ผลสำรวจชี้คนไทยมอง "การทำสงครามยาเสพติด" แก้ปัญหาไม่ยั่งยืน
ทีไอเจเผยผลสำรวจพบคนไทยมองปัญหายาเสพติดรุนแรงมากถึงมากที่สุด มองการทำสงครามยาเสพติดเป็นวิธีแก้ปัญหาไม่ยั่งยืน
ทีไอเจเผยผลสำรวจพบคนไทยมองปัญหายาเสพติดรุนแรงมากถึงมากที่สุด มองการทำสงครามยาเสพติดเป็นวิธีแก้ปัญหาไม่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือทีไอเจ เผยผลสำรวจ “ทีไอเจโพล” ซึ่งร่วมกับสำนักวิจัย ซูเปอร์โพลทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในหัวข้อ “สงครามยาเสพติดในความเห็นของสาธารณชน” ในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 1,121 ตัวอย่าง (ระหว่างวันที่ 11-14 ส.ค.) พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.9 ระบุปัญหายาเสพติดรุนแรงค่อนข้างมากถึงมากที่สุด มีเพียงร้อยละ 11.1 ที่ระบุว่ารุนแรงค่อนข้างน้อยหรือไม่รุนแรงเลย
ขณะที่ร้อยละ 64.8ระบุสภาพปัญหายาเสพติดโดยรวมขณะนี้ควบคุมไม่ได้ มีเพียงร้อยละ 35.2 ที่ระบุว่าควบคุมได้ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 74.5 ระบุการทำสงครามยาเสพติดเป็นการแก้ปัญหาช่วงสั้นๆ จากนั้นจะกลับมารุนแรงกว่าเดิม ร้อยละ 55.3 และร้อยละ 19.2 ระบุการทำสงครามยาเสพติดไม่ใช่วิธีแก้ที่ยั่งยืน มีเพียงร้อยละ 25.5 ที่ระบุว่าการทำสงครามยาเสพติดเป็นการแก้ปัญหายั่งยืนไม่มีปัญหาอีกเลย
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.2 แนะให้ทำสงครามยาเสพติดกับผู้ค้ารายใหญ่และร้อยละ 65.4 ให้ทำสงครามยาเสพติดกับผู้ผลิต มีเพียงร้อยละ 26.6 และร้อยละ 21.1 ที่ระบุให้ทำสงครามยาเสพติดกับผู้ค้ารายย่อยและผู้เสพ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 68.8 เคยได้ข่าวผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเพราะสงครามยาเสพติดและเกินครึ่งหรือร้อยละ 53.9 ระบุการจับผู้เสพและผู้ครอบครองจำนวนน้อยเข้าคุกไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ดี ในขณะที่ร้อยละ 44.4 ระบุเป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผลสำเร็จดี
นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.8 ระบุวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับผู้เสพที่ไม่มีความผิดอื่นคือการบำบัดตามอาการ มีเพียงร้อยละ 31 ที่ระบุว่าการจับกุมคุมขังเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ผู้เสพไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัดด้วยตนเอง พบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ระบุผู้เสพกลัวถูกดำเนินคดีอาญา รองลงมาร้อยละ 38.5 คือกลัวอับอายเสียชื่อเสียงครอบครัว ร้อยละ 35.5 ระบุผู้เสพกลัวตกเป็นเครื่องมือหากินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และร้อยละ 33.8 ระบุผู้เสพคิดว่าหากจะเลิกก็สามารถเลิกเองได้ไม่ต้องพึ่งสถานบำบัดรองลงไปคือผู้เสพคิดว่ากระบวนการบำบัดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอกลัวถูกเข้าไปเป็นขบวนการค้า และไม่คิดว่าการเสพยาเป็นปัญหา
นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(ทีไอเจ) กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของทีไอเจเกี่ยวกับนโยบายการทำสงครามยาเสพติดของรัฐบาลที่ผ่านว่าการเน้นแต่ปราบปรามไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ควรต้องมีการแยกกลุ่มผู้เกี่ยวข้องให้ชัดเจน
อย่างไรก็ตามในวันที่ 18 ส.ค.นี้ จะมีการระดมความเห็น โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรมและรมว.สาธารณสุข เข้าร่วมเพื่อรวบรวมข้อมูลนำไปสู่การปรับปรุงนโยบายด้านยาเสพติดและการยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดต่อไป