‘ปริยัติ’ กับ ‘ปฏิบัติ’ ต้องสมดุล จึงจะเกิด ‘ปฏิเวธ’
พระธรรมวรนายกกล่าวกับพระธรรมทูตทั้ง 6 รุ่น ที่มาเสวนาร่วมกันที่โรงแรมโซฟีเทล
โดย...ผู้สื่อข่าวพิเศษ
พระธรรมวรนายกกล่าวกับพระธรรมทูตทั้ง 6 รุ่น ที่มาเสวนาร่วมกันที่โรงแรมโซฟีเทล อังกอร์ โภคีธรา กอล์ฟ & สปา รีสอร์ท เสียมราฐ ว่าเป็นรุ่นพิเศษ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้มิได้นำพระธรรมทูตมาเป็นจำเลย
นักปราชญ์แห่งธรรมะ อธิบายภาพดินแดนสุวรรณภูมิในอดีตก่อนมาเป็น กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม ว่า เป็นดินแดนที่นับถือผี วิญญาณบรรพบุรุษ และเทพ เทวดา เดิมคนในภูมิภาคนี้มีลักษณะดุร้าย เป็นอันธพาลปุถุชน “แย่งอาหารกันกิน แย่งแผ่นดินกันอยู่ แย่งคู่กันสมสู่ แย่งอำนาจกันครอง”
พระธรรมวรนายก ระบุว่า ผู้คนในสุวรรณภูมิแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
1.อันธพาลปุถุชน คือ โง่ มืด บอด
2.กัลยาณปุถุชน มีมนุษยศีล มนุษยธรรม “แบ่งกันกิน แบ่งกันอยู่ แบ่งคู่กันสมสู่ แบ่งแผ่นดินกันครอง”
3.อริยบุคคล ซึ่งมี 3 ระดับ โสดาบัน สกิทาคามี อรหันต์
พระธรรมวรนายก ชี้ให้เห็นว่า ผู้บรรลุ “โสดาบัน” เป็นได้ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
จุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิ ได้ลิ้มรสพุทธธรรมก็เกิดความศรัทธา เพราะพุทธธรรมไม่ได้ปฏิเสธการนับถือผี ทวยเทพ จึงผสมผสานเป็นเนื้อเดียว ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในหมู่พระสงฆ์
พระพุทธปณิธาน ก่อนจะละสังขารมี 4 ข้อ คือ
1.การประกาศพุทธธรรม “กงล้อ” ธรรมจักร จะดำเนินไปจนกว่าจะเกิด “พุทธบริษัท 4” คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
2.พุทธบริษัท 4 ต้องรู้ธรรมวินัยแจ่มแจ้ง
3.พุทธบริษัท 4 ต้องว่ากล่าวตักเตือนกันและกันฉันพี่น้องได้
4.พุทธบริษัท 4 ต้องกล้าเผชิญหน้ากับคนต่างศาสนาที่ย่ำยีคำสอน
พระธรรมทูตทำสามีจิกรรมพระธรรมวรนายก
พระธรรมวรนายก เปรียบเทียบให้เห็นว่า ลาภ สักการะ เกียรติยศ ชื่อเสียงเปรียบเสมือน “กิ่งไม้ ใบไม้” พระคุณเจ้าที่เป็นสงฆ์ต้องไม่หลง หากเปรียบเทียบ “หลักธรรม คำสอน” กับต้นไม้ จะพบว่า
ความสมบูรณ์แห่งศีล เช่น ศีล 5, ศีล 8, ศีล 10 และศีล 277 เปรียบเสมือน “สะเก็ดไม้”
ความสมบูรณ์แห่งสมาธิ การบังคับจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียว เปรียบเสมือน “เปลือกไม้”
ความสมบูรณ์แห่งปัญญา เปรียบเหมือน “กระพี้ไม้”
ความหลุดพ้นแห่งจิตใจ คือ หลุดพ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ เปรียบเสมือน “แก่นไม้”
หลวงพ่อพระธรรมวรนายก ชี้ให้เห็นแนวทางแก้ปัญหาโดยเปรียบเทียบกับ “คนป่วย” ว่า ต้องทายา (สวดมนต์) ทานยา (ภาวนา) ยาฉีด และผ่าตัด นิ้วไหนร้ายตัดนิ้วนั้นทิ้ง ซึ่งก็คือ “ปฏิรูปัง” หรือการปฏิรูป
แนวทาง “ปริยัติ” กับ “ปฏิบัติ” ต้องมีความสมดุลกัน จึงจะเกิด “ปฏิเวธ” คือ การสัมผัสผลของการปฏิบัติ