posttoday

เปลี่ยนวิธีคำนวณ สส. ชะลอกระแสต้าน

06 พฤศจิกายน 2558

การทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นำโดย “มีชัย ฤชุพันธุ์”ผ่านมาประมาณ 1 เดือน ต้องถือว่าเริ่มเจอแรงเสียดทานเป็นระยะ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่นำโดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ผ่านมาประมาณ 1 เดือน ต้องถือว่าเริ่มเจอแรงเสียดทานเป็นระยะ

คลื่นลมที่ กรธ.ทั้ง 21 คนเจอมานั้น เรียกได้ว่าเริ่มจากเบาไปหาหนัก ตั้งแต่การถูกกล่าวหาว่า กรธ.มีธงในการร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องที่มานายกรัฐมนตรีที่อาจจะเปิดทางให้คนที่ไม่ได้เป็น สส.มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การเตรียมหาช่องทางให้อำนาจพิเศษแบบคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น แต่อาจารย์มีชัยและคณะก็ยังสามารถเอาตัวรอดมาได้ด้วยการบอกผ่านสื่อมวลชนว่า “เรายังไม่ได้พิจารณาถึงเรื่องนั้น”

การผลิตซ้ำคำชี้แจงดังกล่าวบ่อยๆ เป็นตัวช่วยให้ กรธ.ไม่ถูกแรงกดดัน แต่มาถึง ณ จุดนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า กรธ.กำลังเจอกับแรงต้านของจริง ภายหลัง กรธ.ได้กำหนดรูปแบบการเลือกตั้ง สส.ใหม่ในชื่อ “จัดสรรปันส่วนผสม”

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ เป็นระบบเลือกตั้ง สส.ที่หาจำนวน สส.ระบบบัญชีรายชื่อจากคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.เขตด้วยการลงคะแนนบนบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว

ยกตัวอย่างเช่น ผู้สมัครของพรรค ก. ชนะในเขตเลือกตั้งใดให้ถือว่าผู้สมัครคนนั้นเป็น สส.ทันที แต่ให้นำคะแนนของผู้สมัครพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ได้ลำดับรองลงมาไปคำนวณหาจำนวน สส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ไม่ได้รับเลือกตั้งให้เป็น สส.เขต โดยคะแนนของผู้สมัครที่ได้รับเลือกให้เป็น สส.เขตแล้วจะไม่ถูกนำไปคำนวณหาจำนวน สส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองตัวเอง

อาจารย์มีชัยพยายามชี้ให้เห็นถึงข้อดีว่า การเลือกตั้งด้วยระบบนี้จะทำให้คะแนนทุกคะแนนของประชาชนมีความหมาย ไม่ถูกทิ้งเหมือนกับการเลือกตั้งตามระบบที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 กำหนดเอาไว้ และเหนืออื่นใดยังเป็นการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น เพราะพรรคการเมืองของผู้ชนะก็ได้เก้าอี้ สส.ระบบเขต และพรรคของผู้แพ้ก็ได้มีคะแนนจากประชาชนไปกำหนดจำนวน สส.ระบบบัญชีรายชื่อ

ทว่า ภายใต้หลักการที่ กรธ.คิดว่าดีและคาดว่าจะสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นมาได้กลับถูกปฏิเสธอย่างไม่ไยดีจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลาง

อย่างพรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อ กรธ.กำหนดให้มี สส.สองประเภท ก็ควรให้ประชาชนได้แสดงเจตนาในการเลือกตั้งตามประเภทของ สส. แต่การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวจึงไม่อาจทราบถึงความต้องการของประชาชนได้ว่าที่ลงคะแนนไปนั้นประสงค์จะเลือกผู้สมัครหรือเลือกพรรคการเมือง จึงเป็นการจำกัดสิทธิประชาชน เพราะในทางปฏิบัติประชาชนอาจไม่ชอบผู้สมัครแต่ชอบพรรค ชอบพรรคแต่ไม่ชอบผู้สมัคร ระบบนี้จึงไม่ได้สะท้อนความต้องการอันแท้จริงของประชาชน”

สอดคล้องกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมองในมุมคล้ายกันว่า “มีจุดอ่อนที่ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะประชาชนถูกกำหนดให้เลือกคนกับพรรคในบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่คะแนนที่ประชาชนเลือก สส.เขตกลับถูกโอนไปให้ สส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งความเป็นจริงแล้วประชาชนอาจไม่ต้องการให้ผู้สมัครคนดังกล่าวเป็น สส.”

ไม่เว้นแม้แต่เสียงของภาควิชาการเริ่มแสดงความไม่เห็นด้วยออกมาเช่นกัน เช่น ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุว่า “เป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของประะชาชน
เนื่องจากนำแต่คะแนนของผู้แพ้แบบแบ่งเขตมาคิดคำนวณหา สส.บัญชีรายชื่อเท่านั้น อีกทั้งยังส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนที่เลือกพรรคใหญ่ ที่เขาอาจจะเข้าใจว่าโดนลดสิทธิในการเลือกตั้งลง”

เสียงของพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคที่ออกมาเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะทราบกันดีว่าสองพรรคที่ต่างขั้วดังกล่าวมีฐานเสียงอยู่ในมือจำนวนมาก แน่นอนว่าย่อมมีผลต่อการออกเสียงประชามติในอนาคต หากทั้งสองพรรคชี้ซ้ายหรือขวาพร้อมกัน

ต้องไม่ลืมว่าระบบเลือกตั้ง สส.เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับพรรคการเมือง เนื่องจากเป็นช่องทางการเข้าสู่อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เมื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองถูกกระทบกระเทือน ย่อมเป็นปัจจัยให้ต้องออกมาต้านร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

เมื่อเสียงต้านเริ่มดังขึ้น เป็นผลให้อาจารย์มีชัยต้องเงี่ยหูฟังและยอมรับว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างการหาวิธีคำนวณหาจำนวน สส.บัญชีรายชื่อใหม่ เพียงแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้วิธีการใดเท่านั้น

การออกมาเหยียบเบรกของ กรธ.ครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้านหนึ่งมาจากการเจอแรงกดดันจากภายนอก ซึ่งในทางกลับกัน หาก กรธ.ยืนกรานในหลักการของตัวเองแบบสุดโต่ง โดยไม่แสดงออกถึงการยอมรับฟังเสียงท้วงติงอย่างเป็นรูปธรรม อาจมีผลต่อการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต

อนาคตของร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน การทำประชามติย่อมส่งผลต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในบริบทที่แตกต่างกัน

ถ้าประชาชนลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าประชาชนให้การยอมรับ คสช. แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น คงเป็นเรื่องลำบากที่ คสช.จะลงแรงร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 3 ต่อไป