม บริษัทพัฒนาพลังงานไร้สาย สามารถพัฒนาระบบชาร์จไฟฟ้าจากระยะไกลได้แล้ว โดยอาศัยการทำงานของอัลตราโซนิกทรานสดิวเซอร์ หรือการเปลี่ยนพลังงานกลเป็นพลังงานอัลตราโซนิก (พลังงานเหนือเสียง) ที่ตัวส่งสัญญาณจะกระจายพลังงานไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าของบ้านหรืออาคารให้กลายเป็นพลังงานอัลตราโซนิกเข้าสู่ตัวรับ เช่น โทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ ข้อดีของยูบีมคือมีความปลอดภัยสูง เพราะอัลตราโซนิกเป็นพลังงานรูปแบบเดียวกับคลื่นอัลตราซาวด์ที่ใช้ตรวจทารกในครรภ์ แถมยังมีราคาเพียง 50 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,600 บาท) และสามารถกระจายพลังงานเข้าสู่ตัวรับที่อยู่ไกลราว 15 ฟุต (ราว 4.5 เมตร) ได้อีกด้วย