‘ดอยคำ’ เติบโตไปกับความยั่งยืนของชาวบ้าน
ความเข้มแข็งของชุมชนหมู่บ้านยาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งในอดีตเป็นหมู่บ้านเต็มไปด้วยการค้ายาเสพติด
โดย...ชุติมา
ความเข้มแข็งของชุมชนหมู่บ้านยาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งในอดีตเป็นหมู่บ้านเต็มไปด้วยการค้ายาเสพติด มาวันนี้เมื่อมีการพัฒนาครั้งใหญ่ ด้วยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร มีพระราชดำริให้ก่อสร้าง “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)” ขึ้นที่หมู่บ้านนี้ จากหมู่บ้านพื้นที่ปลูก “ดอยฝิ่น” จึงเปลี่ยนมาสู่แปลงปลูกพืชไร่ผลไม้เมืองหนาวส่งวัตถุดิบให้โรงงานหลวง “ดอยคำ”
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร กล่าวว่า เมื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานดำเนินงานของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ได้จัดตั้งเป็นบริษัทโดยใช้ทะเบียนการค้า “ดอยคำ” เน้นผลิตสินค้าจากผลิตผลของเกษตรกรในพื้นที่ อ.ฝาง เพื่อสนับสนุนชาวบ้านที่นี่ จึงกลายเป็นเกษตรกรมีรายได้ยั่งยืนขึ้น และไม่หันไปปลูกฝิ่นอีกอย่างถาวร
การสร้างอาชีพให้ท้องถิ่นที่นี่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้ดูแลสินค้ายี่ห้อดอยคำ มีการจ้างพนักงานโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) 800 กว่าคน มีทั้งรายเดือนและรายวัน และอีกส่วนหนึ่งก็คือการรับผลผลิตผลไม้เมืองหนาวจากเกษตรกรท้องถิ่น เช่น ลิ้นจี่ ลำไย ท้อ เสาวรส และมีนโยบายธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านที่ประสบปัญหาอุทกภัย จนไร่เสาวรสเสียหายไปหมด และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เข้าไปช่วยแนะนำเสาวรสพันธุ์ใหม่ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งสอนวิธีการปลูกด้วยค้าง สร้างให้แปลงแข็งแรงขึ้น เพิ่มผลผลิต ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้นด้วย
“เป้าหมายใหญ่ที่สุดของนโยบายนี้คือ ต้องทำเพื่อผลลัพธ์ทางสังคมที่ดีขึ้นและสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับการดำเนินธุรกิจของเราด้วย ซึ่งเมื่อพื้นที่ทำกินและที่พักอาศัยของเกษตรกรถูกน้ำท่วมเสียหาย ก็มีการร้องขอจากหน่วยราชการท้องถิ่นขอให้โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปไปช่วยซ่อมแซมทาสีโรงเรียนที่พังเพราะน้ำป่าหลากพัดไปเกือบหมด ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็มองว่าการทาสีเป็นการช่วยเหลือเพียงปลายเหตุเท่านั้นนะครับ เราไม่ได้ทำงานสังคมสงเคราะห์ นอกจากการทาสีโรงเรียนให้ใหม่เล้ว เราจึงสร้างนโยบายธุรกิจเพื่อสังคม โดยไม่ใช่การทำงานเพื่อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทั้งผู้ให้และผู้รับได้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อสร้างชุมชนให้แข็ง แกร่งได้ต่อไปในอนาคตด้วย
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา
น้ำท่วมไม่ได้ทำให้แค่เกษตรกรเดือดร้อน เราเป็นผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ยี่ห้อ ดอยคำ ก็เดือดร้อนไปด้วย เพราะเสาวรสเริ่มไม่พอป้อนโรงงาน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่ส่งผลไม้ให้เรา โดยการไปสอนชาวบ้านให้ปลูกเสาวรสสายพันธุ์ใหม่ที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ ทนทานต่อโรค และแนะนำวิธีการปลูกโดยขึ้นค้างด้วยไม้ให้แข็งแรงขึ้น การมีค้างทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น เกษตรกรทำงานได้สะดวกขึ้นมากครับ แล้วผลลัพธ์ที่ได้คือโรงงานไม่ขาดวัตถุดิบอีก ส่วนทางชาวบ้านก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยครับ
ต่อมาจึงมีการกำหนด นโยบายธุรกิจเพื่อสังคมชัดเจนว่า จะต้องทำงานเอื้อซึ่งกันและกันระหว่างการตั้งโรงงานหลวงกับความมั่นคงของชาวบ้าน ทำให้เรามีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นตามมาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติ เราเคยประสบปัญหาน้ำป่าหลากทุกๆ ปี และมีอยู่ปีหนึ่งน้ำได้พัดกวาดโรงงานไปถึง 5 หลัง จึงมีโครงการทำฝายทดน้ำขึ้น โรงงานน้ำไม่ท่วมอีก ส่วนชาวบ้านก็ได้ประโยชน์จากฝายนี้ด้วยเพราะป่าเริ่มอุดมสมบูรณ์ขึ้น เขามีแหล่งอาหารเพิ่มขึ้น แล้วฝายก็ไม่ได้ช่วยเพียงเรื่องน้ำท่วมเท่านั้น ยังเป็นตัวกั้นไฟป่าที่ทุกๆ ปีจะลุกลามไปยังพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเสียหาย พอมีฝายทั้งปัญหาน้ำท่วมและไฟป่าก็เกิดยากขึ้น
ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น ผมจำได้ว่าเข้ามาทำงานเป็นข้าราชสำนักทำงานในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อปี 2537 หมู่บ้านยางยังเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติด แต่วันนี้สังคมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เช่น เด็กๆ รุ่นใหม่มีการศึกษาที่ดีขึ้น ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคง เป็นการให้ในสิ่งที่ยั่งยืนตาม พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น เน้นการให้ความรู้ในสิ่งที่คนจะไปสร้างอาชีพได้รุ่นสู่รุ่น ซึ่งในบริบทธุรกิจ เพื่อสังคม ที่ได้ผลยาวกว่าการให้เงินบริจาคเท่านั้นนะครับ” พิพัฒพงศ์ กล่าว
โรงงานหลวงใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศแบบบูรณาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันในความหลากหลายของชุมชนก็ได้สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง