ไขข้อข้องใจ"กฎหมายบนเครื่องบิน"ทำไมโทษแรง?
ถึงเวลาที่คนไทยต้องเรียนรู้"กฎหมายความปลอดภัยบนเครื่องบิน"
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล
"น้อง เก็บกระเป๋าพี่ดีๆนะ ...กระเป๋าพี่มีระเบิด!"
ไม่น่าเชื่อว่าแค่ประโยคขำๆจะบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โตอย่างคาดไม่ถึง
หลังจากหนุ่มพนักงานการรถไฟวัย 23 ปีที่ขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรกในชีวิต เอ่ยปากแซวแอร์โฮสเตสสาวด้วยความคึกคะนอง ผลคือกัปตันสั่งระงับขึ้นบินกระทันหัน มีการตรวจค้นกระเป๋าเดินทางทุกใบอย่างละเอียด ผู้โดยสารนับร้อยต้องเดินทางล่าช้า สร้างความปั่นป่วนไปทั้งท่าอากาศยาน ท้ายที่สุดหนุ่มผู้โชคร้ายถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งยังถูกสายการบินดังกล่าวยื่นฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายด้วย
ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะ "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" ตัวเดียวแท้ๆ
"ดื้อ-อวดฉลาด-รู้เท่าไม่ถึงการณ์"สารพัดพฤติกรรมผู้โดยสารหน้าใหม่
บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ระบุว่า ปี 2558 มียอดผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการในท่าอากาศยาน 6 แห่งของทอท. มากถึง 106 ล้านคน มีเที่ยวบินมากกว่า 707,362 เที่ยวบิน นับว่าเป็นตัวเลขสูงสุดในประวัติศาสตร์
ปัจจัยที่ทำให้คนไทยหันมาใช้บริการเครื่องบินกันมากขึ้น มาจากสายการบินต้นทุนต่ำหั่นราคาสู้กันอย่างดุเดือด ราคาตั๋วถูกเข้าถึงง่าย ใช้เวลาเดินทางไม่นาน แถมสะดวกสบายกว่าขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ
ทว่า "ผู้โดยสารหน้าใหม่" เหล่านี้ จะมีสักกี่คนที่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติ กฎข้อบังคับในการขึ้นเครื่องบิน
"ผู้โดยสารแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ "ไม่รู้แต่ถาม" กับ "ไม่รู้แต่อวดรู้" พวกแรกไม่รู้ว่าตัวเองต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเวลาอยู่บนเครื่องบิน พอทำผิด เราชี้แจง เขาก็ฟังและทำตาม เพราะไม่รู้จริงๆ แต่พวกหลังคือ ไม่รู้ พอทำผิด เราเข้าไปชี้แจง กลับเถียง ดื้อ ไม่ยอมรับฟัง ยกตัวอย่างครั้งหนึ่งมีผู้โดยสารชายอายุประมาณ 50 ปี แต่งตัวดีใส่สูท นั่งเล่นมือถือตรงที่นั่งติดประตูฉุกเฉิน พอเข้าไปเตือนก็ตะคอกใส่"ผมรู้น่า ผมบินมาก่อนคุณอีก" เราก็ถอยออกมา ต่อมากัปตันแจ้งว่ามีสัญญาณรบกวนคลื่นการบิน เราก็เข้าไปขอให้เขาปิดมือถือ คราวนี้โชคดีที่ผู้โดยสารคนอื่นๆส่งสายตาไม่พอใจมาช่วยกดดัน สุดท้ายเลยยอม"
ศุภนัท พนักงานต้อนรับชายบนเครื่องบินของสายการบินแห่งหนึ่ง ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟัง
ขณะที่ ณัฐพร พนักงานต้อนรับหญิงบนเครื่องบิน หรือแอร์โฮสเตสของสายการบินอีกแห่ง อธิบายถึงพฤติกรรมอันถือเป็น"ภัยต่อการบิน"ที่ผู้โดยสารมักไม่ค่อยรู้
"เรื่องซีเรียสมากๆ เช่น ทะเลาะชกต่อยกันบนเครื่อง ทำร้ายลูกเรือ เมาอาละวาด หรือกระทำการใดก็ทำที่เป็นการข่มขู่ คุกคาม ดูหมิ่น เป็นอันตราย ไม่เป็นระเบียบ หรือมีเจตนารบกวนการปฏิบัติหน้าที่ของลูกเรือ ทำให้ผู้โดยสารคนอื่นๆได้รับความเดือดร้อน ล้วนเป็นภัยต่อการบินทั้งนั้น ผู้กระทำผิดจะต้องถูกควบคุมตัว หรือถูกเชิญลงจากเครื่องบิน และดำเนินคดีตามกฎหมาย และอาจติดแบล็คลิสต์ไม่ให้ขึ้นบินกับสายการบินนี้อีกด้วย"
ทั้งคู่บอกว่า ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องรู้กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยบนเครื่องบินทุกข้ออย่างละเอียดยิบ ขอแค่มีสามัญสำนึก รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ที่สำคัญให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำชี้แนะของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เท่านี้ก็สามารถช่วยได้แล้ว
กางพรบ.ความปลอดภัยบนเครื่องบิน...ทำไมโทษแรง?
ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.เป็นต้นมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศบังคับใช้ “พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558” ถือเป็นกฎหมายฉบับใหม่ที่ประชาชนควรรู้เป็นอย่างยิ่ง
สาระสำคัญที่น่าสนใจมีดังนี้
มาตรา 7 ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคําสั่ง ซึ่งเป็นคําสั่งเพื่อรักษากฎ ระเบียบ และความเรียบร้อยในอากาศยาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 8 สูบบุหรี่ในห้องน้ำ ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวลาที่ห้ามใช้ หรือมีสิ่งที่มีประกาศห้ามมิให้นําขึ้นเครื่องบินไว้ในครอบครอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
มาตรา 10 ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 11 ลวนลามทางเพศ เปลือยกาย หรือใช้กิริยาวาจาส่อไปในทางลามก ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 12 ทําร้ายผู้อื่นจนทําให้เสียทรัพย์ ดื่มเครื่องดื่มมึนเมา-ใช้สารที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทและกระทำการใดๆที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 13 ทําให้ลูกเรือเกิดความกลัวหรือตกใจ โดยการขู่เข็ญ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินสองแสนแปดหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 14 ไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเครื่องบินในระหว่างบริการ หรือไม่ยอมออกไปเมื่อผู้ควบคุมได้สั่งให้ออกไปจากเครื่องบิน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 15 ทําร้ายร่างกายผู้อื่น อันเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยบนเครื่องบิน ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 16 ฆ่าคนตาย ต้องระวางโทษประหารชีวิต
มาตรา 17 ยึดหรือเข้าควบคุมเครื่องบินโดยใช้กําลัง ประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะกระทําอันตรายต่อเครื่องบิน ต้องระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 18 ทําลายเครื่องบินระหว่างบริการ ทําให้เครื่องบินเกิดความเสียหายจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถทําการบินได้ หรือเกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของระหว่างการบิน ต้องระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกแสนบาทถึงแปดแสนบาท
มาตรา 22 แจ้งข้อความหรือส่งข่าวสารอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้ผู้อื่นตื่นตกใจ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
คำถามที่ทุกคนสงสัยคือ ทำไมกฎหมายความปลอดภัยบนเครื่องบินถึงมีโทษรุนแรงนัก?
"เมื่อพิจารณาจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 232 ที่ระบุว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆให้ยานพาหนะดังต่อไปนี้ อยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคล (1) เรือเดินทะเล อากาศยาน รถไฟหรือรถราง (2) รถยนต์ที่ใช้สำหรับการขนส่งสาธารณ หรือ (3) เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท พรบ.ว่าด้วยความผิดบางประการเกี่ยวกับทางเดินอากาศ พ.ศ.2558 อาจกล่าวได้ว่าการกระทำผิดต่อรถยนต์ รถไฟ เมื่อเทียบกับเครื่องบินไม่น่าจะเท่ากัน รถทัวร์ หรือรถไฟ หากมีปัญหาสามารถจอดข้างทางแล้วลงมาระงับเหตุได้ แต่เครื่องบินทำไม่ได้ หากมีเหตุที่ทำให้ผู้โดยสารตั้งแต่ 30 -400 คนได้รับอันตราย เกิดตกลงกลางเมืองอาจทำให้คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องตายอีกมากมาย ดังนั้นมันกระทบต่อคนวงกว้างมากๆ และถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายๆขึ้นไม่ได้เสียแต่เฉพาะสายการบิน แต่เสียชื่อเสียงประเทศด้วย"
ถามว่า สมควรให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลรักษาความปลอดภัยบนเครื่องบินหรือไม่
"กฎหมายฉบับใหม่กำหนดไว้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รักษาความปลอดภัยบนเครื่องบินระหว่างการบิน ความเห็นผมคือ ควรมี แต่จะมีอย่างไร รูปแบบไหนยังไม่แน่ใจ พูดตรงๆผมกลัวคนมีปืนขึ้นเครื่องบิน เพราะเราไม่รู้ว่าเขามีความเครียดอะไรก่อนขึ้นเครื่องหรือไม่ พักผ่อนเพียงพอไหม ทะเลาะเบาะแว้งกับใครมาหรือเปล่า สภาพจิตเขาเป็นอย่างไร อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ขนาดกัปตันและลูกเรือที่ผ่านการอบรมด้านจิตวิทยามาตั้งไม่รู้เท่าไหร่ยังมีปืนไม่ได้เลย การมีคนถือปืนอยู่บนเครื่องบินมันอันตรายมากๆ เพราะถ้าไม่ผ่านการกลั่นกรองอย่างถี่ถ้วน มันน่ากลัวยิ่งกว่าเก่าเสียอีก"
ทั้งหมดนี้คือมุมมองของ ณัฐกิตติ์ โสภาคดิษฐพงษ์ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและสายการบิน ที่แสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ
ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องตื่นตัว
ข่าวผู้โดยสารหนุ่มเคราะห์ร้ายถูกลงโทษดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ปรับหนัก อาจติดคุกหัวโต ซ้ำยังทำท่าจะถูกสายการบินฟ้องเรียกค่าเสียหายนับล้าน เล่นเอาใครหลายคนร้อนๆหนาวๆไปตามกัน
ดร.จุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน แนะนำวิธีที่ง่ายที่สุดคือ เวลาขึ้นเครื่องบิน จงเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทุกครั้ง
สอดคล้องกับความเห็นของ สถาวร เลิศสุวรรณกุล หัวหน้าภาควิชาธุรกิจการบิน คณะการท่องเที่ยวและโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ บอกว่า วัตถุประสงค์ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินนั้น ยึดเอาความปลอดภัยเป็นหลัก รองลงมาคือ อำนวยความสะดวกสบาย ดังนั้นอะไรก็ตามที่สุ่มเสี่ยงทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีหน้าที่ระงับและควบคุมไม่ให้เกิดขึ้น
"พรบ.ว่าด้วยความผิดบางประการเกี่ยวกับทางเดินอากาศ พ.ศ.2558 ถ้าไม่อยู่ในแวดวงการบิน คนคงไม่สนใจ เราควรใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้โดยสารว่าอะไรที่คุณทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด มีความผิด และจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย ถ้าจะให้ดี สายการบินต่างๆควรออกคู่มือเกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยบนเครื่องบินที่ผู้โดยสารควรรู้ แจกตอนเช็คอินพร้อมกับบอร์ดดิ้งพาสเลย ควบคู่กับการประกาศประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง การสื่อสารสำคัญมากครับ
สังคมไทยหยวนๆกันมาจนหลายเรื่องกลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนทุกวันนี้ ถ้ามีกรณีตัวอย่างและประกาศให้สาธารณชนรับรู้ว่าเขาทำอะไรผิด และถูกลงโทษอะไรบ้าง ให้คนเห็นว่าบังคับใช้กฎหมายจริงจัง เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นน้อยลง ไม่ใช่แถลงข่าวสำนึกผิด อ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปรับขั้นต่ำแล้วก็จบกันไป"
ขณะที่ ณัฐกิตติ์ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและสายการบิน กลับมองว่า รัฐควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องพรบ.ว่าด้วยความผิดบางประการเกี่ยวกับทางเดินอากาศ พ.ศ.2558 อย่างทั่วถึงมากกว่านี้
"สายการบินต่างๆมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ผู้โดยสารอยู่แล้ว ตั้งแต่ขั้นตอนโหลดกระเป๋า และเช็คอินว่า ห้ามนำสิ่งของอะไรขึ้นเครื่อง ห้ามโหลดสิ่งของใดไว้ใต้เครื่อง พอถึงที่นั่งปุ๊บ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินก็จะเดินให้คำแนะนำซ้ำอีก เช่น รัดเข็มขัดนิรภัย ห้ามวางสัมภาระไว้ใต้ที่นั่งหรือห้ามวางในบริเวณใด ห้ามสูบบุหรี่ในห้องโดยสารและในบริเวณใดบ้าง ห้ามใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดขณะนำเครื่องขึ้นลง ดังนั้นรัฐซึ่งเป็นผู้ออกกฎหมาย ควรประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ อย่าให้เป็นเหมือนกรณีข่าวดาราโพสต์ภาพเบียร์แล้วทะเลาะเบาะแว้งกันวุ่นวาย นั่นเป็นเพราะรัฐยังทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับตัวกฎหมายได้ไม่เพียงพอว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดต้องห้าม
กรณีล่าสุด ผมว่าเราต้องชมเชยการตัดสินใจของแอร์โฮสเตส หลายคนอาจมองว่าทำเกินกว่าเหตุ แค่แซวขำๆจะเอาให้ถึงติดคุกติดตะรางกันเลยหรือไง ลองมองกลับกันว่าหากหนุ่มคนนั้นแซวเล่นๆ และมีผู้โดยสารชาวไทยหรือชาวต่างชาติท่านอื่นได้ยิน แต่แอร์โฮสเตสยอมปล่อยให้ขึ้นบินไปถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่แจ้งเหตุดังกล่าวให้กัปตันทราบ หากข่าวออกไปว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินปล่อยปะละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องความปลอดภัย มันไม่ได้เสียแค่สายการบิน แต่เสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศไทยด้วย
อย่ามองเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ จะปล่อยผ่านไปไม่ได้เด็ดขาด ไม่อย่างนั้นกฎหมายฉบับนี้จะเป็นหมันทันที ประเทศไทยยังเป็นประเทศภาคีสมาชิกที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญา และอนุสัญญาเกี่ยวกับการบินพลเรือนระหว่างประเทศแทบทุกฉบับ และบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกต่างก็ยึดถือกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านการบินในลักษณะเดียวกัน การที่เราเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาต่างๆ ย่อมต้องผูกพันและมีภาระหน้าที่ในการออกกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามข้อผูกพันดังกล่าวด้วย
อย่าให้ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เรื่องเล็กบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องตื่นตัวเรื่องกฎหมายความปลอดภัยบนเครื่องบิน