“คลองโอ่งอ่าง”...เมื่อย่านแออัดกลายเป็นสวรรค์ริมน้ำ
จากสะพานเหล็กสู่ "คลองโอ่งอ่าง" แลนมาร์คใหม่ของคนกรุง
เรื่อง...ศศิธร จำปาเทศ / ภาพ...เสกสรร โรจนเมธากุล, กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร
โฉมใหม่ของ"คลองโอ่งอ่าง"กลายเป็นภาพที่ใครต่อใครต้องร้องว้าว
หลังภูมิทัศน์โดยรอบถูกปรับเปลี่ยนจากความแออัดไร้ระเบียบของย่านสะพานเหล็ก แหล่งค้าขายเกมชื่อดัง สู่สวนหย่อมริมคลองอันโปร่งโล่งสบาย ดึงดูดให้มาเดินเล่มกินลมชมวิว พักผ่อนหย่อนใจ ไม่ต่างจากแลนด์มาร์คใหม่ของคนเมือง
ไม่น่าเชื่อว่าจะมีวันนี้ได้...
สวย สะอาด เป็นระเบียบ(แต่เงียบเหงา)
ตามประวัติ คลองโอ่งอ่างถูกขุดขึ้นตั้งแต่สมัยสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นคลองเส้นเดียวกับคลองบางลำพู คลองสะพานหัน คลองวัดเชิงเลน เป็นคลองช่วงสุดท้ายก่อนบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา สาเหตุที่เรียกคลองโอ่งอ่าง สันนิษฐานว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นสถานที่ขายภาชนะดินเผาโอ่งอ่างจากชาวจีนและชาวมอญ กระทั่งปี พ.ศ.2525 คณะรัฐมนตรีสั่งให้เรียกชื่อคลองตลอดสายว่าคลองรอบกรุง ต่อมาเมื่อตลาดสะพานเหล็กถือกำเนิดขึ้น ส่งผลให้คลองแห่งนี้ต้องพลัดพรากจากแสงแดดนานถึง 30 ปีเต็ม
สมชาย แซ่เซียว ชาวไทยเชื้อสายจีนวัย 56 ปี เจ้าของร้านเศรษฐกรโลหะกิจ ร้านขายอุปกรณ์เครื่องครัวเก่าแก่กว่า 30 ปี เล่าว่า อยู่มาตั้งแต่เกิด สมัยก่อนเป็นตลาดโต้รุ่ง ขายปลา ขายกับข้าว ซึ่งหลังจากเกิดตลาดสะพานเหล็ก ภาพมุมสูงที่มองลงมาจากตึกก็เต็มไปด้วยร้านค้าแออัดยัดแน่น ไม่เคยเห็นผืนน้ำอีกเลย
“ผมไม่เคยเห็นน้ำในคลองเลยตั้งแต่เด็กตั้งแต่มีตลาด เห็นแต่อะไรไม่รู้เต็มไปหมด แออัดมาก คนเยอะ มองลงมาเจอแต่หลังคาสังกะสี การเข้ามาจัดระเบียบครั้งนี้ ทำให้คลองดูโล่ง สะอาดตา มีระเบียบ ถ้าไม่เข้ามาจัดระเบียบก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าวันนี้จะเป็นอย่างไร"
กษมา เกตุเพ็ชรกำจาย วัย 62 ปี ผู้อาศัยอยู่ในย่านคลองโอ่งอ่างมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หลังจากอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เจ้าของกิจการสหโกสินทร์ ค้าขายและรับผลิตตู้อลูมิเนียมมากว่า 60 ปี ให้มุมมองทั้งสองด้าน ในฐานะอดีตผู้ค้าขายในตลาดสะพานเหล็กและผู้อยู่อาศัยที่มีหลังบ้านติดกับสะพานเหล็ก
เธอบอกว่า ก่อนจะมีตลาด คลองมีแต่โคลนเลน ไม่มีใครใช้เรือ เพราะสกปรกเลอะเทอะ กลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว ต่อมามีการประมูลพื้นที่ทำตลาดค้าขายทั้งหมด 12 สะพาน โดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการต่อเติมจนแออัดอย่างที่เห็น
“เมื่อก่อนไม่มีคนเดินเลย สมัยนั้นร้านค้าข้างในยังหายใจสะดวกไม่แออัดเหมือนตอนรื้อถอน คลองเริ่มมีปัญหาเพราะร้านค้าข้างในเริ่มเยอะ ทางเดินก็เหลือน้อย เกิดเพลิงไหม้ง่ายและใช้ไฟเยอะมาก เพราะร้านค้าพากันติดแอร์ และหันคอมแอร์มาทางด้านหลังบ้านเรา ลมร้อนจากคอมแอร์ก็เป่ามาทางบ้านเราทำให้ร้อนมาก คลองสกปรก กลิ่นเหม็นมาก เพราะไม่เคยโดนแสง คนแถวนี้แทบหายใจไม่ได้”
กษมามองว่า การเข้ามาปรับภูมิทัศน์ของกทม.ครั้งนี้ มีทั้งผลดีและเสีย ด้านหนึ่งได้ทำให้เกิดความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่อีกด้านหนึ่ง การไม่มีร้านค้าริมคลอง ทำให้บริเวณคลองแห่งนี้เงียบเหงาและไม่คึกคัก เสมือนพื้นที่ไร้ชีวิตผิดกับเมื่อวันวาน
“ในฐานะผู้ค้าย่านสะพานเหล็กและอาศัยมาที่นี่ตั้งแต่เด็ก คนที่ไม่มีแผงร้านค้าจะเข้าข้างผู้รื้อถอนมากกว่า เขาไม่ใช่คนค้าขายในพื้นที่ อาจจะไม่เข้าใจ เช่นเดียวกันกับกรณีที่ย้ายคลองถม หากไม่ได้เป็นผู้ค้าก็รู้สึกดีที่ทำให้รถไม่ติด แต่มันก็ทำให้การค้าเงียบเหงา ทางออกควรจะแก้ปัญหา โดยหาที่ขายใหม่ให้กับผู้ค้าด้วย ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม คิดว่าการจัดระเบียบนั่นเป็นผลดีกับแหล่งน้ำและอากาศมากขึ้น แต่จะให้กลับไปใสสะอาดเหมือนแม่น้ำเลยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะคลองอยู่ใกล้บ้านเรือน อยู่ในเมือง จะให้น้ำใสสะอาดคงยาก”
ปฐมฤกษ์...วันลอยกระทง
หลังถูกเนรมิตปรับโฉม วันนี้พื้นที่สองโดยรอบคลอง สะอาด โล่ง มองแล้วสบายตาผิดกับเมื่อก่อนชนิดหน้ามือเป็นหนังมือ โดยทางกรุงเทพมหานครถือฤกษ์ดีจัดงานเทศกาลลอยกระทงที่คลองโอ่งอ่าง ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี
โชค จิวะอุดมทรัพย์ ประชาชนผู้มาร่วมงานลอยกระทง เล่าว่า ภาพความสวยงามแบบนี้ชวนให้นึกถึงอดีตวัยเด็ก
“ผมอยู่แถวนี้มานาน เคยเห็นคลองตอนเด็กๆ แต่พอเป็นตลาดแล้วไม่เคยเห็นน้ำเลย เห็นแต่ร้านค้า เมื่อกทม.เข้ามาจัดระเบียบก็รู้สึกดี ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ทำให้พื้นที่ตรงนี้กลับมามีความสวยงาม สะอาด เรียบร้อย เป็นพื้นที่ให้พักผ่อนสำหรับคนกรุงเทพฯ หากมีเวลาว่างก็จะมาเดินเล่น เพราะเป็นสวนสาธารณะที่ใกล้บ้านที่สุด”
แม้วันนี้คลองโอ่งอ่างจะแปรเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม แต่ลูกค้าเจ้าประจำร้านเกมสะพานเหล็กยังกลับมาถ่ายรูปในวันที่แหล่งชอปปิ้งของเขากลายเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่
ศุภชัย พีรเมธางกูร บอกว่า กลับมาครั้งนี้ได้ความรู้สึกแปลกตา เรียกว่าตั้งแต่เกิด เพราะเพิ่งเคยเห็นน้ำในคลองโอ่งอ่าง เป็นโอกาสดีที่เปิดคลองให้ประชาชนเข้ามาชมทัศนียภาพเป็นวันแรกในคืนลอยกระทง
“เมื่อทราบข่าวว่าจะรื้อสะพานเหล็กก็เสียดาย แต่ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ทุกการเปลี่ยนแปลงนั้นมีคนเสียประโยชน์ แต่ถ้าประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นของส่วนรวมก็เป็นสิ่งที่ดี”
ขณะที่ สุ ภาษีเนตร บอกว่า ตอนแรกรู้สึกใจหายที่ได้ยินข่าวอวสานสะพานเหล็ก แต่หลังจากรื้อถอนก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น น้ำในคลองไม่เน่าเหม็น กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
อนาคตคลองโอ่งอ่าง คนกรุงต้องช่วยกันดูแล
สมชัย ไตรพิทยากุล ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวว่า หลังจากการปรับภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง ได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนอย่างล้นหลาม
"หลังจากนี้สำนักงานโยธาและผังเมืองจะออกแบบการปรับภูมิทัศน์ใหม่ให้กับสองฝั่งคลอง ตั้งใจว่าจะให้เป็นสวนสาธารณะไว้ให้ประชาชนเดินเล่น อนาคตพื้นที่ตรงนี้จะร่มไปด้วยต้นไม้และน้ำที่ใสสะอาด"
ผอ.เขตพระนคร ฝากขอความร่วมมือจากประชาชน ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้รักษาลำคลองโอ่งอ่าง รวมถึงแหล่งน้ำอื่นๆด้วย
“คลองรอบกรุงเป็นคลองที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ด้าน เพราะฉะนั้นน้ำจะไหลตลอดเวลา เราได้ทำควบคู่ไปกับการปรับสภาพน้ำด้วยน้ำชีวภาพ บำบัดน้ำเสียเพิ่มออกซิเจน ดูแลรักษาสภาพคลองให้ดีขึ้น ที่ผ่านมาได้ทดลองวิธีนี้ที่คลองบางลำพูพบว่าน้ำดีขึ้น ปลาเริ่มกลับมาอยู่บริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่พยายามเต็มที่ขอให้ภาคประชาชนร่วมมือด้วย โดยเฉพาะบ้านพักอาศัยและร้านค้าสองฝั่งคลอง ควรจะมีบ่อบำบัดน้ำเสีย ก่อนปล่อยน้ำลงคลอง”
ช่างน่าติดตามเหลือเกินว่า วันพรุ่งนี้ของคลองโอ่งอ่างจะเป็นอย่างไรต่อไป ภายใต้การดูแลของพี่น้องประชาชนคนกรุง.