posttoday

เศรษฐกิจพิเศษแม่สอดระอุ ถูกไล่รื้อ 97 ครัวเรือน

16 ตุลาคม 2558

ชาวบ้านค้านกรมธนารักษ์ออกโฉนด-หวั่นติดคุกฟรี

ชาวบ้านค้านกรมธนารักษ์ออกโฉนด-หวั่นติดคุกฟรี

ชาวบ้านแม่สอด เดินหน้าค้าน “ออกโฉนด” ที่ป่าสงวนเดิม เหตุอยู่ในพื้นที่มาก่อน หากรัฐทำสำเร็จจะกลายเป็นผู้บุกรุก-ถูกจับทันที ด้าน “กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น” ระบุ มีโครงการจ้องใช้ที่ดินอีกร่วม 1,300 ไร่ ส่งผลให้ชาวบ้านถูกไล่รื้อ

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ชักชวนผู้สื่อข่าว 16 ราย จาก 10 สำนักข่าว ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2558 เพื่อติดตามข้อเท็จจริงภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 17/2558 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าถาวร และพื้นที่สาธารณประโยชน์ ใน ต.ท่าสายลวด รวม 2,998 ไร่ รองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

สำหรับพื้นที่ซึ่งถูกเพิกถอน ประกอบด้วย ป่าสงวนแห่งชาติ 803 ไร่ พื้นที่ป่าถาวร 2,182 ไร่ และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ 13 ไร่ โดยได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้ามาบริหารพื้นที่จำนวน 813 ไร่ ขณะที่กรมธนารักษ์บริหาร 1,287 ไร่

นายสำรวม พันธุ์พืช ชาวบ้านหมู่ 4 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด กล่าวว่า ตั้งแต่ ต.ท่าสายลวด ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และอยู่ในการดูแลของ กนอ.ชาวบ้านต่างกังวลว่าจะเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการ

นายสำรวม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจากภาครัฐที่บอกกับชาวบ้านว่ามีความผิดเพราะเป็นผู้บุกรุกที่หลวง ขณะที่ผู้บริหารท้องถิ่นก็เสนอพื้นที่ให้กับส่วนกลางไปพิจารณาโดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีชาวบ้านอาศัยและทำกินอยู่ แต่ท้องถิ่นกลับแจ้งไปว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่า

“ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้คัดค้านการออกรางวัดที่ดินแต่ก็ไม่สำเร็จ ปัจจุบันมีความพยายามจะออกโฉนดในที่ป่าซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิไปแล้ว แต่กรมธนารักษ์เตรียมออกโฉนดตามกฎหมายปกติ ซึ่งชาวบ้านมีช่องที่จะคัดค้านต่อไป เพราะหากปล่อยให้มีการออกโฉนดสำเร็จ ชาวบ้านจะกลายเป็นผู้บุกรุกจริงๆ สุดท้ายคนที่อยู่ในพื้นที่ก็จะติดคุกกันหมด”นายสำรวม กล่าว

นายสุทธิชัย พะโกล ชาวปกาเกอะญอ หมู่ 3 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ กล่าวว่า มีข้อมูลว่า ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จะเป็นพื้นที่ส่วนขยายของนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และล่าสุดเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ผู้นำท้องถิ่นได้เข้าไปแจ้งชาวบ้านในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอว่ารัฐจะขอคืนพื้นที่ราชพัสดุเพื่อจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำความเจริญและสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชน

“พวกเราไม่เคยรู้เลยว่าเศรษฐกิจพิเศษคืออะไร เลยยังบอกไม่ได้ว่ามันจะดีหรือไม่ดี จะกระทบอะไรกับเราหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงข้อมูลให้ชัดเจนก่อน ไม่ใช่เข้ามาบอกว่าจะมาขอพื้นที่ไป และถ้าต้องการพื้นที่จริงๆ ถามว่าทำไมถึงไม่เอาป่าเสื่อมโทรม แต่กลับมาเอาป่าสงวน 3,000-4,000 ไร่ ไปทำไม แล้วจะมีนโยบายทวงผืนป่ากันทำไม” นายสุทธชัย กล่าว

นายสุทธิชัย กล่าวอีกว่า ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านนโยบายเศรษฐกิจพิเศษ แต่ต้องการความชัดเจนเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนทำประชาคมเท่านั้น และอยากเสนอให้รัฐออกกฎหมายสำหรับชดเชยหรือเยียวยาผลกระทบให้กับชาวบ้านที่อาจได้รับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมด้วย

นายชนกานต์ ชาญประกาศ ชาวบ้านหมู่ 4 ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือผู้นำท้องถิ่นหลายรายใน อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเศรษฐกิจพิเศษ แต่ก็น้ำท่วมปากไม่สามารถพูดได้ จึงอยากเรียกร้องให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านช่วยกัน เพราะถือว่าลงเรือลำเดียวกันแล้ว ก็ต้องช่วยกันพายให้ตลอดรอดฝั่ง

น.ส.ชมพูนุท เครือคำวัง กลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น กล่าวว่า นอกจากพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ที่ถูกเวนคืนไปแล้ว นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษยังต้องเตรียมพื้นที่รองรับโครงสร้างขั้นพื้นฐานอื่นๆ โดยขณะนี้มีโครงการขอทำบ่อน้ำดิบริมแม่น้ำเมย ประมาณ 800 ไร่ และขอตั้งด่านศุลกากรอีก 500 ไร่ ซึ่งทั้งสองโครงการมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ทั้งสิ้น หากเดินหน้าจริงชาวบ้านคงถูกไล่รื้อเพิ่มอีกหลายครัวเรือน

“ที่ผ่านมาชาวบ้านได้เข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมแต่เรื่องก็เงียบ ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปแล้ว ดิฉันไม่เข้าใจว่าเหตุใดโครงการจึงเดินหน้าไปทั้งๆ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ทั้งหมดคัดค้าน”น.ส.ชมพูนุท กล่าว

น.ส.ชมพูนุท กล่าวอีกว่า ปัจจุบันที่ดินใน อ.แม่สอด มีราคาพุ่งสูงเฉลี่ย 800% จากเดิมที่ไร่ละ 1 ล้านบาท ปัจจุบันราคาไร่ละ 12-25 ล้านบาท แต่ชาวบ้านกลับได้เงินชดเชยจากการเวนคืนเพียงไร่ละ 7,000- 1.2 หมื่นบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ ขอบเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก มีพื้นที่ทั้งสิ้น 886,875 ไร่ ใน 3 อำเภอ ได้แก่ แม่สอด พบพระ และแม่ระมาด โดยเบื้องต้นได้สร้างผลกระทบกับชาวบ้านแล้ว 97 ครัวเรือน ซึ่งต้องอพยพย้ายถิ่นฐานและสูญเสียที่ดินทำกิน.

เศรษฐกิจพิเศษแม่สอดระอุ ถูกไล่รื้อ 97 ครัวเรือน