posttoday

พระกริ่งปวเรศ ยอดประติมากรรม พระเนื้อโลหะ

04 ตุลาคม 2558

ที่สุดของพระเครื่องเนื้อโลหะที่ได้รับความนิยมสูงสุด คงหนีไม่พ้นพระกริ่งเป็นแน่ โดยเฉพาะพระกริ่งปวเรศ หรือพระกริ่งใหญ่

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ที่สุดของพระเครื่องเนื้อโลหะที่ได้รับความนิยมสูงสุด คงหนีไม่พ้นพระกริ่งเป็นแน่ โดยเฉพาะพระกริ่งปวเรศ หรือพระกริ่งใหญ่ เจ้าของฉายาจักรพรรดิแห่งพระกริ่ง ย้อนไปเมื่อช่วง 2 เดือนก่อน มีการจัดงาน “นิทรรศน์ศรัทธาแห่งสยาม” เป็นงานประมูลพระเครื่องเพื่อหารายได้จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ยะลา โดยมีผู้ที่มีชื่อเสียงนำพระชื่อดังมากมายมาร่วมจัดแสดงจำนวนมาก ทั้งสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ เป็นต้น

ไฮไลต์ภายในงาน คือการประมูล “พระกริ่งปวเรศ” วัดบวรนิเวศวิหาร เนื้อนวโลหะกลับดำ ของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ครอบครอง จากข้อมูลพบว่าพระองค์ดังกล่าวจัดสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2411 โดยพระสังฆราชองค์ที่ 8 สร้างตามตำราโบราณ เพียง 30 องค์เท่านั้น

การประกวดครั้งนั้น อดีต ผบ.ตร.เล่าด้วยอารมณ์ขันว่า “เป็นพระที่บูชาขึ้นคอ มีพุทธคุณด้านเมตตา หนุนนำให้ได้รับเมตตาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.มาแล้ว ผู้จะเป็น ผบ.ตร.คนต่อไปควรได้ไป”

สำหรับ “พระกริ่งปวเรศ” ของ พล.ต.อ.สมยศ สนนราคาเริ่มต้นประมูลที่ 15 ล้านบาท และอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา หรือเสี่ยต๊อบ ผู้บริหารสโมสรเลสเตอร์ซิตี้ ประมูลไปได้ในราคา 34 ล้านบาท ถือว่าเป็นราคาสูงสุดภายในงาน

การสร้าง “พระกริ่งปวเรศ” วัดบวรนิเวศ จัดสร้างครั้งแรกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2404 โดยสมเด็จกรมพระยาปวเรศ ทรงสร้างเพื่อทดแทน “พระกริ่งปวเรศทองคำ” ที่หายไป เมื่อ พ.ศ. 2403 ในพระราชพิธีมุรธาภิเษกและพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 4 และขณะรัชกาลที่ 5 พระชนมายุ 9 พระชันษา เพื่อใช้ในพระราชพิธีเจริญน้ำพระพุทธมนต์ พิธีรับพระสุพรรณบัฏ ได้มีการจัดสร้างเพียง 3 องค์เท่านั้น

หลักการสังเกตลักษณะของ “พระกริ่งปวเรศ” นั้นเป็นองค์รูปหล่อลอยองค์ ประทับนั่งสมาธิเพชรเหนืออาสนะบัลลังก์บัวคว่ำบัวหงาย 2 ชั้น ชั้นละ 7 กลีบ ฐานด้านหลัง ยื่นเล็กน้อย บัวคว่ำบัวหงาย ชั้นละ 1 กลีบ พระเกศแบบตุ้มหรือบัวตูม ฐานพระเมาลี ด้านหน้า ปรากฏรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว พระศกแบบตอก “รอยตุ๊ดตู่” ปราศจากไรพระศก ใต้ฐานไม่ปะก้น หรือรอยเจาะก้นสำหรับบรรจุลูกกริ่งเหมือนทั่วๆ ไป แต่กว้านก้นลึก และกว้าง

ต้องยอมรับว่า “พระกริ่งปวเรศ” ถือว่ามีพลังพุทธานุภาพแรงที่สุด โดยเริ่มมีชื่อเสียงในวงการพระเครื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาจนถึงยุคของรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระกริ่งที่โด่งดังในอดีตล้วนแต่เป็นพระกริ่งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ร่วมอธิษฐานจิต ดังนั้นในวงการพระเครื่องรับรู้ดีและนับถือว่ามีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน  แน่นอนย่อมเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของนักเลงพระเครื่องไม่ว่าจะหน้าเก่าหรือใหม่ที่นิยมพระเครื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนราคาเช่าซื้อขายนั้นถือว่ามีราคาสูงที่สุดในบรรดาพระเครื่องเนื้อโลหะ

เหตุผลที่ “พระกริ่งปวเรศ” เป็นที่นิยมสูงสุดนั้น เนื่องจากพระกริ่งเป็นพระเครื่องที่จัดสร้างยากมากที่สุดและทรงคุณค่าในทางอิทธิฤทธิ์ เปี่ยมด้วยบุญฤทธิ์มากที่สุด เนื่องจากโลหะที่นำมาสร้างนั้นจะต้องมีคุณค่าและความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อได้วัตถุดิบที่ทรงคุณค่ามาแล้วยังจักต้องหาฤกษ์ทำพิธีหลอมหล่อรัดโลหะนั้นออกเป็นแผ่นๆ เพื่อเขียนเลขยันต์อักขระให้ครบถ้วนถูกต้องตามตำรานับร้อยครั้ง ส่วนการจะหล่อพระกริ่งยังต้องหาฤกษ์ยามงามดีและประกอบพิธีกรรมอย่างถูกต้องด้วย

ไม่เพียงมวลสารดีเท่านั้น ผู้จัดสร้างเองยังต้องเป็นผู้มีบุญบารมี รอบรู้ในยามฤกษ์ที่เหมาะสม อีกทั้งยังต้องเชี่ยวชาญในเวทมนตร์คาถา มีฌานสมาธิกล้าแกร่ง สามารถติดต่อกับปวงเทวดาได้ เพื่อขออักขระจากท่านมาลงประกอบประติมากรรมได้ และไม่เสื่อมคลาย ปัจจุบันจึงทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าสร้าง เพราะต้องลงทุนมากและจัดสร้างยากเช่นกัน

จึงเกิดคำถามแล้วทำไมเราต้องเรียกว่า “พระกริ่ง” เชื่อว่าหลายคนคงสงสัย และจากตำราในหลายเล่มได้อ้างถึงรับสั่งของสมเด็จพระสังฆราชแพ แห่งวัดสุทัศนเทพวรารามว่า พระกริ่ง มาจากคำว่า กิ กุสโล แปลว่า เป็นกุศล โดยสาเหตุเดิมกล่าวว่า พระปรมาจารย์ฝ่ายลัทธิมหายานผู้สร้างพุทธรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ประชาชนบูชาแทนพระโพธิสัตว์ขึ้น เรียกว่า พระไภษัชยคุรุ ในสมัยโบราณกาลได้บังเกิดนิมิตมหัศจรรย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนทำให้พระปรมาจารย์ผู้ทำพิธีอุทานออกมาว่า กิ กุสโล ซึ่งแปลได้ตามความหมายข้างต้น

นอกจากนี้ บรรดาเซียนพระยังนิยมนำมาขึ้นห้อยคอเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อใช้ป้องกันอันตรายต่างๆ อีกทั้งยังใช้พุทธคุณจาก “พระกริ่งปวเรศ” เพื่อความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานและการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ยังสามารถใช่อาราธนาทำน้ำมนต์ไว้ดื่มหรืออาบได้ เมื่อรู้สึกดวงไม่ดี มีเคราะห์ เจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยผิดปกติ ให้นำ “พระกริ่งปวเรศ” หรือพระกริ่ง (องค์แทนพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาสพุทธเจ้า) แล้วอาราธนาบารมีของพระองค์ท่านทำน้ำพระพุทธมนต์ ดื่ม รด อาบ กิน เพื่อความโชคดี มีชัยปราศจากโรคภัยและขจัดปัดเป่าสิ่งอัปมงคลในร่างกายและภยันอันตราย ภัยพิบัติต่างๆ ให้แคล้วคลาดปลอดภัยแก่ชีวิต

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 เคยมีดำรัสถึงเรื่องพระกริ่งปวเรศนี้ ว่า ตำราการสร้างพระกริ่งและตำรามงคลโลหะที่มีมาแต่โบราณสืบค้นได้ถึงสมัยสมเด็จพระพนรัตนวัดป่าแก้ว ท่านอาจารย์ตรียัมปวาย ได้กล่าวถึงเรื่องพระกริ่งปวเรศไว้ดังนี้ “พระกริ่งปวเรศที่คนโบราณเขานิยมกันนั้น มีอยู่เนื้อเดียว คือเนื้อนวโลหะผิวกลับดำ เมื่อขัดเนื้อในจะเป็นสีจำปาเทศ และเมื่อทิ้งไว้ถูกกับอากาศจะกลับดำอีกครั้งหนึ่งในเวลาไม่นาน เนื้อนวโลหะประกอบไปด้วย โลหะ 9 อย่าง ได้แก่ 1.ทองคำ 2.เงิน 3.ทองแดง 4.จ้าวน้ำเงิน (พลวง) 5.เหล็กละลายตัว 6.ชิน (ตะกั่ว+ดีบุก) 7.ตะกั่วน้ำนม 8.ปรอท และ 9.สังกะสี

ในวงการพระเครื่อง พระกริ่ง หมายถึงพระกริ่ง 3 ชนิด คือ พระกริ่งบาเก็ง พระกริ่งหนองแส และพระกริ่งใหญ่ ซึ่งพระกริ่ง 2 ชนิดแรก มีผู้จัดสร้างมากมายหลายรุ่นหลายแบบ แต่พระกริ่งใหญ่หาคนสร้างยากมากเพราะเป็นพระกริ่งที่มีประติมากรรมสัมฤทธิ์ มีขนาดเล็กที่เป็นพุทธศิลปะของจีนที่มีความงดงาม โดยจำลองแบบมาจากประติมากรรมสมัยเก่าของพระราชวงศ์ถัง ซึ่งเทียบได้กับสมัยปาละและสมัยศรีวิชัยของประเทศไทย โดยในแง่โบราณคดี ถือว่าเป็นแบบโบราณที่หาแบบได้ยากยิ่ง