“เรไรรายวัน” เอาใจแฟนเพจ รวมเล่มผลงานบันทึกรายวันนักเขียนตัวน้อย วัย 7ขวบ
“ศุ บุญเลี้ยง” ร่วมงานเปิดตัว บอกเล่าความประทับใจที่มีต่อ “เรไร” ขณะที่ พ่อ-แม่ เผยเคล็ดลับ ที่ทำให้หนูน้อย คิดเป็นเขียนเป็น ชี้ผู้ใหญ่รอบข้างมีส่วนสำคัญ ช่วยกระตุ้น สร้างพัฒนาการทางความคิดที่ดี
“ศุ บุญเลี้ยง” ร่วมงานเปิดตัว บอกเล่าความประทับใจที่มีต่อ “เรไร” ขณะที่ พ่อ-แม่ เผยเคล็ดลับ ที่ทำให้หนูน้อย คิดเป็นเขียนเป็น ชี้ผู้ใหญ่รอบข้างมีส่วนสำคัญ ช่วยกระตุ้น สร้างพัฒนาการทางความคิดที่ดี
เวลา 14.00 น. วันที่ 25มี.ค. ที่ร้านหนังสือก็องดิด คลองสาน กรุงเทพฯ เด็กหญิงเรไร สุวีรานนท์ (น้องต้นหลิว) วัย 7 ขวบ เจ้าของผลงานบันทึกประจำวัน “เรไรรายวัน” ที่นำเสนอผ่านโซเชียลมีเดีย ทางเพจ “เรไรรายวัน” ได้รับความนิยมโด่งดังในโลกออนไลน์ตั้งแต่กลางปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ด้วยยอดไลค์กว่า 80,000 ไลค์ แถลงเปิดตัวหนังสือที่รวบรวมผลงานเขียน ในงาน “เรไร รายวัน Writing is Thinking: การเขียนคือการคิด
เรไรเล่าว่า หลังจากเขียนบันทึกมานานกว่า 200 วัน ปัจจุบันสามารถคิดแล้วลงมือเขียนได้ทันทีแล้ว ต่างจากเมื่อก่อนที่เธอต้องคิด พูดปากเปล่าเล่าเรื่องให้แม่ฟัง แล้วถึงเขียน พร้อมเป็นกำลังใจให้เพื่อนๆ ที่ชื่นชอบการเขียน ให้เริ่มต้นลงมือเขียน ไม่ต้องกลัวว่าจะสะกดคำถูกหรือผิด
ประชา สุวีรานนท์ คุณพ่อเรไร ซึ่งเป็นนักเขียนและนักออกแบบชื่อดัง กล่าวว่า งานเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิดผ่านตัวหนังสือ ซึ่งการเขียนนั้นนอกจากจะเป็นการสื่อสารไปยังผู้อื่นแล้ว ยังจะทำให้ผู้เขียนบูรณาการความคิดของตัวเองให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน
“การเขียนมีประโยชน์สองอย่าง หนึ่งเพื่อสื่อสารกับคนอื่น สองเพื่อตนเอง นั่นคือ เพื่อทำให้ความคิดของตนให้ชัดเจนขึ้น และกระตุ้นตนเองให้ปรับปรุงสิ่งนั้น ตามปกติ การจะเอาความคิดสองความติดมาวางแบไว้ตรงหน้าและเปรียบเทียบกันได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอถูกเขียนออกมา การเปรียบเทียบจะง่ายขึ้น สิ่งที่คลุมเครือจะชัดเจนและเป็นรูปธรรมขึ้น และเมื่อความคิดออกมาวางอยู่บนหน้าจอหรือหน้ากระดาษ เราจะเข้าใจความสัมพันธ์ของความคิดสองอันมากขึ้น และในที่สุดการจะสื่อสารกับคนอื่นได้นั้น ก็ต้องเริ่มจากความคิดที่ชัดเจนนั่นเอง พูดง่ายๆ การเขียนทำให้เรไรคิดเป็น” นายประชา กล่าว
ชนิดา สุวีรานนท์ คุณแม่เรไร เล่าว่า จุดเริ่มต้นการเขียนบันทึกของเรไร คือได้เข้าร่วมโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ รุ่นที่ 1 ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อกลางปี 2558 จากนั้นคุณแม่ก็ตั้งใจจริงที่จะทำให้เรไรรักการเขียน โดยสร้างบรรยากาศในการเขียนให้เป็นช่วงเวลาดีๆ ทำให้เรไรมีความสุข สนุก และรู้สึกมั่นใจที่จะบอกเล่าทุกเรื่องราวในความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างอิสระ ในช่วงแรกคุณแม่ต้องสวมบทผู้ฟังที่ดี มีส่วนร่วมเกินร้อย โอนอ่อน และป้อนคำถามกระตุ้นความคิดของเรไรแบบฉากต่อฉาก และสิ่งสำคัญคือการป้อนคำชม ซึ่งน้องเรไรไม่ได้มีแค่พรสวรรค์ แต่มีพรแสวง ด้วยวินัยในการเขียน รวมถึงผู้ใหญ่รอบข้างช่วยชี้แนะจนทำให้พัฒนาการเขียนได้ดี คุณแม่เชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนก็สามารถเขียนแบบเรไรได้ และเริ่มได้ทันทีเมื่อพร้อม เพราะสิ่งที่จะเขียนนั้น คือ จากบอกเล่าความคิดของเด็กนั่นเอง
ทั้งนี้ในงานแถลงข่าว “ลุงจุ้ย” หรือ ศุ บุญเลี้ยง หนึ่งในแฟนเพจเรไรรายวัน ได้มาบอกเล่า ความประทับใจผลงานนักเขียนตัวน้อย ในฐานะที่ชอบเขียนหนังสือเหมือนกันว่า การเขียนถือว่ายาก แต่การเขียนทุกวันนั้นยากกว่า ซึ่งเรไรน่าสนใจที่เขียนงานได้ต่อเนื่องทุกวัน และมีการเรียบเรียงความคิดที่เป็นระบบ มีเสน่ห์ที่รักษาความเป็นเด็กไว้ และสามารถขมวดคิดปมหาเหลี่ยมมุมที่จะจบ แส่วนตัวจึงสนใจที่จะติดตามเพจเรไรรายวันทันทีที่ทราบข่าว เพราะอยากรู้ความเป็นไปในแต่ละวัน และการปลูกฝังของครอบครัวที่ทำให้รักการเขียน ซึ่งการที่เรไรมีแฟนเพจเกือบแสนคนนั้น นับว่าเป็นเด็กที่มีความสามารถที่ไม่ธรรมดา ทั้งนี้ เห็นว่าการเขียนเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเด็ก เพราะการเขียนเป็นการจัดระบบความคิดของตนเอง และเป็นเครื่องมือที่จะสื่อสารไปยังคนอื่น หากฝึกฝนพัฒนาและนำไปใช้จะมีแต่เกิดประโยชน์ และนำมาซึ่งศักยภาพอื่นๆที่จะตามมา
สำหรับผลงาน “เรไรรายวัน” เป็นหนังสืออีกเล่มที่น่าจับตาเพราะได้รับการกล่าวขานว่า เป็นหนังสือที่ทรงพลังเล่มหนึ่ง ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ เยาวชน รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 ที่กำลังจะมีขึ้นปลายเดือนมีนาคมนี้