posttoday

เศรษฐศาสตร์ครูดอย "นิวัฒน์ ร้อยแก้ว" แนะโตจากฐานราก

02 สิงหาคม 2558

"การพัฒนาบ้านเรา แม้จะมีการเปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนมาหลายครั้ง แต่แนวคิดก็ยังเหมือนเดิมอยู่ เช่น การรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา และทุกๆ ครั้งเราก็จะเห็นว่ารัฐบาลทหารไม่เคยนำพาประเทศไปในทิศทางที่คิดไว้ได้เลย มันกลับสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีก"

โดย...พิเชษฐ์ ชูรักษ์, ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตลอดปีที่ผ่านมา ประจักษ์ชัดว่าไม่ได้ช่วยให้คนเล็กคนน้อยหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก เพราะมุ่งส่งเสริมแต่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ หวังได้ตัวเลขสวยหรูไว้ค้ำยันอำนาจรัฐบาล

“เชียงของ” หนึ่งในอำเภอของ จ.เชียงราย เมืองเล็กๆ สงบเงียบในอ้อมกอดของลำน้ำโขง จึงถูกเลือกเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” โดยเชื่อว่าการลงทุนใน “พื้นที่พิเศษ” จะช่วยให้คนส่วนใหญ่พลอยฟ้าพลอยฝนได้อานิสงส์ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะเฟื่องฟู 

ท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่โหยหาแต่ดัชนีตัวเลขแบบบวก ++ และบวก “โพสต์ทูเดย์” นัดสนทนากับ “ครูตี๋” ปราชญ์ชาวบ้านผู้ซึ่งประกาศตัว “ฮักเชียงของ” หมดหัวใจ และจะต่อสู้ขัดขวางเพื่อรักษาวิถีดั้งเดิมไว้ให้ลูกหลาน

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ครูใหญ่แห่งโฮงเฮียนแม่น้ำของ บอกว่า หากพูดถึงทิศทางการพัฒนาของประเทศแล้วมาพูดถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันเลยก็ดูจะเป็นการตัดตอนจนเกินไป เพราะความบิดเบี้ยวของประเทศเริ่มตั้งแต่การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี 2504 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

การพัฒนาเศรษฐกิจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “ครูตี๋” สรุปว่า คนมักคิดถึงแต่เพียงจะทำอย่างไรให้เกิดความเจริญ ให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ให้ประเทศมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นวิธีคิดหลักของประเทศมาจนบัดนี้ ซึ่งเป็นการเดินตามกระบวนทัศน์ของนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตก

“แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น แม้ครูจะไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ก็กล้าพูดว่ามันไม่ใช่” น้ำเสียงครูตี๋หนักแน่น พร้อมอธิบายต่อว่า เพราะคนมันไม่เท่ากัน แม้ว่าค่าเฉลี่ยต่อหัวจะมาก แต่ในความเป็นจริงก็คือได้ไม่เท่ากัน จะเห็นว่าทุกวันนี้คนชั้นล่างจนลงเรื่อยๆ พื้นฐานสำหรับชีวิต เช่น ที่ดิน ที่ทำกิน ก็เริ่มหายไปหมด

“นี่เป็นผลจากการพัฒนาโดยที่คนเล็กคนน้อยปรับตัวไม่ทัน มันยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ เพราะเราคิดกันแต่เรื่องมวลรวมของประเทศ มองกันแต่ภาพใหญ่ มองแต่ในเชิงมหภาค”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามปรับเปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนา แต่ปัญหาคือกลับไม่เคยปรับเปลี่ยนแนวคิดหลัก นั่นทำให้กระบวนทัศน์เดิมๆ ยังคงอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ครูตี๋ บอกว่า การมองแต่ภาพใหญ่ทำให้สิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาไปทำร้ายทำลายอะไรต่างๆ มากมาย “การพัฒนาบ้านเรา แม้จะมีการเปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนมาหลายครั้ง แต่แนวคิดก็ยังเหมือนเดิมอยู่ เช่น การรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา และทุกๆ ครั้งเราก็จะเห็นว่ารัฐบาลทหารไม่เคยนำพาประเทศไปในทิศทางที่คิดไว้ได้เลย มันกลับสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีก

“...ปัญหาก็คือชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ชาวบ้านไม่สามารถนำเสนอในสิ่งที่ตัวเองเดือดร้อนได้ หรือแม้แต่ในยุครัฐบาลเลือกตั้งชุดที่ผ่านมา ก็ยังมีปัญหาเหล่านี้อยู่เหมือนกัน นั่นเพราะเรามุ่งเน้นแต่ภาพใหญ่ มองภาพใหญ่มากจนเกินไป”

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยพัฒนาการท่องเที่ยวด้วยการมองแต่ภาพใหญ่เพียงอย่างเดียว ไม่เคยมองว่าการท่องเที่ยวต้องเริ่มจากชุมชน ทั้งๆ ที่วิถีและวัฒนธรรมมีจุดกำเนิดมาจากชุมชน พื้นฐานทุกอย่างก็เริ่มต้นที่ชุมชน

“ผมไม่เห็นด้วยกับที่ท่านรองนายกฯ ปรีดิยาธร เทวกุล ที่บอกว่าการท่องเที่ยวหมดมุขแล้ว เพราะ sun sand sea อะไรพวกนี้มันหมดมุขในเรื่องใหญ่ พอคุณทำแต่เรื่องใหญ่มันก็ไปไม่ได้ เราต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในเชิงจุลภาค ซึ่งหากทำได้ก็จะไม่มีวันหมดมุข ไม่มีทางหมดกึ๋น เที่ยวทั้งชีวิตก็ยังไม่หมด” อดีตครูดอยแนะนำ

ว่ากันเฉพาะพื้นที่เล็กๆ อย่าง อ.เชียงของ ก็สามารถทำการท่องเที่ยวเชิงชุมชนได้หลากหลาย ในฐานะประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้นำเสนอแนวคิด 1 เมือง 2 แบบ แนวทางการจัดการพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้อยู่ร่วมกับการพัฒนาได้ เขายกตัวอย่างว่า เมืองเชียงของมีแม่น้ำใหญ่ทั้งแม่น้ำโขงและแม่น้ำอิง มีลุ่มน้ำ มีพื้นที่ปลูกข้าวชั้นดี มีป่า ซึ่งสามารถนำมาบูรณาการเข้ากับการท่องเที่ยวได้

“ยกตัวอย่าง เราจะต่อยอดการท่องเที่ยวกับแม่น้ำได้อย่างไร เราจะทำอะไรกับข้าวเหนียวเขี้ยวงู หรือผลไม้ที่เชียงของปลูกได้ ไม่ว่าจะเป็น ส้ม ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง สับปะรด ทั้งหมดนี้เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือแม้แต่ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่ อ.เชียงของ มีถึง 9 กลุ่มชาติพันธุ์ ยังไม่นับประเพณี วัฒนธรรม หรือพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งบูรณาการเข้ากับการท่องเที่ยวได้ทั้งสิ้น

“ผมคิดว่าสิ่งที่หม่อมอุ๋ย (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร) พูดมาอาจจะมีนัยก็ได้ ผมคิดไปถึงปากบารา จ.สตูล หรือคิดถึงการท้าทายชาวบ้าน จ.กระบี่ ว่าคุณจะเลือกอะไร ระหว่างวิถีชีวิต-การท่องเที่ยว หรือคุณจะเอาอุตสาหกรรม นี่มันเป็นนัยที่สามารถเปรียบเทียบได้เลย คือเขาอาจต้องการบอกว่าท่องเที่ยวมันหมดมุขแล้ว ก็สร้างเป็นอุตสาหกรรมสิ

“...บางครั้งคำพูดมันก็มีนัยที่บ่งบอกถึงวิธีคิดของผู้นำเรานะว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ และถึงแม้บ้านเมืองจะเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าเพราะการพัฒนาที่ไม่ฟังคนเล็กคนน้อย แต่ทิศทางนี้ก็ยังดำเนินอยู่”

นักพัฒนาชุมชนรายนี้กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เรื่อยมาจนถึงวันที่เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ก็ยังคงเกิดวาทกรรมที่ให้คนเล็กคนน้อยช่วยกันเสียสละเพื่อ “คนส่วนใหญ่” ทั้งๆ ที่โครงการต่างๆ ในรอบ 40-50 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้คนเล็กคนน้อยเจ็บปวดมาตลอด และคนที่เจ็บปวดเหล่านั้นก็มีจำนวนมากกว่ากลุ่มคนที่ถูกอ้างว่าเป็น “คนส่วนใหญ่” ของประเทศนี้ด้วยซ้ำ

“คำว่าคนส่วนใหญ่นี่มันก็มีคำถามว่าคือใคร เราดูมาตรฐานรายได้ของบ้านเรา คนส่วนใหญ่รายได้น้อย แค่นี้คำพูดมันก็ผิดแล้ว ดังนั้นการพัฒนาที่มันยั่งยืนหรือยาวนาน หากเรามองประเทศอื่นๆ ก็จะพบว่าทิศทางมันไม่ได้เป็นแบบนี้ เขาเอาเรื่องคนก่อน ต้องเริ่มจากการพัฒนาคน

“...มันไม่มีคำว่าสายไปหรือช้าไปหรอก เพราะไม่มีใครรู้พรุ่งนี้ มันก็ต้องเริ่มวันนี้ ถ้าเริ่มวันนี้นั่นหมายความว่าเริ่มมีอนาคตทันที และจากเริ่มต้นที่คนมันไม่ผิดไม่พลาดแน่ กระบวนการต่างๆ มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปเพราะคนมันถูกเปลี่ยนแปลง แต่ทุกวันนี้คนมันไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง มันก็เป็นไปตามกรอบที่วางไว้ ทีนี้กรอบที่วางไว้มันก็ถูกสร้างขึ้นหรือถูกจัดวางจากคนไม่กี่คน ก็เฉพาะคนที่ร่วมกันทำแผนพัฒนาขึ้นมานั่นแหละ

“...ถามต่อว่าไอ้คนไม่กี่คนที่พูดถึงนั้นมันไปจบสำนักไหนมา เขาไปเห็นอะไรมาบ้างตอนที่เป็นดอกเตอร์ สิ่งเหล่านั้นก็กลับมาเป็นกรอบครอบการพัฒนาของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากมากที่สุด และถ้าเป็นสิ่งที่คนเหล่านั้นเรียนมาเมื่อ 30-40 ปีก่อน แต่กลับยังคิดว่ามันทันสมัยอยู่ คือตกยุคไปแล้วก็ยังไม่รู้ตัว นี่ยิ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก

“...รู้ไหมว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะมันมีคำว่าดอกเตอร์คาเอาไว้อยู่ ...ดอกเตอร์มันไม่โง่ไม่ใช่หรือ ก็เห็นเขาบอกกันมา”

ครูใหญ่แห่งโฮงเฮียนแม่น้ำของย้ำว่า ความมั่นคงที่ยั่งยืนและยาวนานต้องเริ่มจากสิ่งที่เล็กๆ ก่อน ต้องเกิดจากภายในคือเกิดจากสิ่งที่มีอยู่ แล้วเอาวิถีวัฒนธรรมเหล่านั้นมาแปลงให้เป็นสินทรัพย์ เพราะถ้าคิดกันแต่ภาพใหญ่ ก็ต้องสร้างภาพกันใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด

“ทุกวันนี้เราเอาแต่มองจากข้างนอกเข้ามา มันต้องคิดใหม่ มุมมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ ต้องมองจากภายในออกไปข้างนอก คือมองจากตัวตน มองจากชุมชนให้กว้าง นั่นคือการพัฒนาที่จะยั่งยืนที่จะยาวนาน

“...หากโยงไปสู่ธรรมชาติก็จะเห็นว่า ต้นไม้ที่โตมาเลยมันจะไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไรนะ แต่ถ้าค่อยๆ ปลูกให้เติบโตขึ้นมาอย่างช้าๆ แบบนี้มันแข็งแรง”

เศรษฐศาสตร์ครูดอย \"นิวัฒน์ ร้อยแก้ว\" แนะโตจากฐานราก

"เขตเศรษฐกิจพิเศษ" เพื่อกลุ่มทุน?

อ.เชียงของ จ.เชียงราย ถูกจัดวางให้อยู่ในเฟส 2 ของนโยบาย “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในปี 2559 ท่ามกลางความสับสนและความไม่เข้าใจของชาวบ้าน

"เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้าจะพูดกันให้สุดต้องบอกว่าคนพวกนี้เป็นกบฏเลยนะ เพราะเขากำลังจะตัดแบ่งประเทศให้กับใครก็ไม่รู้ อย่างเชียงของ เมื่อเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ทั้งสิทธิพิเศษ อำนาจต่างๆ คนท้องถิ่นไม่มีเลย นี่หมายความว่าแบ่งแยก-ตัดเชียงของ ออกไปให้ใครแล้วก็ไม่รู้ โดยนัยทางการค้า"ครูตี๋ วิพากษ์รุนแรง

นั่นเพราะ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” จะทำให้คนในท้องถิ่นถูกตัดออก ถูกปล่อยให้เผชิญชะตากรรมในกระแสที่เชี่ยวกราก ชาวบ้านจะไม่มีอะไรให้เกาะกำ ที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่ความวุ่นวาย

“แต่เขาก็จะบอกว่าเห็นไหมว่าตัวเลขการค้าขายมันเพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ ก็ขอถามกลับว่าแล้วมันของใคร ของคนเชียงของจริงๆ อย่างนั้นหรือ”

นักพัฒนาชุมชนรายนี้ยืนยันว่า กระบวนการพัฒนาที่เสี่ยงที่สุดคือกระบวนการที่ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ และนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษก็มีแต่ประเทศที่เป็นเผด็จการเท่านั้นที่ทำได้สำเร็จ เพราะคำว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อดูดีๆ แล้ว มันไม่มีประโยชน์สำหรับท้องถิ่นเลย

“...ถ้าวิพากษ์หรือพูดคุยกันด้วยเหตุและผลตามหลักวิชาการจะพบว่ามันเป็นไปไม่ได้ ทำนโยบายแบบนี้ไม่ได้ แต่ถ้าพูดโดยเอาอำนาจกับทุนบวกกันมันก็น่ากลัว เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้”

“...ถ้ารัฐบาลชุดนี้อยู่อีก 2 ปีมันจะเกิดเรื่องมากมายอย่างที่สุด เพราะเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าการรัฐประหารครั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนเล็กคนน้อย จากโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ส่วนคนชั้นกลางไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไร”

“ต้องเข้าใจว่าอำนาจมันใช้กับทุนลำบาก เพราะทุนนั้นก็มีอำนาจในตัว แต่กับคนเล็กคนน้อยมันไม่มีทุน แล้วยิ่งกฎหมายไม่เอื้ออะไรสักอย่าง ถามว่าเขาเหล่านั้นจะเอาอะไรไปสู้ หายนะมันก็จะเกิดขึ้น”

“บ้านนี้เมืองนี้จะกลับไปสู่ยุคเถื่อน ยุคที่คิดว่าดีก็ทำ เอากูดีว่า ถ้ากูดีแล้วกูทำมันก็ต้องดี นายกฯ ประยุทธ์ เป็นคนดี ถ้านายกฯ ประยุทธ์ บอกว่าจะทำ มันก็ต้องดี แบบนี้มันไม่ได้ กระบวนทัศน์แบบนี้มันตายกันหมด” นิวัฒน์ กล่าวตรงไปตรงมา

เขาบอกว่า แนวทางที่ดีที่สุดคือการมีส่วนร่วม การได้พูดคุยได้แสดงความคิดเห็นและได้ตกลงร่วมกัน ไม่ใช่คนดีบอกว่าดีแล้วมันจะต้องดี สิ่งที่ดีคือต้องเอาทั้งคนที่ดีบ้างไม่ดีบ้างมาพูดคุยกัน แล้วช่วยกันหาสิ่งที่ดี นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง

“ก็ลองเอาหม่อมอุ๋ย เอานายกฯ ประยุทธ์ เอาผม ถีบลงน้ำไป มันก็หัวเดียวเท่ากันหมด มันก็ต้องช่วยกันคิดถึงจะรอด ไม่เกี่ยวกับคนดีหรือไม่ดีแล้ว ถ้าไม่ช่วยกันคิด ไม่ช่วยเหลือกัน คนดีก็อาจไม่รอดนะ คนดีก็เพราะคนกลายมาเป็นนะ ขนาดพระก็คนกลายมาเป็น มันก็คนทั้งนั้น ก็ต้องมาคุยกัน มาช่วยกัน”

ประธานกลุ่มคนรักษ์เชียงของ ยืนกรานในหลักการว่า นโยบายการพัฒนาใดๆ ต้องเริ่มต้นที่ฐานรากคือท้องถิ่นเป็นลำดับแรก “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสามารถทำได้ทันที แต่มันกลับถูกเบียดโดยวิธีคิดที่ไม่เห็นความสัมพันธ์ในเรื่องของการพัฒนาว่าจะมีอาชีพไหนร่วมกันได้บ้าง คุณก็เลยไปมุ่งเสริมเรื่องการค้าอย่างเดียว อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ คุณก็พูดอย่างเดียวคือเรื่องการค้าทั้งนั้น แต่จริงๆ คำว่าพิเศษ มันมีมากกว่าการค้า”

“...เชียงของถูกประกาศให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยที่ไม่ได้ดูพื้นฐานเลย ถามว่าถ้าจะใช้คำว่าพิเศษ ก็ต้องมาดูกันว่าพิเศษสำหรับเชียงของเป็นอย่างไร เพราะเมืองนี้มีถึง 9 กลุ่มชาติพันธุ์ คุณจะทำประโยชน์จาก 9 กลุ่มชาติพันธุ์อย่างไร หรือเมืองนี้เป็นเมืองชายขอบที่มีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านมาโดยตลอด เมืองนี้มีที่ราบลุ่มที่ปลูกข้าวได้ดีมาก เมืองนี้มีภูมินิเวศที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ นี่คือพื้นฐานของเรา ส่วนเรื่องการค้าก็ต้องเป็นการค้าชุมชน”

...ต้องออกแบบให้พิเศษสำหรับคนเชียงของ ไม่ใช่พิเศษสำหรับกลุ่มทุน

เศรษฐศาสตร์ครูดอย \"นิวัฒน์ ร้อยแก้ว\" แนะโตจากฐานราก

ตำราฉบับชายขอบ การศึกษาเพื่อท้องถิ่น...เพื่อโลก

อดีตครูดอยผู้ตัดสินใจหันหลังให้กับระบบราชการ ผันตัวเองมาเป็นนักพัฒนาชุมชน และเคยสร้างวีรกรรมระดับชาติ ด้วยการขับไล่เรือสัญชาติจีนที่บุกรุกเข้ามาระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขง เมื่อปี 2547

ชายวัย 60 เศษ ชื่อ “นิวัฒน์ ร้อยแก้ว” ในวันนี้ยังคงมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ และไม่เคยมีวันไหนที่ไม่ดำรงความเป็น “ครู”

ในฐานะครูใหญ่แห่งโฮงเฮียนแม่น้ำของ-สนามการเรียนรู้วิชาชีวิตและความเป็นมนุษย์ที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว ทำให้ “ครูตี๋” สามารถวิพากษ์ระบบการศึกษาไทยได้ถึงแก่นแท้

“โครงสร้างทางเศรษฐกิจมันสัมพันธ์กับคน และคนก็สัมพันธ์กับการศึกษา มันจะแยกส่วนมองไม่ได้ ดังนั้นพอพูดเรื่องคุณภาพของคนก็ต้องเชื่อมโยงไปที่การศึกษา ซึ่งวันนี้ต้องรื้อใหม่หมด เพราะผุพังจนไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว”

เราต้องศึกษาอะไร? ... “มันต้องศึกษาเพื่อท้องถิ่น เพื่อประเทศ และเพื่อโลก มันต้องศึกษากันอย่างนั้น แต่ทุกวันนี้มันเป็นการศึกษาเพื่อตัวเองไปเรื่อยๆ ยิ่งศึกษายิ่งเห็นแก่ตัว แล้วประเทศชาติมันจะไปกันได้อย่างไร”

ครูตี๋ บอกว่า หากมองระบบการศึกษาในอดีตจะพบว่า มีความพยายามทำให้เกิด “ความเป็นชาติ” คือทำให้เป็นไทยเดียว ให้พูดภาษาไทยกลาง เอาโรงเรียนออกจากวัด เอาประเพณีวัฒนธรรมจากส่วนกลางลงมา ซึ่งแท้จริงแล้วนี่เป็นการทำร้ายทำลายความเป็นมนุษย์

นั่นเพราะ “ครูตี๋” เชื่อว่าความหลากหลายคือความงดงาม และความหลากหลายทำให้มนุษยชาติอยู่กันมาได้อย่างยาวนาน เพราะมันมีหลายปัญญาหลายภูมิ แต่เมื่อมีความพยายามบีบให้เป็นไทยเดียว ก็เลยเป็นปัญหากดทับทางวัฒนธรรมมากมาย ภูมิปัญญาและองค์ความรู้เก่าแก่จึงหายไปหมด

“แต่สุดท้ายเรื่องการเป็นไทยเดียวมันเป็นไปไม่ได้ สำนึกชาติมันไกลและจับต้องยาก แต่สำนึกการอยู่ร่วมมันง่าย มันเห็นและอธิบายได้ เหล่านี้คือเรื่องของการศึกษา คือศึกษาให้รู้จักตัวเอง ให้รู้จักท้องถิ่น เพราะถ้ารู้จักมันดีแล้ว แผ่นดินและทรัพยากรต่างๆ ก็จะได้รับการปกป้อง”

สำหรับหลักสูตรในปัจจุบัน อดีตครูดอย เสนอว่า ไม่จำเป็นต้องสอนเรื่องคุณธรรม 12 ประการ เพราะมนุษย์มีความรู้สึกเจ็บปวดมาตั้งแต่กำเนิดอยู่แล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องสอนคือ เรื่องการ “เคารพ” ผู้อื่น และต้องเห็นผู้อื่น “เท่าเทียม” กัน หากสอน 2 เรื่องนี้บ่อยๆ ก็จะเกิดความสำนึก เพราะลึกๆ แล้วมนุษย์มันมีความเจ็บปวดเหมือนกัน

“ที่จริงการเรียนของมนุษย์ไม่ได้ซับซ้อนเลย เด็กไม่มีความซับซ้อน แต่กระบวนการคิดของผู้ใหญ่กลับทำให้เด็กซับซ้อน แล้วก็เอาไปสอนกันอย่างซับซ้อน ต้องทำแบบนั้น-ต้องทำแบบนี้ ต้องให้มันเขียนก่อนนะ อย่าให้มันอ่านก่อน วุ่นวายไปหมด ... ก็นั่นมันเรื่องของมัน ปล่อยมัน มันจะทำอะไรก่อนหลังก็เป็นเรื่องของเด็ก ครูเป็นแค่ผู้จัดกระบวนเท่านั้น อย่าไปบังคับมัน เด็กคนไหนชอบอะไรก็ปล่อยมันไป ส่งเสริมมัน ทำแค่นั้นพอ

“...เมื่อก่อนเรียนถึง ป.4 ก็บอกว่าไม่พอ มันโง่ ก็เลยให้ไปถึง ป.6 แต่สุดท้ายมันกลับโง่กว่า ป.4 ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็เพราะนักการศึกษามันคิดซับซ้อนมากไป พอไปบังคับเด็กมันก็กลายเป็นการกดทับทั้งทางจิตสำนึกและจิตวิญญาณ

“...อย่าไปซับซ้อนกับมัน เด็ก เพราะโตมามันซับซ้อนอยู่แล้ว ให้มันเรียนในสิ่งที่มีความชัดเจน ให้มองเห็นอะไรชัดก่อน แล้วความชัดเจนนั้นมันจะไปจัดการกับกระบวนการที่ซับซ้อนตอนโต ถ้ามันเป็นคนที่ซับซ้อนตั้งแต่เด็ก มันก็จะซับซ้อนอยู่อย่างนั้นตลอด แล้วก็จะไม่เคยเข้าใจอะไรเลย แต่ถ้ามันมองอะไรชัด ความซับซ้อนในอนาคตมันก็มองเห็น”

ครูตี๋ บอกว่า การศึกษาต้องไม่อยู่ในกำมือของใครคนใดคนหนึ่ง นั่นหมายความว่า ต้องไม่ขึ้นอยู่เฉพาะกับนักการศึกษาเป็นผู้จัดเท่านั้น นั่นเพราะทุกที่ในประเทศมันมีองค์ความรู้ และทุกอย่างก็มีวิธีการจัดการ ไม่เช่นนั้นมนุษย์จะมีชีวิตยืนยาวมาได้อย่างไร

“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในมหาวิทยาลัยคือ สภามหาวิทยาลัย เพราะคณะกรรมการมีแต่ดอกเตอร์ทั้งนั้น ทั้งๆ ที่สิ่งที่ให้เด็กเรียนมันมีอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้ ซึ่งคนที่รู้เรื่องบ้านนี้เมืองนี้ก็คงไม่ได้มีแต่นักการศึกษาเท่านั้น”

นักพัฒนาชุมชนรายนี้ เทียบเคียงการเรียนการสอนสาขาพัฒนาชุมชนในมหาวิทยาลัยจากประสบการณ์กว่า 10 ปี ที่ได้คลุกคลีอยู่กับนักศึกษาที่วนเวียนกันฝึกงานมาโดยตลอด เขาตั้งคำถามง่ายๆ ว่า การที่นักศึกษาเหล่านี้ออกมาฝึกงานเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น แล้วจะเอาอะไรกลับไปพัฒนาชุมชน

“เด็กมีเวลาเรียน 4 ปีจบ แต่ต้องอยู่ในมหาวิทยาลัย 3 ปีเศษ มีเวลาสัมผัสชุมชนจริงๆ 2-3 เดือน แล้วเขาก็ไปสอบเป็นข้าราชการ คอยทำหน้าที่นำพากระบวนการพัฒนาชุมชน มันก็พาชุมชนฉิบหายกันหมด ตายกันพอดี

“...เด็กพวกนี้จบออกไปก็เป็นนักพัฒนาที่อยู่แต่ข้างล่าง รัฐบาลบอกให้ทำโครงการอะไรก็ทำ ซึ่งถ้าเป็นผมออกแบบ เด็กปี 1 จะให้มันอยู่ในมหาวิทยาลัย 5 เดือนแรก ให้รู้จักเพื่อนฝูง ให้เรียนทฤษฎีเบื้องต้น จากนั้นก็ส่งมันกลับบ้านเลย ให้ไปศึกษาพื้นฐานของบ้านตัวเองว่ามีประเด็นปัญหาอะไรบ้าง และมีแนวทางการแก้ไขตามทฤษฎีอย่างไรได้บ้าง

“...พอสิ้นปีก็กลับมาเด้อ กลับมานำเสนอผลการศึกษา เอามาแลกเปลี่ยนกัน สาขาหนึ่งมี 40 คน ก็ 40 พื้นที่ 40 ประเด็นปัญหา ครูมันก็จะได้ฉลาดขึ้นด้วย แค่นี้พอแล้วปี 1

“...พอเข้าปี 2 ก็ขยับเรื่องทฤษฎีให้มากขึ้นอีก แต่ลดเวลาเรียนลงให้เหลือแค่ 3 เดือนพอ พ่อแม่ก็ประหยัดด้วย ไม่ต้องส่งเงินให้ลูก จากนั้นก็ให้มันกลับไปศึกษาอีก แต่กำหนดขอบเขตให้ใหญ่ขึ้น ให้ศึกษาระดับตำบลเลย แล้วปลายปีก็มาสรุปกันอีกที

“...พอขึ้นปี 3 ลองให้ไปดูความแตกต่างบ้าง เช่น ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม เอาให้มันต่างจากเดิม ครูก็จะได้ตามเด็กออกไปดูชุมชนด้วย ไปกินนอนกับเด็ก ครูก็ฉลาดขึ้นอีก สุดท้ายปี 4 ผมให้เวลาเด็กมันทั้งปีเลย ให้ลองทำแผนพัฒนาอำเภอมาดูหน่อย ปล่อยมันเลย มันจะอยู่ไหน เดินทางไปไหนก็เรื่องของมัน

“...ถ้าเรียนแบบนี้ จบออกมา 4 ปี ผมว่ามันพอตัวแน่ แต่ทุกวันนี้มันฝึก 2-3 เดือน แล้วให้ออกไปเป็นนักพัฒนาชุมชน มันจะพาสังคมล้มเหลวหมด มันจะไปพัฒนาได้อย่างไร ฉะนั้นมหาวิทยาลัยต้องสนับสนุน เอาเงินให้มันเลย ส่งเสริมให้มันออกไปฝึกงาน ให้มันลงพื้นที่

“ต้องส่งเสริมให้ทุนมันเหมือนมันเป็นนักศึกษาแพทย์ เพราะสาขาพัฒนาชุมชนมันคือแพทย์ของสังคม ส่วนแพทย์ที่เรียนกันมันเป็นแพทย์ของปัจเจก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่ดีนะ”

ครูตี๋ ยังเสนอความคิดอีกว่า ในเด็กเล็กชั้นประถมศึกษาก็ควรให้เรียนแค่ครึ่งวันพอ นอกจากนั้นให้เด็กไปพัฒนาเรื่องของความเป็นมนุษย์ เช่น พอถึงวันโกน วันพระ ให้เป็นวันหยุดไปเลย ไม่ต้องไปโรงเรียน แต่ครูต้องพาไปวัด ไปกวาดวัด ไปเจอผู้เฒ่าผู้แก่บ้าง

“พอไปกันอย่างนี้ พระก็จะได้ไม่ต้องนอนกินอยู่อย่างเดียว ก็ต้องลุกขึ้นมาสอน ศาสนาก็ต้องเข้ามาช่วย เสาร์อาทิตย์จะเล่นเกมอะไรก็เล่นไป แต่วันโกน วันพระ ต้องได้เจอหลวงพี่-หลวงตาแน่ ทีนี้พระก็จะต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมา ช่วยสร้างจิตวิญญาณให้เด็ก ไม่ใช่เอาแต่นอนเอาแต่กินเหมือนในปัจจุบัน”

ครูตี๋ สรุปประเด็นว่า ทุกวันนี้การศึกษาไทยมุ่งสร้างคนให้มารับใช้อุตสาหกรรมเท่านั้น คนที่ถูกสร้างก็เป็นคนอุตสาหกรรมที่คิดและกระทำเหมือนกันหมด ซึ่งเชื่อว่าหากเป็นเช่นนี้สังคมไปไม่รอดแน่ เพราะถ้าคิดอย่างเดียวกันก็จะแย่งกัน เช่น คิดเรื่องเงินเหมือนกันก็จะแย่งเงินกัน ดังนั้นการเรียนต้องมีความหลากหลาย

ทิ้งท้าย “ครูตี๋” ย้ำปรัชญาโฮงเฮียนแม่น้ำของ “ความงดงามจะเกิดขึ้นได้ ถ้ารู้จักเคารพธรรมชาติและศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์”