posttoday

เทคโนเวิลด์

29 พฤศจิกายน 2558

แฮโรลด์ ฮาส ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ ได้ประดิษฐ์ Li-Fi เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายรูปแบบใหม่

Li-Fi อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรูปแบบใหม่

แฮโรลด์ ฮาส ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ ได้ประดิษฐ์ Li-Fi เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายรูปแบบใหม่ ด้วยการใช้แสงไฟกะพริบในการส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีความเร็วกว่า Wi-Fi ถึง 100 เท่า โดยลักษณะการทำงานของเครื่องส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต Li-Fi จะคล้ายกับการส่งรหัสมอส โดยใช้การเปิด-ปิดหลอดไฟด้วยความเร็วสูง ซึ่งทำให้สามารถส่งข้อมูลด้วยความเร็วถึง 224 กิกะบิต/วินาที หรือหมายความว่าสามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์ขนาด 1.5 กิกะไบต์ จำนวน 18 เรื่อง ในเวลาแค่ 1 วินาทีเลยทีเดียว ทั้งนี้หลอดไฟของเครื่องส่งสัญญาณดังกล่าวสามารถกะพริบได้ด้วยความเร็วที่ตาเปล่าไม่สามารถมองเห็นได้ จึงไม่ต้องกังวลกับปัญหาที่มีแสงกะพริบรบกวนขนาดทำงาน

นาซ่าพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อภารกิจดาวอังคาร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์และมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์นของสหรัฐ ได้รับการคัดเลือกจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซ่า) เพื่อให้พัฒนาหุ่นยนต์ “อาร์ไฟว์ วัลคีรี่” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ ใช้สำหรับการปฏิบัติงานในฐานะนักบินอวกาศในอนาคต ด้วยงบประมาณ 2.5 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 9 ล้านบาท) พร้อมทั้งการช่วยเหลือทางเทคนิคจากทีมงานของนาซ่า ทั้งนี้ นาซ่าคาดหวังว่า 2 มหาวิทยาลัยดังกล่าว จะวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จำเป็นในการส่งหุ่นยนต์ "อาร์ไฟว์ วัลคีรี่" ไปยังดาวอังคาร เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมของดาวอังคารและสิ่งที่จำเป็นอื่นๆ สำหรับการเดินทางไปยังดาวอังคารของมนุษย์ต่อไป

หน้าจอสมาร์ทโฟนใหม่ประหยัดแบตเตอรี่

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด อังกฤษ เปิดเผยว่า ได้คิดค้นหน้าจอทัชสกรีนจากวัสดุประเภทกักเก็บความร้อน หรือเรียกว่า “วัสดุเปลี่ยนเฟส” ซึ่งสามารถช่วยประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ โดยอาจใช้เวลาในการชาร์จเพียงแค่ 1 ครั้ง/สัปดาห์เท่านั้น รวมทั้งยังให้ภาพที่มีสีสดและความคมชัดสูงแม้ในที่แสงสว่างมาก ทั้งนี้ กระจกหน้าจอทัชสกรีนดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้กับการผลิตเลนส์แว่น กระจกรถยนต์ หรือแม้แต่ผลิตจอประสาทตาสังเคราะห์ ทั้งนี้ทีมพัฒนาได้เจรจากับผู้จำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่บางรายเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากหน้าจอประหยัดพลังงานสามารถนำมาใช้ได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า จะทำให้ผู้คนไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนทุกวันอีกต่อไป

เทคโนเวิลด์

 

พัฒนาไส้กรอกช่วยลดความเสี่ยงมะเร็ง

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุนด์ แคนาดา เปิดเผยว่า กำลังพัฒนาไส้กรอกเพื่อช่วยลดการก่อโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น โดยทำการทดลองนำส่วนผสมอย่างผักและเบอร์รี่ผสมลงในไส้กรอก พบว่าสารแอนติออกซิแดนต์หรือ “สารต่อต้านอนุมูลอิสระ” ที่อยู่ในผักและผลไม้ ช่วยให้การรับประทานเนื้อสัตว์ปลอดภัยมากขึ้น ทั้งยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวถือว่าเป็นก้าวสำคัญ หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิ้ลยูเอชโอ) ได้จัดประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปให้อยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยทีมวิจัยจะยังคงทำการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะนำไปทดลองกับสัตว์เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการรับประทานไส้กรอกจะปลอดภัยกับมนุษย์