posttoday

สหายพระอาทิตย์

10 พฤษภาคม 2558

สมัยที่ผู้เขียนเรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน ผู้เขียนพบรายงานการเห็นดวงอาทิตย์ 2 ดวง

โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด

สมัยที่ผู้เขียนเรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน ผู้เขียนพบรายงานการเห็นดวงอาทิตย์ 2 ดวง ปรากฏบนท้องฟ้าประเทศไทย จากการอ่านหนังสือจดหมายเหตุโหรที่พบในห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัดบันทึกนี้มาจากประชุมพงศาวดารภาคที่ 8 ซึ่งรวบรวมจดหมายเหตุโหรจากสมัยอยุธยาและจดหมายเหตุโหรของจมื่นกงศิลป์ที่บันทึกไว้ในช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 นอกจากบันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ พายุใหญ่ รวมถึงแผ่นดินไหว ยังมีบันทึกการสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้าหลากหลาย ทั้งสุริยุปราคา จันทรุปราคา ดาวหาง ดาวตก ดวงจันทร์เข้าบังหรืออยู่ใกล้ดาวเคราะห์และดาวฤกษ์สว่าง เป็นต้น บันทึกปรากฏการณ์บนฟ้าแต่ละคราวไม่มีรายละเอียดมากนัก เพียงแต่บอกว่าวันใดเกิดเหตุการณ์ใดบ้าง แต่ก็พอจะมีประโยชน์ให้สืบค้นและตรวจสอบได้ว่าเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อะไรในวันต่างๆ ตัวอย่างเช่น “จ.ศ. 1136 ณ วันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 มีสุริยุปราคา ณ วันจันทร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 12 ดาวพระเสาร์เข้าวงพระจันทร์ ดาวอื่นขึ้นริมแง่เหนือ” เมื่อตรวจสอบข้อมูลทางดาราศาสตร์ก็จะพบว่าปีนั้น พ.ศ. 2317 (ค.ศ. 1774) มีสุริยุปราคาในช่วงเช้าของวันที่ 6 ก.ย. เป็นสุริยุปราคาวงแหวนผ่านบริเวณที่ปัจจุบันคือภาคเหนือของไทย ส่วนวันจันทร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 12 ตรงกับวันที่ 29 พ.ย. มีปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ เห็นได้จากบริเวณประเทศไทยในช่วงเวลาเช้ามืด ส่วนประโยคที่ว่าดาวอื่นขึ้นริมแง่เหนือ น่าจะหมายถึงดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวหญิงสาวที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์ในช่วงนั้น

บันทึกที่ผู้เขียนกล่าวถึงเกี่ยวกับดวงอาทิตย์มากกว่าหนึ่งดวง บรรยายว่า “ปีระกา จ.ศ. 1187 ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 10 เวลาเช้า เห็นพระอาทิตย์ 2 ดวง ตามกันไปจนเที่ยง แลเห็นพระอาทิตย์ทรงกลด 3 วง 4 วง” (วันนั้นตรงกับวันที่ 23 ก.ย. 2368) เมื่อสองทศวรรษก่อนนี้ อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย การค้นหาข้อมูลและความรู้จากแหล่งอื่นทำได้ยากกว่าปัจจุบันนี้หลายเท่า ทำให้ผู้เขียนเฝ้าสงสัยอยู่เป็นเวลานานหลายปีว่าปรากฏการณ์ที่โหรไทยในอดีตบันทึกไว้นี้คืออะไร จนกระทั่งได้อ่านจากนิตยสารดาราศาสตร์ของต่างประเทศ จึงสรุปได้ว่าน่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากแสงอาทิตย์สะท้อนและหักเหเมื่อตกกระทบผลึกน้ำแข็งรูปหกเหลี่ยมในบรรยากาศโลก ซึ่งทำหน้าที่เป็นปริซึม ทำนองเดียวกับปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดที่เชื่อว่าหลายคนที่ชอบมองท้องฟ้าน่าจะเคยมีโอกาสเห็นได้ด้วยตาของตัวเอง

การเกิดพระอาทิตย์ทรงกลดหรือวงแสง (halo) เราจะเห็นแสงเป็นวงกลมล้อมรอบดวงอาทิตย์ บริเวณประเทศไทยมักเห็นได้ชัดเจนที่สุดเมื่อดวงอาทิตย์อยู่สูงกลางฟ้าเหนือศีรษะ โดยวงกลมนี้มีรัศมี 22 องศา หากกางมือและยืดแขนออกไปให้สุด รัศมีของกลดจะมีความยาวใกล้เคียงกับระยะปรากฏระหว่างนิ้วโป้งถึงนิ้วก้อยของแต่ละคน ดวงจันทร์ก็สามารถเกิดกลดแบบเดียวกันได้บนท้องฟ้าเวลากลางคืน เราก็เรียกว่าพระจันทร์ทรงกลดการเกิดพระอาทิตย์ 3 ดวง หรืออาจเรียกว่าดวงอาทิตย์ลวงหรือสหายพระอาทิตย์ (mock Suns หรือ Sun dogs) เราจะเห็นแสงสว่างคล้ายมีดวงอาทิตย์อีกสองดวงขนาบอยู่ทั้งทางด้านซ้ายและขวาของดวงอาทิตย์จริง เรียงกันในแนวเกือบขนานกับขอบฟ้า (บางครั้งเห็นแค่ด้านเดียว) แต่มักมีความสว่างน้อยกว่าและอยู่ห่างดวงอาทิตย์จริงเป็นมุมประมาณ 22 องศา โดยแสงนั้นไม่เป็นทรงกลม มีลักษณะเป็นแถบสว่าง ภาพถ่ายบางครั้งจะเห็นว่าสหายพระอาทิตย์มีสีรุ้ง โดยด้านใกล้ดวงอาทิตย์มีสีแดง ด้านตรงข้ามมีสีน้ำเงินสาเหตุที่เรียกว่าสหายพระอาทิตย์เพราะมันจะเคลื่อนไปตามดวงอาทิตย์ ชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ของสหายพระอาทิตย์คือ parhelia (รูปพหูพจน์ของ parhelion) มักปรากฏให้เห็นได้ชัดที่สุดในช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ต่ำ และยิ่งจางลงเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนสูงขึ้น

นอกจากพระอาทิตย์ทรงกลดและสหายพระอาทิตย์ ผลึกน้ำแข็งรูปหกเหลี่ยมในบรรยากาศยังก่อให้เกิดวงแสงในบริเวณอื่นของท้องฟ้า โดยมีชื่อเรียกเฉพาะของแต่ละตำแหน่ง (ดู www.atoptics.co.uk) ปรากฏการณ์ที่เกิดจากแสงอาทิตย์สะท้อนและหักเหผ่านผลึกน้ำแข็งในบรรยากาศเช่นนี้ สามารถเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ทั่วโลก ไม่ได้เกิดทุกวันหรือไม่ได้เกิดตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในบรรยากาศโลกเหนือบริเวณที่ผู้สังเกตยืนอยู่ เกิดได้เมื่อดวงอาทิตย์ส่องผ่านเมฆระดับสูงอย่างเมฆซีร์รัส (cirrus) ที่เป็นเมฆสีขาวโปร่งแสง มีลักษณะเป็นปุยคล้ายขนนก หรือเมฆซีร์โรสเตรตัส (cirrostratus) ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นโปร่งแสงหรือฝ้าบางเรียบนอกจากบนโลกแล้ว ผลึกในบรรยากาศที่พบได้ในดาวเคราะห์ดวงอื่น ทั้งดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน รวมทั้งดาวบริวารบางดวงของดาวเคราะห์ ก็เชื่อว่าสามารถก่อให้เกิดปรากฏการณ์แบบเดียวกัน โดยดาวอังคารเกิดจากผลึกของคาร์บอน ไดออกไซด์และน้ำ ส่วนบนดาวเคราะห์แก๊สขนาดใหญ่เกิดจากผลึกของแอมโมเนียและมีเทนหลายครั้งที่พระอาทิตย์ทรงกลดถูกมองว่าเป็นปรากฏการณ์แปลกประหลาดมหัศจรรย์ หรือถูกโยงเข้ากับเหตุการณ์สำคัญ แต่ความจริงแล้วสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์