ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปรียบเทียบปี’40-50
เวลานี้เกิดข้อถกเถียงมากว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์มีความก้าวหน้าหรือถอยหลังกันแน่
โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย
ตลอดสัปดาห์นี้ต้องจับตาความเคลื่อนไหวสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เนื่องจากจะมีการลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ถ้า สปช. 124 คน จากทั้งหมด 247 คน ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ แต่ถ้า สปช.ลงมติไม่เห็นชอบ ทุกอย่างต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ภายใต้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คน
อย่างไรก็ตาม เวลานี้เกิดข้อถกเถียงมากว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์มีความก้าวหน้าหรือถอยหลังกันแน่ เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งหลายประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
1.มาตรา 7 ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดการจุดประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 มีถ้อยคำในมาตรา 7 เหมือนกันว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เวลานั้นเกิดการถกเถียงกันอย่างมากว่ามีความเป็นไปได้ในทางกฎหมายหรือไม่
คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน จึงได้แก้ไขใหม่โดยยังคงถ้อยคำข้างต้นไว้เหมือนเดิม แต่ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้เกิดผลในทางปฏิบัติว่า “ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยกรณีใด สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี และเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด”
2.คณะรัฐมนตรี อาจเรียกได้ว่าการเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจากที่มาของนายกรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 บัญญัติมาเป็นแนวทางเดียวกันว่านายกฯ ต้องเป็น สส.และมาจากการเลือกแบบเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่อยู่ในมือ สปช.กำหนดให้นายกฯ ยังคงต้องเลือกกันในสภาตามเดิม ทว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น สส.ก็ได้เพียงแต่ต้องได้เสียงจาก สส.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ สส.ในสภา
ไม่เพียงเท่านี้ ในส่วนอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ค่อนข้างเข้มงวดกับการไม่ให้รัฐบาลใช้นโยบายประชานิยมพอสมควร
โดยกำหนดในมาตรา 189 ว่า “เพื่อป้องกันการดำเนินนโยบายที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว การอนุมัติ นโยบาย มาตรการ หรือโครงการใดๆ ให้มีการวิเคราะห์ภาระงบประมาณและภาระทางการคลัง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม และให้ระบุปริมาณและแหล่งที่มาของเงินในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายดังกล่าว”
ผิดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 ที่ไม่ได้กำหนดแนวทางการควบคุมการใช้นโยบายประชานิยม เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตจะเน้นไปที่กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายแต่ละปีที่ต้องมีการแสดงฐานะการเงินการคลังของประเทศเท่านั้น
ขณะเดียวกัน คณะ กมธ.ยกร่างฯ ยังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 283 ของร่างรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อเป็นมาตรการควบคุมให้รัฐบาลต้องเร่งออกกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย
3.สภาผู้แทนราษฎร อย่างที่ทราบกันดีว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้นำระบบการเลือกตั้งสส.แบบสัดส่วนผสมมาใช้ โดยให้มี สส.จำนวน 450-470 คน แบ่งเป็น สส.ระบบเขตเลือกตั้ง 300 คน และ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ 150-170 คน ถ้าอธิบายกันง่ายๆ ก็คือ หากพรรค ก.ได้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 40% และจำนวน สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเกิน 40% จากทั้งหมด 300 คนแล้ว พรรคการเมืองนั้นจะไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่ออีก
ต่างจากระบบการเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 ซึ่งรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับมีการใช้ สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตรงที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 กำหนดให้มี สส. 500 คน ปี 2540 ให้มี สส.แบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน ส่วนปี 2550 ให้มี สส.แบ่งเขต 375 คน และบัญชีรายชื่อ 125 คน
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับในอดีตยังกำหนดให้พรรคการเมืองได้จำนวนแบบไม่มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเหมือนการเลือกตั้งระบบสัดส่วนผสมหมายความว่า ถ้าพรรค ก.ได้ สส.บัญชีรายชื่อ 70 คน และ สส.ระบบเขต 200 คน ก็ให้พรรคการเมืองมี สส.270 คน ไปโดยปริยาย
ขณะเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ลงมือปฏิรูปเอกสิทธิ์คุ้มครองของ สส. คือ กำหนดให้พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการฟ้องร้อง สส.ได้ทันที ถ้าเป็นกรณีที่ สส.คนนั้นกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดอื่นที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 ที่ได้มีการบัญญัติเอาไว้ เพราะได้ให้เกราะคุ้มครอง สส.พอสมควร
4.วุฒิสภา เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันว่าวุฒิสภาตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีความเป็นประชาธิปไตย หลังจากคณะ กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบให้วุฒิสภามีจำนวน 200 คน แบ่งเป็น สว.สรรหาจากหลากหลายวิชาชีพ 123 คน และ สว.เลือกตั้ง 77 คน แต่ให้ สว.สรรหาชุดแรกมาจากการเลือกของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันและมีวาระ 3 ปี ส่วนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ให้ สว.มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว 200 คน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ให้ สว.มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และสรรหา 73 คน รวม 150 คน
นอกเหนือไปจากที่มาของ สว.จะแตกต่างกันพอสมควรแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ของ สว. โดยเฉพาะการถอดถอนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากอดีต โดยร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน สว.มีหน้าที่ถอดถอนเฉพาะตุลาการศาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง อัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยการใช้เสียงถอดถอนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ สว.
ส่วนการถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สส. และ สว.ให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภา (สภาและวุฒิสภา) โดยใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา ต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีตทั้งปี 2540 และ 2550 ที่ให้ สว.มีอำนาจถอดถอนบุคคลในทุกตำแหน่งข้างต้น โดยต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของวุฒิสภา
ทั้งหมดเป็นเพียงแค่จุดต่างและจุดเหมือนบางส่วนระหว่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่รอ สปช.ลงมติ แต่บทสรุปของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะผ่านสภาเหมือนรัฐธรรมนูญในอดีตหรือไม่คงต้องรอดูกันในวันที่ 6 ก.ย.