โชว์ตัวก่อนเลือกตั้ง สูตรใหม่นายกรัฐมนตรี
คนที่จะเป็นนายกฯ จะถูกผ่านการเห็นชอบจากประชาชนมาทางอ้อม คนจะรู้ทั่วไปว่าพรรคนี้ถ้าเป็นรัฐบาลจะเสนอใครเป็นนายกฯ
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ได้มีการพิจารณาบทบัญญัติรูปแบบโครงสร้างในระดับการเมือง นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยเบื้องต้นกำหนดให้พรรคการเมืองต้องระบุรายชื่อบุคคลที่จะสนับสนุนเป็นนายกฯ ก่อนเลือกตั้ง 1-5 รายชื่อ โดยบุคคลที่ถูกเสนอชื่อจะเป็น สส.หรือไม่เป็น สส.ก็ได้ แต่ต้องได้รับการลงมติโดยเสียงข้างมากของสภาผู้แทนฯราษฎรด้วย และห้ามที่ประชุมสภาผู้แทนเสนอรายชื่อที่อยู่นอกเหนือบัญชีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังต้องไปพิจารณาเพิ่มว่าจะอนุญาตให้รายชื่อที่ประกาศก่อนเลือกตั้งซ้ำหรือไม่ และควรจัดลำดับของรายชื่อผู้ที่พรรคเสนอเพื่อเสนอเป็นนายกฯ หรือไม่
“ศุภชัย เยาวประภาส” กรธ.ในฐานะรองประธานอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร นำเสนอแนวคิดต่อที่ประชุม กรธ.ว่า รูปแบบโครงสร้างทางการเมืองนั้น ระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยคือ ระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข ส่วนนายกฯ ต้องมาจากความไว้วางใจของสภา โดยมีที่มาอย่างน้อย 3 ทางเลือก คือ 1.มาจากผู้ที่เป็น สส. 2.บุคคลใดๆ ก็ตามที่มีคุณสมบัติครบถ้วน 3.ผู้ที่มีชื่อปรากฏในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกฯ
อย่างไรก็ตาม ในทางเลือกที่ 3 พบว่ามีข้อดีคือ นายกฯ ต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ของสภา และประชาชนได้เห็นรายชื่อก่อนตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง จึงไม่ใช่ไอ้โม่งที่ไหนมาก็ได้ ถือว่ามีทางเลือกให้ประชาชนมากขึ้น และรู้ล่วงหน้าก่อนลงคะแนน แต่เห็นว่าแนวทางนี้มีจุดอ่อนคือ ในภาวะที่บ้านเมืองวิกฤต ทางเลือกจะถูกจำกัดเฉพาะรายชื่อที่มีการเสนอมาก่อนหน้านั้นเท่านั้น ประชาชนที่มาใช้สิทธิอาจยังไม่ชิน และการมีบัญชีว่าที่นายกฯ เพิ่มเข้ามาเป็นเรื่องใหม่อาจทำให้ประชาชนสับสน ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างนิติ บริหาร ยังคงเหมือนเดิม คือสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และนายกฯ ยุบสภาได้
“ทางเลือกที่ 1 นั้น มีออสเตรเลีย สิงคโปร์ และหลายช่วงในประเทศไทยเคยใช้ทางเลือกที่ 2 มีในประเทศอังกฤษ และประเทศไทยช่วงปี 2502 2511 2515 2519 2520 และ 2534 ก็ใช้ ส่วนทางเลือกที่ 3 กำหนดผู้มีชื่อในบัญชีที่พรรคเสนอนั้น แปลว่าตอนเลือกตั้งแต่ละพรรคจะต้องเสนอชื่อคนที่พรรคนั้นประสงค์ให้เป็นนายกฯ 1-5 ชื่อให้ประชาชนรับรู้ และแจ้งให้ กกต.จดบันทึกไว้ หากพรรค 1 บวก 2 ก็จะมีรายชื่อไม่เกิน 10 คน พบว่าประเทศอิสราเอลเคยใช้เมื่อปี ค.ศ. 1999-2001 แต่ประเทศไทยยังไม่เคยใช้โดยตรง เพียงแต่ที่ผ่านมามีการรณรงค์ให้ประชาชนรับรู้ว่ารายชื่อลำดับที่ 1 ของบัญชีรายชื่อ คือผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ”ศุภชัย ระบุ
จากนั้นที่ประชุม กรธ.ได้แลกเปลี่ยนถกเถียงในเรื่องที่มานายกฯ โดยส่วนใหญ่เห็นคล้อยตามแนวทางที่ 3 คือไม่จำกัดว่าจะต้องเป็น สส.เท่านั้น แต่ต้องมาจากที่ประชุมสภาผู้แทนฯเป็นคนเลือก และเลือกจากรายชื่อที่พรรคการเมืองประกาศไว้ล่วงหน้าตอนหาเสียงเท่านั้น ศุภชัย กล่าวอีกว่า ในอนุกรรมการฯ มีการถกกันว่าแนวทางนี้จะมีปัญหาการเสนอชื่ออีกประเด็นหนึ่งคือ พรรคใหญ่อาจจะได้เปรียบ เพราะรายชื่อที่จะเสนอนั้นต้องได้ความยินยอมจากผู้ถูกเสนอด้วย อาจทำให้พรรคเล็กหาคนที่ยินยอมได้ยากกว่า จึงเสนอว่าควรกำหนดว่าให้มีรายชื่ออย่างน้อย 1 คน ไม่เกิน 5 คน ส่วนประเด็นว่าพรรคการเมืองต่างพรรคจะเสนอชื่อซ้ำได้หรือไม่นั้น เห็นว่าถ้ามีการเสนอชื่อซ้ำประชาชนก็จะได้รู้แต่แรกว่าพรรคนี้เป็นพรรคสาขาหรือนอมินีของอีกพรรค
“มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. กล่าวว่า ประเทศไทยวนเวียนกับปัญหานายกฯ ต้องเป็นหรือไม่เป็น สส. เพราะปัญหาเกิดจากวิกฤตในอดีตทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน แต่การกำหนดว่านายกฯ ต้องมี สส.ก็มาคิดว่าเมื่อให้ผู้แทนทั้งสภาเลือกแล้ว แล้วจะไปกำหนดอีกทำไมว่าจะต้องเป็น สส.เท่านั้น ซึ่งในอดีตไม่มีหลักประกันว่าประชาชนเห็นด้วยที่จะให้ สส.คนนั้นเป็นนายกฯ หรือไม่ ทั้งนี้ หากจะให้เลือกนายกฯ โดยตรงมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะจะเกิดปัญหายุ่งยากตามมา จึงคิดว่าวิธีที่อนุกรรมการฯ เสนอเป็นการประสมประสานออมชอม คือพรรคต้องไปหารือว่าจะเสนอใครมาให้ประชาชนเห็นว่า หากตั้งรัฐบาลแล้วจะเอาใครมาเป็นนายกฯ แปลว่าวันที่ไปลงคะแนนจะรู้ทั้งใครจะเป็น สส. และใครจะมีโอกาสมาเป็นนายกฯ วิธีนี้น่าจะทำให้ประชาธิปไตยเดินก้าวอีกขั้น
มีชัยยังได้สรุปข้อดีของแนวทางที่ 3 คือ 1.คนที่จะเป็นนายกฯ จะถูกผ่านการเห็นชอบจากประชาชนมาทางอ้อมแล้ว โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจดแจ้งรายชื่อไว้ที่ กกต.แล้วไปโฆษณาหาเสียงได้ คนจะรู้ทั่วไปว่าพรรคนี้ถ้าเป็นรัฐบาลจะเสนอใครเป็นนายกฯ 2.ถ้าเราให้เขาเสนอได้มากกว่า 1 ชื่อ โอกาสเลือกเขาจะมีมากขึ้น เพราะ ณ วันที่เลือกตั้งอาจคิดว่าหมายเลข 1 เป็น แต่หลังเลือกตั้งเกิดง่อยเปลี้ยเสียขาหรือมีอันเป็นไปก็ไม่รู้ทำไง เขาก็ยังมีตัวเลือกอื่น 3.ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเลือกใครตามอำเภอใจมาเป็นนายกฯ โดยที่ประชาชนไม่รู้เห็นมาก่อน เพราะถูกจำกัดไว้ด้วยรายชื่อ 4.ประชาชนไปลงคะแนนจะมีความหมายมากขึ้น เลือกทั้งคนทั้งพรรคทั้งนายกฯ ด้วยบัตรใบเดียว 5.พรรคจะได้รับการมองจากประชาชนที่เข้มงวดขึ้น เพราะต้องคิดอ่านล่วงหน้าว่าเมื่อชนะจะเอาใครมาเป็นนายกฯ
ขณะเดียวกัน ในเบื้องต้นควรจะมีเงื่อนไขคือ 1.การเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นมติของพรรคการเมืองนั้น ไม่ใช่ใครหรือผู้บริหารพรรคกำหนดเอง 2.ผู้ที่ถูกเสนอชื่อต้องยินยอมด้วย และ 3.รายชื่อที่เสนอไว้จะเอามาลงมติเพื่อให้เป็นนายกฯ ได้ จะต้องมาจากรายชื่อของพรรคที่มี สส. ในสภาอย่างน้อยจำนวนหนึ่งเท่านั้น เพื่อป้องกันการตั้งพรรคเพียงเพื่อเสนอชื่อ แต่ทั้งหมดยังไม่ใช่ข้อสรุปของ กรธ.เป็นเพียงแนวโน้มที่เห็นคล้อยไปทางรูปแบบนี้