posttoday

'พิพัฒน์' ออกโรงการันตีจ่าย รพ.เอกชน ระบบประกันสังคมที่ 1.2 หมื่นบาทตลอดปี

11 ตุลาคม 2567

รมว.แรงงาน ออกโรงการันตีจ่าย รพ.เอกชนในระบบประกันสังคม 12,000 บาทตลอดปีก่อน วอนอย่าเปรียบเทียบกับตัวเลขของบัตรทอง เพราะกรณีเจ็บป่วยหนักจ่ายไม่อั้น ด้าน "บอร์ดแพทย์" นัดถกปมร้อน 17 ต.ค.นี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องนี้อยู่ระหว่างการหารือ โดยหลักการ คือ จะให้มาตรฐานเท่าเทียม คือ 12,000 บาทใช้ได้ทั้งปี ซึ่งตนได้เรียกทีมประกันสังคมมาคุยแล้วโดยทางคณะกรรมการการแพทย์ประกันสังคมนัดหมายประชุมในวันที่ 17 ต.ค.นี้ จะจัดสรรงบประมาณให้ได้ตามที่ตกลงกัน ไม่ใช่ว่า ตอนต้นปีได้รับการจัดสรรอยู่ที่ 12,000บาท แล้วปลายปีเหลือแค่ 8,000 บาท แบบนี้ตนไม่เห็นด้วย 

สำหรับข้อซักถามที่ว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชน มีข้อเรียกร้องให้มีการการันตีที่อัตรา 15,000 บาทนั้น โดยนายพิพัฒน์ กล่าวว่า ขอให้เป็นตัวเลข 12,000 บาทตลอดทั้งปีก่อน

"ขออย่านำไปเปรียบเทียบกับตัวเลขของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง เนื่องจากเวลาที่ผู้ประกันตนไปรักษาโรคร้ายแรงนั้น ทางประกันสังคมจ่ายให้ไม่อั้นอยู่แล้ว ไม่ได้หยุดแค่ 12,000 บาทเท่านั้น หากจำเป็นต้องใช้ 5 หมื่นบาท หรือหลักแสนบาท เช่น โรคมะเร็งก็ไม่ได้มีเพดานแต่ให้ตามที่ใช้จ่ายจริงซึ่งก็มีข้อแตกต่างกัน" นายพิพัฒน์ กล่าว 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.ท.ธนา ธุระเจน ประธานกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ลงนามในหนังสือคำสั่ง คณะกรรมการการแพทย์ ที่ 4/2567 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) ใจความระบุว่า

คณะกรรมการการแพทย์ในการประชุมครั้งที่ 10/2567 วันที่ 2 ต.ค.2567 โดยเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 แต่งตั้งอนุกรรมการ ทบทวนหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม จำนวน 29 คน มีนายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล เป็นประธานอนุกรรมการฯ กำหนดกรอบระยะเวลาทำงาน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2567

โดยก่อนหน้านี้ ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) พิจารณาปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงิน กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Group : DRG) มากกว่า 2 และปรับอัตราค่าบริการรายการในแต่ละหมวดให้สอดคล้องกับปัจจุบันเนื่องจากไม่ได้มีการปรับมากว่า 5 ปีแล้วซึ่งมีรายงานว่า มีโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 70 แห่งเตรียมถอนตัวออกจากประกันสังคมนั้น

กระทั่งสำนักงานประกันสังคมได้ตั้งอนุกรรมการ(เฉพาะกิจ) ขึ้นมา 1 ชุดจำนวน 29 คน เพื่อศึกษาวิเคราะห์และพิจารณาปรับค่ารักษาเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์ประกันสังคม กำหนดกรอบเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน.