posttoday

การเมืองไทยยุคหลัง‘เสนาธิปไตย’

20 ธันวาคม 2558

ประเทศไทยเป็น “เสนาธิปไตย” ซ้อน “อำมาตยาธิปไตย”

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

ประเทศไทยเป็น “เสนาธิปไตย” ซ้อน “อำมาตยาธิปไตย”

“อำมาตยาธิปไตย” แปลว่า “ข้าราชการเป็นใหญ่” ที่หมายถึงระบบราชการทั้งระบบและรวมถึงทหารนั้นด้วย แต่ “เสนาธิปไตย” เจาะจงเอาแค่ทหาร โดยแปลว่า “ทหารเป็นใหญ่”

ทุกวันนี้เราอยู่ในยุค “เสนาธิปไตย” แม้จะยังไม่เห็นว่ายุคนี้จะจบสิ้น (หรือพังลง) เมื่อไร แต่ถ้ายุคนี้หมดไป ก็มีผู้สงสัยว่าจะมีใครที่มีอำนาจเหนือทหารมาปกครองเมืองไทยได้หรือไม่ ผู้เขียนในฐานะที่สอนรัฐศาสตร์ ก็ต้องตอบตามทฤษฎี (และต้องพูดดีๆ) ว่า “มี” ส่วนจะเป็นใครก็ขอให้ติดตามอ่านบทความนี้ให้ตลอด เพราะใครที่ว่านี้มีอยู่หลายคนหลายกลุ่ม

ในทฤษฎีระบบ (System Theory) ของวิชารัฐศาสตร์ที่กล่าวถึงพัฒนาการทางการเมือง มองว่าระบบการเมืองมีระบบ “ใหญ่-ย่อย” หลากหลาย สัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน ซึ่งในแนวคิดสมัยใหม่จะไม่แยกระบบต่างๆ เหล่านี้ออกจากกัน ระบบเหล่านี้ก็ได้แก่ ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และระบบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดเป็น “ระบบใหญ่” ส่วน “ระบบย่อย” ก็คือส่วนของระบบใหญ่ที่มีการจัดแยกออกไปด้วย เหตุที่ทำหน้าที่ต่างกัน เช่น ในระบบการเมือง ก็แยกเป็น ระบบรัฐสภา ระบบบริหาร ระบบศาล อย่างนี้เป็นต้น

นอกจากนี้ ในระบบการเมืองยังมีกลไกหรือระบบย่อยๆ ที่ทำหน้าที่เสริมในส่วนต่างๆ เช่น ระบบราชการช่วยทำหน้าที่ในระบบบริหาร แต่ในบางประเทศ เช่น ประเทศไทย ระบบราชการนั้นใหญ่โตมาก ทั้งด้านจำนวน คือ คนที่เป็นราชการ (รวมทุกกระทรวงทบวงกรมมีมากกว่า 2 ล้านคน) ด้านอำนาจ คือ การเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย และด้านอิทธิพล คือ การยอมรับของประชาชน ตั้งแต่เคารพนับถือตามธรรมดา จนถึงขั้นเกรงกลัวยอมสยบ จึงทำให้ระบบราชการมีอำนาจมากที่สุดในระบบการเมืองไทย อย่างที่เราเรียกว่า “อำมาตยาธิปไตย” แต่พอมองลึกเข้าไปอีกก็พบว่ากลุ่มข้าราชการที่มีอำนาจสูงสุดและเข้มแข็งที่สุดก็คือทหาร ที่ผู้เขียนเรียกว่า “เสนาธิปไตย” นี้

ทหารจึง “น่ากลัว” ที่สุดในทางการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม ความน่ากลัว (หรือใช้ภาษาที่สุภาพว่า “น่าเกรงขาม”) ของทหารไทยน่าจะกำลังลดลง ด้วย “กระแส” ทางการเมืองภายในและภายนอกประเทศหลายๆ เรื่อง ดังนี้

หนึ่ง “ความตรากตรำ” ที่ทหารได้ผ่านมรสุมหรือการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน ส่วนใหญ่แม้จะประสบความสำเร็จในการทำรัฐประหาร แต่ก็ประสบความล้มเหลวในการทำงาน โดยเฉพาะกับคำว่า “ปฏิรูป” ที่คณะรัฐประหารของไทยใช้มาโดยตลอด และทุกครั้งที่ประสบความล้มเหลวนั้น ทหารก็บอบช้ำมากขึ้นเรื่อยๆ จากความไม่น่าเชื่อถือที่คนไทยมอบให้

สอง “เครือข่ายทางการเมือง” ที่ทหารได้เข้ามายุ่งเกี่ยวในทุกส่วนทุกโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนระบบเศรษฐกิจและสังคม ในทางหนึ่งทหารก็คิดว่าเป็นผลดีที่มีเครือข่ายมากมาย แต่ในทางตรงข้ามกลับทำให้ทหารประสบความยุ่งเหยิงในการตัดสินใจ โดยเฉพาะเมื่อได้เข้ามามีอำนาจทางบริหาร และทำให้เครือข่ายเหล่านั้น “ดูแคลน” ฝีมือทหาร

สาม “พฤติกรรมของผู้นำทหาร” ที่ท้ายที่สุดก็ไม่พ้นระบบอุปถัมภ์แบบทหารๆ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” หรือต้องเลี้ยงดู “แบ่งปัน” กันไป มิฉะนั้นก็จะไม่ได้รับการเคารพนับถือ สิ้นความเป็น “พี่ใหญ่” แต่เนื่องจากทหารได้เข้ามาอยู่ใน “มหาสมุทรผลประโยชน์” นานๆ เข้า ก็จะหมดความเป็นทหารอาชีพ ที่สุดก็จะ “เน่า” เหมือนวงการตำรวจ เสื่อมความศรัทธาในที่สุด

สี่ “โลกล้อมประเทศ” ด้วยแนวคิดสากลที่ว่า ทหารเป็นเพียงหน่วยความมั่นคง ดังนั้นโลกโดยรอบจึงประณามระบบการปกครองที่นำโดยทหาร เพราะถือว่าไม่ใช่หน้าที่ ไม่มีความรู้เรื่องปกครองบ้านเมือง แม้ทหารไทยจะบอกว่า ทหารในประเทศเรานี้เป็นหลักในการปกครองมาหลายร้อยปี แต่ในมุมกลับกันก็จะถูกมองได้ว่า เพราะทหารนี่แหละที่ทำให้ประเทศไทยยังล้าหลัง

ดังนั้น จึงมีหลายๆ คนคิดไปว่าหลังการเลือกตั้ง (ถ้ามี) ในปี 2560 “เสนาธิปไตย” หรือระบบทหารเป็นใหญ่นี้อาจจะจบลง ส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่านี่คือวิธีลงจากอำนาจของทหาร เพราะถึงอย่างไรก็คงร่างรัฐธรรมนูญได้ไม่ดีนัก การทำประชามติคงผ่านอย่างทุลักทุเล (หรืออาจจะมีการแก้รัฐธรรมนูญไม่ให้มีประชามติ) แต่ก่อนที่ทหารทั้งหลายจะเสื่อมเสียไปมากกว่านี้ จึงตัดสินใจให้มีเลือกตั้ง เพื่อถอยฉากตัวเองออกไป แต่อีกส่วนหนึ่งก็เชื่อว่าน่าจะหมดยุค “ความเข้มแข็ง” ของทหารแล้ว จากความเสื่อมนานัปการ ทหารอาจจะล้มครืนไปเอง เช่น การคอร์รัปชั่น การแตกแยกในแม่น้ำ 5 สาย รวมถึงการแปรพักตร์ของทหารบางกลุ่มหลัง “สถานการณ์บางอย่าง” เปลี่ยนไป

แล้วใครจะขึ้นมามีอำนาจแทนทหาร

หนึ่ง “กลุ่มการเมืองหน้าเก่า” ทั้งกลุ่มของอาชญากรต่างแดน เจ้าพ่อก๊กก๊วนในภูมิภาค พรรคเก่าแก่ และพวกขอแบ่งบุญ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะชนะเลือกตั้ง หรือรวบรวมกลุ่มก๊วนต่างๆ ได้มากแค่ไหน โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้งแบบใด

สอง “กลุ่มเสพติดอำนาจ” ได้แก่ คนที่อยู่ในกระบวนการปฏิรูปตั้งแต่ 2540 และเพิ่มมากขึ้นในการรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง พวกนี้จะสร้างกระแสว่า “มีภารกิจสืบเนื่อง” โดยจะเข้าไปอยู่ในส่วนอำนาจในองค์กรที่มีการแต่งตั้งหรือสรรหาเป็นส่วนใหญ่

สาม “กลุ่มสร้างตัวตน” ได้แก่ คนที่ต้องการพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมือง อิสระชน คนรุ่นใหม่ รวมถึงคนที่เป็นบริวารของคน 2 กลุ่มแรก เพื่อโหนกระแส หรือสร้างกระแสเอง โดยเชื่อกันว่าด้วยนิวเมียเดียทั้งหลายจะช่วยให้เกิดคนกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

สี่ “กลุ่มคุณธรรมใหม่” เป็นกลุ่มที่ไม่แสดงออก หรือไม่แสดงตัวตน แต่จะมีอิทธิพลอยู่ในสังคมที่เป็นพลังเงียบ ส่วนหนึ่งมีแนวคิดที่ต่อต้านการเมืองในรูปแบบเก่าๆ อีกส่วนหนึ่งต้องการที่สร้างหรือรอคอย “การเมืองใหม่” ที่คาดหวังกันว่าจะดีและงดงามกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 กลุ่มนี้ จะมีอยู่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศไทย เพราะอีก 90 เปอร์เซ็นต์นั้น จะยังมีลักษณะ “ผู้ตาม” หรือว่าตามผู้นำในทั้ง 4 กลุ่มข้างต้น นั่นก็คือการเมืองหลังยุคเสนาธิปไตย จะกลับไปอยู่ในสภาพ “สงครามแย่งชิงประชาชน” เหมือนที่เคยเป็นมา แต่มวลมหาประชาชนกลุ่ม 90 เปอร์เซ็นต์นี้จะฉลาดมากขึ้น เนื่องจากได้ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองในแบบเก่ามาพอสมควร ในขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังที่มากขึ้น

อย่างหนึ่งก็คือ หวังว่าทหารจะไม่มายุ่งการเมืองอีก