"ล้างใบสั่ง 100 บาท"...คืนความสุขหรือทำกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์?
มองต่างมุม"โครงการล้างใบสั่ง 100 ราคาเดียว" คืนความสุขหรือลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย?
เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล
หลังจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลเปิดโครงการ "ล้างใบสั่ง 100 บาทราคาเดียว" ด้วยการให้คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรออกใบสั่ง และยังไม่ได้จ่ายค่าปรับ สามารถนำใบสั่งมาจ่ายค่าปรับได้ในราคา 100 บาท ถือเป็นการคืนความสุขให้แก่ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังกระหึ่มตามมาทันที
บ้างดี๊ด๊าลิงโลดเพราะเสียเงินเพียงแค่ร้อยบาท บ้างแสดงความไม่พอใจมองว่าไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน อีกจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมในการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ล้างไพ่ใบสั่ง 100 บาทขาดตัว
"โครงการล้างใบสั่ง 100 ราคาเดียว" เป็นไอเดียริเริ่มมาจากสถานีตำรวจนครบาลลำผักชี โดยให้ประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สน.ลำผักชี ออกใบสั่งในข้อหาความผิดเล็กน้อย และยังไม่ได้จ่ายค่าปรับ สามารถนำใบสั่งมาจ่ายค่าปรับได้ในราคา 100 บาท
ผลตอบรับดีเกินคาด ประชาชนแห่มาจ่ายค่าปรับกันอย่างคึกคักกว่า 200-300 คนจากใบสั่งทั้งหมดกว่า 2,000 ใบ
เมื่อเป็นเช่นนี้ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รรท.ผบช.น.) จึงได้สั่งการให้กองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 และกองบังคับการตำรวจราจร รวมทั้ง 88 สน.ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามโครงการดังกล่าว เพื่อให้แนวทางปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
"โครงการล้างใบสั่ง 100 บาทราคาเดียว จะดำเนินการในเฉพาะความผิดที่กำหนดโทษปรับไว้ไม่เกิน 1,000 บาทเท่านั้น เช่น ไม่สวมหมวกนิรภัย อุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบ ไม่พกใบอนุญาตขับขี่ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งเป็นข้อหาเบาที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ส่วนรวม ส่วนข้อหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชน เช่น จอดรถกีดขวางทาง ขับรถอันตรายน่าหวาดเสียว ขับรถบนทางเท้า นำรถที่ด้อยสมรรถนะมาขับ เมาแล้วขับ ข้อหาเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตราย และมีอัตราโทษอยู่แล้ว 400 บาทขึ้นไป อันนี้ล้างไม่ได้ เพราะเป็นผลของกฎหมาย
นอกจากนี้ยังจะช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนไปก่อความผิดซ้ำซ้อน กรณีที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่และไปแจ้งความเท็จ เพราะบางคนเวลาโดนออกใบสั่งและยึดใบขับขี่ มักใช้วิธีไปแจ้งความว่าใบขับขี่หายเพื่อไปขอทำใหม่ แบบนี้มีความผิดแจ้งความเท็จโทษสูงถึงจำคุกถึง 2 ปี ตรงนี้เป็นที่น่าห่วงมากว่าจากความผิดเล็กๆ น้อยๆ แค่ปรับไม่กี่บาทจะกลายเป็นต้องถูกจำคุก 3 เดือนเพราะแจ้งความเท็จ"
โครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.2558 -15 ม.ค.2559
เน้นข้อหาเบา-จัดระเบียบพวกรู้เท่าไม่ถึงการณ์
พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) อธิบายว่า โครงการล้างใบสั่ง 100 บาทราคาเดียว แบ่งเป็น 2 กลุ่มความผิดคือ 1.ความผิดเฉพาะตัว ไม่ก่อความเดือดร้อนต่อส่วนรวม เช่น ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่พกพาใบขับขี่ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน อุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบ เปลี่ยนแปลงสภาพรถ ไม่มีสำเนาเล่มจดทะเบียนรถ ไม่ติดเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีและพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นต้น ข้อหาเหล่านี้กฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ ปรับแค่ 100 บาท
2.ความผิดที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม เช่น จอดรถกีดขวางการจราจร ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ขับรถลักษณะกีดขวางการจราจร ขับรถประมาทหรือหวาดเสียว แซงรถอื่นในที่คับขัน เลี้ยงรถหรือกลับรถในที่มีเครื่องหมายห้าม เดินรถผิดช่องทางเดินรถ เมาแล้วขับรถ เป็นต้น ข้อหาเหล่านี้ยังคงปรับอัตราสูงเช่นเดิม
"สาเหตุที่เราปรับน้อย 100 บาทราคาเดียว เพราะอยากจะชักจูงให้คนเข้ามาอยู่ในกติกา ให้โอกาสปรับปรุงเรื่องวินัยจราจร ถึงเวลาแล้วประชาชนจะต้องเข้ามาคุยกับตำรวจ และตำรวจเองก็ต้องชี้แจงว่าประชาชนทำผิดกฎจราจรอย่างไร จะมีการสอบถาม เก็บข้อมูล ตักเตือน รวมทั้งทำหนังสือพันธะสัญญาระหว่างผู้ที่กระทำกฎหมาย(MOU) โดยมีข้อตกลงกันว่าจะไม่กระทำความผิดในครั้งต่อไปอีกด้วย ไม่ใช่จ่ายเงินเสร็จแล้วกลับบ้านเฉยๆ
เรามุ่งเน้นไปยังคนที่กระทำผิดกฎจราจรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วสร้างทัศนคติวินัยจราจรให้ใหม่ คนกลุ่มนี้มีเป็นจำนวนมากที่ทำผิดกฎจราจรเพราะความไม่รู้ ดังนั้นถ้าเราดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในโครงการ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายจราจร ผมขอเรียนว่าเงินค่าปรับไม่สำคัญเท่าการดึงประชาชนให้เข้ามาอยู่ในกรอบกติกา วันนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ถ้าปล่อยผีล้างไพ่ใบสั่งแล้วคนยังทำผิดเหมือนเดิม อนาคตเราอาจไม่นำโครงการนี้กลับมาใช้อีกก็ได้"
คืนความสุขหรือย่ำยีกฎหมาย?
ท่ามกลางเสียงฮือฮากับโครงการสุดแหวกแนวของตำรวจ อีกด้านหนึ่งยังมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการล้างใบสั่ง 100 บาทราคาเดียว
"ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ใบสั่งที่มีค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาทมีอายุความแค่หนึ่งปีเท่านั้น ขณะนี้มีใบสั่งจำนวนไม่น้อยใกล้จะหมดอายุความแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันมีใบสั่งที่คั่งค้างสะสมไม่มีผู้ไปจ่ายค่าปรับถึง 1 ล้านใบ เนื่องจากสมัยก่อนด่านลอยเยอะ คนที่โดนใบสั่งจึงรู้สึกว่าไม่ชอบธรรม จึงไม่ยอมไปจ่ายค่าปรับ หรือการออกใบสั่งด้วยการแปะหน้ารถ โดยไม่ยึดใบขับขี่ ทำให้คนไม่เกรงกลัวเลยไม่ยอมไปจ่าย รวมทั้งประเด็นเรื่องการออกใบสั่งปลอมโดยไม่มีผู้กระทำผิด ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินกำลังตรวจสอบอยู่ ทั้งหมดนี้ผมตั้งข้อสังเกตว่า โครงการล้างใบสั่ง เข้าทำนอง 'กำขี้ดีกว่ากำตด' พูดง่ายๆคือยอมลดค่าปรับเพื่อให้ได้เงินน้อยดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
อีกเหตุผลคือ ทุกใบสั่งมีการกำหนดราคาค่าปรับไว้หมดแล้ว จู่ๆจะมาลดราคาเหลือ 100 บาท แก้ค่าปรับใบสั่งเอาดื้อๆตามใจแบบนี้ ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สิ่งถูกต้องที่ตำรวจควรทำคือ ต้องบังคับใช้กฎหมายให้ประชาชนผู้กระทำผิดมารับทราบข้อกล่าวหา และลงโทษปรับอย่างเด็ดขาด ไม่ใช่เอากฎหมายมาใช้ทำการตลาด จัดโปรโมชั่นลดราคา แล้วต่อไปใครเชื่อถือกฎหมาย การทำแบบนี้ทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์"
อัจฉริยะ บอกต่อว่า จากสอบถามความเห็นไปยังประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่มองว่าไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่เคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามกฎจราจรมาโดยตลอด
"ส่วนใหญ่มองว่าไม่เป็นธรรม มีที่ไหนคนทำผิดกลับหยวนๆลดราคาให้ แต่กลับไม่ยอมดำเนินการลงโทษอย่างจริงจัง ทำให้คนทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย ต่อไปเวลาโดนใบสั่ง ยังไม่ต้องจ่าย รอปีใหม่ค่อยจ่ายทีเดียว พวกที่ตื่นเต้นดีใจนี่คือพวกที่ทำผิดทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ไม่เป็นธรรมต่อคนที่เคารพกฎหมาย ถ้าตำรวจขืนแบบนี้ต่อไป การรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกให้เคารพกฎจราจรที่ทำมาก็ไร้ค่าเปล่าประโยชน์"
โครงการล้างใบสั่ง 100 บาทราคาเดียวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงความเหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมายว่า ความหวังที่อยากจะคืนความสุขแก่ประชาชน อาจทำให้กฎหมายเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงอย่างไม่รู้ตัว.
อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์