posttoday

‘มีวนา’ ธุรกิจกาแฟเพื่อผืนป่า หนุนสร้างรายได้ยั่งยืนให้ชาวบ้าน

07 มิถุนายน 2558

หลายคนอาจมองว่าธุรกิจเพื่อสังคมเป็นเพียงคำสวยๆ ในอุดมคติ จับต้องยาก แต่ทุกวันนี้ธุรกิจหลายประเภท

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

หลายคนอาจมองว่าธุรกิจเพื่อสังคมเป็นเพียงคำสวยๆ ในอุดมคติ จับต้องยาก แต่ทุกวันนี้ธุรกิจหลายประเภทเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่คนทั่วไปมีส่วนสัมผัสได้ไม่ยาก หนึ่งในนั้นมีชื่อของ “มีวนา” โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า รวมอยู่ด้วย

ธีรสิทธิ์ อมรแสนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเนท เอสอี เปิดเผยว่า บริษัทเป็นกิจการเพื่อสังคมที่มูลนิธิสายใยแผ่นดินก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อบริหารจัดการโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ซึ่งหวังผลให้เกษตรกรในเขตป่าเขาหยุดตัดไม้ทำลายป่าเพียงเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจบางประเภทที่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ จนต้องไปแผ้วถางป่าหรือสร้างมลพิษเคมีปนเปื้อนให้กับพื้นที่ป่าต้นน้ำด้วยการใช้สารเคมีปลูกพืช

วิธีที่บริษัททำคือสนับสนุนเกษตรกรในเขตป่าเขาปลูกกาแฟอินทรีย์ ที่ให้ผลผลิตคุณภาพดี ส่วนบริษัทรับซื้อผลผลิตราคาสูงกว่าตลาดเล็กน้อยมาจำหน่าย สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร

ปีแรกที่บริษัทก่อตั้งมีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นสมาชิกปลูกกาแฟอินทรีย์กว่า 50 ครอบครัว จากหมู่บ้านขุนลาว ซึ่งเป็นหมู่บ้านนำร่อง จากนั้นก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันมี 325 ครอบครัวจาก 9 หมู่บ้านครอบคลุม 3 ป่าต้นน้ำ คือ ป่าต้นน้ำแม่ลาว ป่าต้นน้ำแม่สรวย และป่าต้นน้ำแม่กรณ์ จ.เชียงราย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้กว่า 400 ตัน คาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 400 ครอบครัว

กาแฟของบริษัทใช้ชื่อแบรนด์ “มีวนา” ช่องทางจำหน่ายกาแฟ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจำหน่ายให้ภาคธุรกิจ (บีทูบี) ในลักษณะผู้รับจ้างผลิตกาแฟพรีเมียมส่งให้กับร้านกาแฟเชนใหญ่ๆ ในตลาด และส่วนที่ 2 จำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป (บีทูซี) ผ่านทางสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ MiVana Coffee อินสตาแกรมชื่อ Mivana เว็บไซต์บริษัท www.greennetse.com รวมทั้งผ่านโมเดิร์นเทรด คือ เลมอนฟาร์ม ฟู้ดแลนด์ ร้านกรีนช็อป ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้าออร์แกนิกของบุคคลทั่วไป และร้านกาแฟอิสระต่างๆ ที่นำกาแฟไปใช้ชงในร้าน และนำกาแฟถุงไปวางจำหน่ายในร้าน

‘มีวนา’ ธุรกิจกาแฟเพื่อผืนป่า หนุนสร้างรายได้ยั่งยืนให้ชาวบ้าน ธีรสิทธิ์ อมรแสนสุข

 

ธีรสิทธิ์ กล่าวว่า รายได้ของบริษัท 3 ปีที่ผ่านมาเติบโตเกิน 100% ทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นธุรกิจ เกษตรกรเพิ่งเริ่มปลูกไม่นานเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่มากในช่วงแรก แต่ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นตามลำดับเวลา ทำให้ปริมาณที่ออกขายเพิ่มรวดเร็ว จากปีแรกมียอดขายรวมทั้งปีแค่หลักแสนบาท ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 10 ล้านบาท นโยบายของบริษัทก็คือ เมื่อมีกำไรแล้ว 40-50% ของกำไรทั้งหมดจะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์สังคมผ่านโครงการที่บริษัทจัดทำขึ้นเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขยายผลสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม อีก 10% บริจาคให้กับองค์กรสาธารณะอื่นๆ เพื่อไปทำประโยชน์เพื่อสังคม

ขณะที่ 20-30% นำมาจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นและเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนธุรกิจนี้ และกำไรส่วนที่เหลือจะนำมาใช้ต่อยอดธุรกิจของบริษัท โดยแผนการดำเนินงานสำคัญๆ ในปีนี้คือ การสร้างร้านกาแฟต้นแบบสำหรับจำหน่ายกาแฟมีวนาเอง คาดว่าจะใช้งบ 3-5 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาทำเลที่เหมาะสมอยู่ ซึ่งสาขาแรกจะอยู่ในกรุงเทพฯ หากเปิดแล้วก็จะเป็นตัวอย่างสำหรับผู้สนใจนำไปเปิดต่อไป เพราะอยากให้คนรุ่นใหม่ที่อยากทำกิจการสนับสนุนสังคมมีส่วนร่วมได้

ไม่เพียงเท่านี้ยังมีแผนนำเสนอบริษัทต่างๆ ที่สนใจมีส่วนช่วยสังคมให้จัดกิจกรรมมาดูโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่าที่หมู่บ้านที่ร่วมโครงการ พร้อมร่วมกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้หมู่บ้านที่ร่วมโครงการอีกทาง และจะเชิญชวนบริษัททั่วไปที่สนใจมาเป็นลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟมีวนาไปใช้ชงดื่มในบริษัทมากขึ้น

ที่ผ่านมา กาแฟมีวนาได้รางวัลหลากหลายการันตีคุณภาพกาแฟ ส่วนผลได้ให้ต่อสังคมคือเกิดมูลค่าการฟื้นฟูป่าจากพื้นที่การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ 7,000 ไร่ มูลค่า 1,050 ล้านบาท/ปี มูลค่าป่าที่ไม่ถูกบุกรุกทำลายเพิ่ม 600 ไร่/ปี มูลค่า 90 ล้านบาท/ปี ส่วนต่างขั้นต่ำที่เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มจากการขายผลกาแฟ 90 ล้านบาทใน 10 ปี

นอกจากนี้ ยังมีส่วนต่างขั้นต่ำรายได้จากการขายผลผลิตแปรรูปของกลุ่มเกษตรกร 90 ล้านบาทใน 10 ปี รายได้จากการจ้างงานกลุ่มเกษตรกรในชุมชน 60 ล้านบาทใน 10 ปี สุขภาพและความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค

สุดท้ายคือการลดลงของความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้าน ในประเด็นการบุกรุกทำลายป่า

เมื่อมีวนาเป็นธุรกิจที่สามารถเลี้ยงตัวและเติบโตได้ ประเทศไทยก็จะยังมีป่าสืบต่อไป