ดีเอสไอพบอีกเช็คกว่า400ล. คดีคลองจั่นโอนวัด-ธัมมชโย
ดีเอสไอพบอีกเช็ค 7 ฉบับกว่า 400 ล้านบาท คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นโอนเข้าวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย ขณะที่ปธ.แผนฟื้นฟูฯเผย30 มิ.ย.จ่ายเงินคืนสมาชิกครั้งแรก3.76% ของมูลหนี้กว่า 18,000 ล้านบาท
ดีเอสไอพบอีกเช็ค 7 ฉบับกว่า 400 ล้านบาท คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นโอนเข้าวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย ขณะที่ปธ.แผนฟื้นฟูฯเผย30 มิ.ย.จ่ายเงินคืนสมาชิกครั้งแรก3.76% ของมูลหนี้กว่า 18,000 ล้านบาท
วันที่ 21 มิ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายประกิต พิลังกาสา ประธานกรรมการบริหารลูกหนี้และผู้ทำแผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจำกัดเดินทางเข้าพบกับพ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ และพ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร เพื่อรับมอบเช็คที่ดีเอสไอตรวจพบเพิ่มเติมในคดีฟอกเงิน
พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าวว่า วันนี้ ตัวแทนสหกรณ์ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อหาแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับคดีที่สหกรณ์เป็นผู้เสียหายและกรณีที่พนักงานสอบสวนตรวจพบเช็คสั่งจ่ายให้วัดพระธรรมกายและพระธัมมโยเพิ่มเติม เพื่อส่งมอบให้สหกรณ์นำไปฟ้องแพ่งเรียกเงินคืน โดยยืนยันว่าจากพยานหลักฐานก่อนหน้านี้มีน้ำหนักเพียงพอในการสั่งฟ้องคดีฟอกเงินกับผู้เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีที่สรุปสำนวนสั่งฟ้องไปแล้วคดีแรกต้องรออัยการมีความเห็นในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนยังเดินหน้าติดตามตัวผู้ต้องหาตามหมายจับซึ่งมีอายุความ 15 ปี และขออย่ากังวลกรณีที่ไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาสั่งฟ้อง เพราะอัยการสามารถสั่งสำนวนในส่วนที่มีผู้ต้องหาก่อนได้ ส่วนที่เหลือหากได้ตัวค่อยสั่งฟ้องเพิ่ม
ด้านพ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินก่อนหน้านี้จะพบว่ามีเช็คสั่งจ่ายให้พระและเครือข่ายวัดกว่า 600 ล้านบาท แต่ต่อมาพบเพิ่มขึ้นรวมกว่า 1,200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพนักงานสอบสวนตรวจสอบพบเช็คเพิ่มเติมอีก 7 ฉบับ มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ดังนั้น ยอดเงินที่มีการแจ้งข้อกล่าวในคดีดังกล่าวจึงมีจำนวน 1,458 ล้านบาท จากเช็ครวม 27 ฉบับ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาดีเอสไอเคยประสานขอข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เพื่อขอทราบว่าพื้นที่ภายในวัดพระธรรมกายว่ามีพื้นที่ส่วนใดเป็นธรณีสงฆ์ส่วนใดเป็นของมูลนิธิ แต่ยังไม่ได้รับข้อมูล นอกจากนี้ดีเอสไอยังมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่รับบริจาคมาอย่างละเอียดโดยธุรกรรมการเงินระบุชัดว่าเงินแต่ละก้อนถูกนำไปใช้ในกิจการใดบ้าง
ขณะที่นายประกิต กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สหกรณ์ได้ทำการฟ้องแพ่งและทำสัญญาประนอมหนี้กับวัดพระธรรมกายแล้วประมาณ 20 ฉบับ แบ่งเป็น 2 ชุด ชุดแรกกว่า 10 ฉบับ วงเงิน 684 ล้านบาท และชุดที่ 2 อีก 18 ฉบับ วงเงิน 370 ล้านบาท ในส่วนของชุดแรกได้รับเงินครบแล้ว ส่วนชุดที่ 2 ได้นำเช็คงวดแรกไปขึ้นเงินแล้ว 20 ล้านบาท เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เหลืออีก 350 ล้านบาท จะทยอยจ่ายคืนทุกเดือน ซึ่งเช็คทั้งหมดสามารถขึ้นเงินได้ปกติยังไม่พบว่ามีปัญหา โดยทราบว่าเงินที่นำมาชำระคืนนั้นเป็นเงินของกองทุนศิษย์ ไม่ใช่เงินของวัดหรือพระ สำหรับเช็คที่ดีเอสไอตรวจพบเพิ่มอีก 7 ฉบับ มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท สหกรณ์จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะยังไม่เห็นตัวเช็ค
นายประกิต กล่าวอีกว่า ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ สหกรณ์เตรียมจ่ายเงินคืนให้สมาชิกเป็นครั้งแรกหลังไม่สามารถเบิกเงินได้มานานกว่า 3 ปี โดยการจ่ายเงินเป็นไปตามแผนฟื้นฟูที่กำหนดให้ต้องทยอยจ่ายคืนปีละ 2 ครั้ง ซึ่งกำหนดจะจ่ายครั้งแรก 3.76% ของมูลหนี้กว่า 18,000 ล้านบาท ตั้งวงเงินไว้กว่า 600 ล้านบาท สำหรับการจ่ายเงินจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือสมาชิกหลัก จำนวนกว่า 5,000 ราย กลุ่มดังกล่าวจะจ่ายในจำนวน 3.76 % ของมูลหนี้ และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มฝากเงินไม่เกิน 10,000 บาท มีประมาณ 13,000 ราย จะจ่ายคืนทั้งหมด และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มสหกรณ์ รวม 74 สหกรณ์ จะจ่ายเท่ากลุ่มสมาชิกหลักคือ 3.76 % จากนี้จะกำหนดจ่ายคืนอีกครั้งในเดือนธ.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้ ( 21 มิ.ย.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ได้ส่งคณะทำงานเข้าหารือกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เพื่อดำเนินการทางแพ่งกับทรัพย์สินของวัดพระธรรมกายและพระธัมมโย โดยระบุว่าเป็นรายละเอียดในสำนวนไม่สามารถเปิดเผยได้ ทั้งนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามหมณ์กุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังได้เดินทางเข้าพบกับพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อหารือแผนจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับด้วย