เปลี่ยนประชามติร่างรธน. เป็นศึกชี้ชะตาคสช.
ณ จุดนี้ต้องเรียกได้ว่ากระบวนการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนญกำลังเริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ
โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย
ณ จุดนี้ต้องเรียกได้ว่ากระบวนการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนญกำลังเริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ หลังจาก พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งหมายความว่านับจากนี้ไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานใหญ่ครั้งนี้จะเริ่มลำดับการทำงานเพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมากที่สุด
แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่อาจสามารถมองข้ามไปได้ คือ การต่อสู้ในทางการเมือง ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะไม่ได้มีเฉพาะก่อนประชามติเท่านั้น เพราะมีแนวโน้มว่าจะลากยาวไปถึงหลังวันประชามติด้วย ไม่ว่าผลการออกเสียงจะเป็นอย่างไรก็ตาม
คำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้ประเมินสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นผ่านการให้สัมภาษณ์พิเศษกับโพสต์ทูเดย์ไว้อย่างสนใจ โดยด้านหนึ่งมองว่าการออกมาของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจต้องรับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ผมว่าเป็นธรรมชาติอยู่แล้วที่จะต้องมีการเคลื่อนไหวออกมาแบบนี้ แต่เป็นเรื่องที่คาดการณ์ยากว่าผลการทำประชามติจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่า คสช.น่าจะรับได้ในทั้งสองสถานการณ์ แน่นอนว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านได้มันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้าไม่ผ่าน จะบอกว่าไม่กระทบกับ คสช.เลยก็เป็นไปไม่ได้”
“แต่ถามว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปตามที่ คสช.ต้องการทั้งหมดหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่ เพราะว่าถ้าเราดูจากข้อเสนอของ คสช.ที่เสนอมาให้ กรธ. (คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่า กรธ.จะปรับแก้ แต่ก็ปรับแก้ไขน้อยมาก ในที่สุดก็เลยเกิดคำถามประชามติคำถามที่สองออกมา แต่ถึงแม้จะมีคำพ่วงออกมา ผมดูตัวคำถามแล้วก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรนัก แม้คำถามที่สองจะผ่านความเห็นชอบจากประชาชนก็ตาม”
ส่วนผลกระทบที่ คสช.จะต้องเจอ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คำนูณ คิดว่า “ตอนนี้ คสช.หรือรัฐบาลพยายามวางตัวอยู่เหนือร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช.ร่างขึ้นมาเอง ต้องชี้แจงให้ชัดว่าแม้แต่ คสช.ขอมาครั้งสุดท้ายก็ยังได้รับไปนิดหน่อย เพราะฉะนั้นต้องทำให้เกิดประเด็นหรือความชัดเจนขึ้นมาว่าการประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่ประชามติพอใจหรือไม่พอใจ คสช. แต่เป็นเรื่องประชามติว่าพอใจหรือไม่พอใจร่างรัฐธรรมนูญ เพราะว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คสช.ไม่ได้เป็นผู้ร่าง และก็มีหลักฐานปรากฏชัดเป็นหนังสือของ คสช.ที่ส่งถึง กรธ.เมื่อวันที่ 13 มี.ค.”
“ถ้ามันเกิดความชัดเจนขึ้นมาว่าการประชามติเป็นการประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. มองโดยทั่วไปก็เหมือนว่าไม่เกี่ยวกับ คสช. เพียงแต่ว่าตามธรรมดาของการเลือกตั้งขนาดใหญ่หรือการลงประชามติ ผู้คนหรือสื่อมวลชนมักจะตีความว่าผลของการประชามติเป็นการสะท้อนความรู้สึกทางการเมืองของประชาชนต่ออำนาจรัฐในขณะนั้น”
แสดงว่าฝ่ายการเมืองกำลังพยายามใช้เกมนี้เพื่อบอกว่าการประชามติเป็นการประชามติว่าพอใจหรือไม่พอใจ คสช.? คำนูณ ตอบว่า “แน่นอน มันต้องเป็นอย่างนั้น ฝ่ายการเมืองที่ต่อต้าน คสช.ก็ต้องใช้ผลของการประชามติที่จะออกมา แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ แต่หากบังเอิญสมมติมีเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญประมาณ 10 ล้านเสียง ก็จะมีการบอกว่าคน 10 ล้านเสียงไม่พอใจ คสช. ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น ดังนั้น คสช.ก็ต้องมีปฏิบัติการทางข่าวสารให้ประชาชนเข้าใจว่าแม้ว่า คสช.จะเป็นผู้แต่งตั้ง กรธ. แต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นของ กรธ.อย่างอิสระ”
ทั้งนี้ ในทัศนะของคำนูณยังเชื่อว่าแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติ แต่สุดท้ายการเลือกตั้ง สส.ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในปี 2560 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.กำหนดไว้
“คำพูดที่ยิ่งใหญ่ของหัวหน้า คสช.ที่เข้ามาและพูดย้ำตลอดเวลาว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่ในปี 2560 ผมว่าเป็นคำพูดที่ยากจะเป็นอื่น ถึงร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน มันก็มีวิธีการที่สามารถจะทำได้อีก แต่เป็นวิธีการใด จะต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 อีกครั้งหนึ่ง”
“ผมเชื่อว่าหลายคนคงคาดเดาได้ว่าเป็นวิธีการที่ไม่ใช่วิธีการแบบเดิม และไม่จำเป็นต้องไปลงประชามติอีกครั้งหนึ่ง เป็นวิธีการที่อาจจะคล้ายๆ กับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 คือ ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับมาปรับแก้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน อาจจะโดย คสช.เองหรือโดยคณะกรรมการก็สามารถทำได้ภายใต้เวลาที่กำหนด ระยะเวลายังเหลือ เพราะผลประชามติจะออกมาภายในเดือน ส.ค. จะมีเวลาอีกหนึ่งปีครึ่งในการดำเนินการ”
“ผมว่าคงหนีไม่พ้นรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ 2540, 2550, ฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ และฉบับปัจจุบัน แต่นี่เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่”
ขณะเดียวกัน อีกประเด็นหนึ่งที่คำนูณให้ความสนใจ คือ ทิศทางของประเทศไทยหลังจากการทำประชามติ โดยวิเคราะห์ว่าประเทศไทยจะอยู่ในระบบประชาธิปไตยระยะเปลี่ยนผ่านไปอีก 5-6 ปี แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถยอมรับได้ เพียงแต่ช่วงระยะเวลานับจากนี้ คสช.จำเป็นต้องเร่งให้เกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ที่มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม
“โดยภาพรวมน่าจะเป็นที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะอยู่ในสภาพการณ์ที่เป็นระบอบประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่านไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ประมาณ 5 ปี บวกอีก 1 ปีเศษ เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าเป็นความต้องการและเป็นมุมมองที่ทาง คสช.มองไว้ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับรอลงประชามติก็เขียนชัดเจนไว้ในบทเฉพาะกาล”
“เชื่อว่าโดยภาพรวมใหญ่ ประชาชนส่วนข้างมากก็น่าจะพอรับได้กับสถานการณ์ที่เป็นอย่างนี้ เพราะมีความรู้สึกเบื่อหน่ายความขัดแย้งและการต่อสู้ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าสิ่งที่จะต้องคำนึงคู่ควรกันไป คือ เมื่อได้ระยะเวลาไปแล้ว อย่าลืมว่าตั้งแต่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาจนถึงเวลานี้เกือบ 2 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องเร่งและต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรม คือ ต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง หรือปฏิรูปประเทศในเรื่องใหญ่ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่พี่น้องประชาชนจับต้องได้ สัมผัสได้ หรือก่อให้เกิดผลที่มันเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศจริงๆ”
“เป็นเรื่องท้าทายนะ กับเวลาที่ได้ไป ได้มาแล้วเกือบ 2 ปี และกำลังจะต่อไปอีก 5-6 ปี ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะต้องยอมรับว่าระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา และอีก 5-6 ปีที่กำลังจะเข้ามา เป็นระยะเวลาที่เอื้อให้รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลต่อไปสามารถที่จะทำงานได้สะดวกและเต็มที่มากกว่ารัฐบาลในระบอบการเมืองตามปกติ”
“อย่างน้อยระยะเวลา 1 ปีกว่าๆ หลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นที่เป็นที่ประจักษ์ การเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิรูป ซึ่งจะว่าเป็นเวลาที่น้อยก็น้อย แต่มองอีกก็เป็นเวลาที่ไม่ใช่น้อยเลย เพราะเป็นระยะเวลาที่มีอำนาจพิเศษอยู่ในมือ โดยอย่างยิ่งมาตรา 44 อยู่ในมือจนถึงมีรัฐบาลใหม่ ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนสนับสนุน คสช.โดยตรงหรือไม่อาจสนับสนุนแต่อยากเห็นบ้านเมืองมีความสงบ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมชัดเจน”
สำหรับการปฏิรูปเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในความหมายของคำนูณ คือ การปฏิรูปตำรวจและการกระจายอำนาจ
“ตำรวจเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นต้น ถ้าสามารถทำตรงนี้ให้เกิดขึ้นและไม่มีข้อกังขาใดๆ ได้ และเป็นหลักประกันของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจริงๆ ผมว่ามันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่อื่นๆ ตามมา แต่เราจะตกลงกันให้ชัดก่อน”
“ตลอดชีวิตตั้งแต่ที่ผมโตขึ้นมา ก็มีการพูดถึงการปฏิรูปตำรวจมาโดยตลอด แต่ว่าก็ไม่เคยทำได้อย่างชนิดที่เรียกว่าเป็นสารัตถะจริงๆ คือ เมื่อถึงวันนี้อย่างน้อยที่สุดมันต้องมีแผน ผมเข้าใจว่าที่ทางรัฐบาลมองว่าไม่อยากจะไปแตะเรื่องโครงสร้างในช่วงนี้ เพราะว่าอยากให้ตำรวจทำงานให้ได้ก่อน แต่ถามว่าถ้าภายใต้ในสภาวะที่มีอำนาจพิเศษเช่นนี้ยังไม่สามารถทำได้ แล้วจะไปทำได้ตอนไหน การไม่แตะในทันทีมันอาจจะเป็นไปได้ แต่อย่างน้อยมันต้องมีแผน”
“ต้องยอมรับว่าบทเรียนของนานาอารยประเทศ ระบอบประชาธิปไตยมันจะมีความมั่นคงสถาพรได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสร้างระบอบประชาธิปไตยในระดับประเทศระดับบนอย่างเดียว แต่จะต้องก้าวขึ้นมาจากระดับท้องถิ่น ดังนั้นเรื่องตำรวจเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและต้องมีแผนชัดเจน วันนี้ 5 ปีนี้อาจจะแตะโครงสร้างใหญ่ไม่ได้ แต่ในยุทธศาสตร์ 20 ปี มันจะต้องฉายภาพให้เห็น”
“ดังนั้นโดยรวมแล้วประเทศไทยจะอยู่ในสภาวะที่มีระบอบพิเศษและกึ่งพิเศษรวมๆ แล้วเกือบ 8 ปี เมื่อนับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เพราะฉะนั้นในระยะเวลานี้จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ชนิดที่เป็นการปฏิรูปให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ และถ้ายังสร้างไม่ได้ มันก็ต้องมีแผนชัดเจนที่จะต้องเกิดขึ้นให้มองเห็นชัดเจน ไม่เช่นนั้นมันก็จะทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์”