posttoday

เปิดอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตฯ ดีเดย์ 1 ต.ค. เขี้ยวเล็บขจัดคนโกง

22 สิงหาคม 2559

ในที่สุดความพยายามผลักดันจัดตั้ง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแห่งแรกในประเทศ ก็เป็นผลสำเร็จ

โดย...เอกชัย จั่นทอง 

ในที่สุดความพยายามผลักดันจัดตั้ง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแห่งแรกในประเทศ ก็เป็นผลสำเร็จแล้ว หลังมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษามื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจังเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้ทุจริตอย่างจริงจัง

นิกร ทัสสโร ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญาคนแรกและคนสุดท้าย ในฐานะหนึ่งในคณะผู้พิพากษาที่ร่วมผลักดันก่อตั้งศาลคดีทุจริตฯ ร่วมกับผู้พิพากษาอีก 12 ท่าน บอกว่า การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางครั้งนี้จะทำให้แผนกดังกล่าวถูกยกขึ้นเป็นศาล คดีทุกคดีในศาลอาญาที่เข้าข่ายจากนี้ จะถูกโอนไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

ทั้งนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและพฤติมิชอบกลาง เตรียมเปิดทำการศาลในวันที่ 1 ต.ค. 2559 โดยมีอธิบดีผู้พิพากษา 1 คน และรองอธิบดีฯ อีก 3 คน นิกร ระบุว่า เมื่อตั้งศาลคดีอาญาทุจริตฯ ที่กรุงเทพฯ เสร็จ เชื่อว่า ในอนาคตจะขยายเปิดศาลอาญาคดีทุจริตภาค 1-9 ภายในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วประเทศที่ต้องเกี่ยวข้องกับคดีประเภทนี้ ทั้งที่เป็นโจทก์ จำเลย และต้องมาเป็นพยาน ซึ่งขณะนี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ

สำหรับองค์คณะพิจารณาคดีทุจริตฯ จะใช้ผู้พิพากษา 2 ท่าน คุณสมบัติของผู้พิพากษานั้น “ผู้พิพากษาหัวหน้าองค์คณะ” จะต้องเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมาก่อน ต้องมีประสบการณ์ทำงานอย่างต่ำ 20 ปี เฉลี่ยอายุระหว่าง 45-55 ปี ส่วน “ผู้พิพากษาองค์คณะ” ต้องมีประสบการณ์ทำงานอย่างต่ำ 10 ปี เฉลี่ยอายุ 36 ปีขึ้นไป

คดีที่เข้าสู่การพิจารณา แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.คดีอาญาที่เจ้าหน้าที่รัฐ ถูกกล่าวหา หรือร่วมเอกชน กระทำผิด เช่น ฮั้วประมูล 2.คดีทางแพ่ง ที่ขอให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน, คดีความผิดฐานฟอกเงิน, คดีร่ำรวยผิดปกติ และ 3.คดีเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ

ส่วนคดีที่เข้าสู่ศาลอาญาคดีทุจริตฯกลางมี 3 ช่องทาง 1.คดีสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 2.คดีสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ 3.ประชาชนผู้เสียหายฟ้องร้องเอง

ปัจจุบันมีคดีความเข้ามาสู่แผนกฯ เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ เฉลี่ย 2 วัน ต่อ 1 เรื่อง ต่อไปในอนาคตศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลางเพียงศาลเดียวที่มีอำนาจรับคดีทั่วประเทศ

ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีทุจริตฯ ท่านนี้ แจกแจงว่า ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลางไม่ได้เป็นแต่เพียงศาลที่ตั้งขึ้นใหม่เท่านั้น ยังมีระบบการพิจารณาใหม่ด้วย คือ ระบบไต่สวน โดยศาลมีหน้าที่สำคัญในการเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาจะเป็นผู้ซักถามพยานเอง คู่ความและทนายความจะถามได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล ต่างจากระบบกล่าวหาที่ใช้กันในปัจจุบัน

เรื่องภาระการพิสูจน์ยังคงตกอยู่แก่โจทก์ดังเดิม นอกจากนี้ระบบการพิจารณาของศาลใหม่จะมีสำนวนของ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. เป็นสำนวนหลักซึ่งอัยการสูงสุด หรือ ป.ป.ช.ในฐานะโจทก์ จะต้องนำมาส่งต่อศาลในวันยื่นฟ้อง ซึ่งศาลจะใช้สำนวนดังกล่าวเป็นแนวทางหรือเป็นหลักในการไต่สวน และตั้งคำถามที่สำคัญ

หลักวิธีพิจารณาที่สำคัญของศาลคดีอาญาทุจริตฯ มีหลายอย่าง ซึ่งนักกฎหมายและประชาชนจะต้องปรับตัวให้คุ้นเคย เริ่มตั้งแต่ คำถามที่จะถามพยาน ทุกฝ่ายสามารถใช้คำถามนำได้ การพิจารณาคดีโดยหลักมีเพียงสองชั้นศาล ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ คดีจะถึงที่สุดที่ศาลชั้นอุทธรณ์ ยกเว้นได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาถึงจะนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาได้ เช่น เป็นข้อกฎหมายใหม่ที่ศาลฎีกาต้องการวางบรรทัดฐาน หรือคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตจำเลย

ทั้งนี้ จำเลยที่ไม่ถูกคุมขัง หากต้องการยื่นอุทธรณ์ต้องมายื่นด้วยตัวเอง ไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นมายื่นแทนได้ ซึ่งเป็นความแตกต่างจากคดีอาญาปกติทั่วไป ในส่วนทรัพย์สินของกลางที่รับสินบน หรือติดสินบนกันมา กฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาเดิม ศาลถือหลักว่าของกลางนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ขอให้ริบ ศาลไม่สามารถริบได้ แต่กฎหมายวิธีพิจารณาคดีทุจริต ให้อำนาจศาลริบทรัพย์ของกลางได้ แม้โจทก์จะไม่มีคำขอให้ริบทรัพย์ก็ตาม

“ถ้าศาลไต่สวนแล้วพบว่ามีเงินในบัญชีเงินฝาก หรือมีทองคำ เป็นเงินหรือทรัพย์ที่ได้มาจากการทุจริต แต่โจทก์ไม่ได้ขอให้ริบ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการสืบสวนของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานใด”

เปิดอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตฯ ดีเดย์ 1 ต.ค. เขี้ยวเล็บขจัดคนโกง

นิกร บอกอีกว่า หากสภาผ่านกฎหมายนี้ในเรื่องการริบทรัพย์ ก็จะมีมาตรการที่เข้มข้นทางการบังคับแก่ทรัพย์ที่เป็นสินบน สมมติจำเลยรับสินบนเป็นทองคำมา แต่ทองคำเหล่านั้นสูญหายหรือถูกจ่ายโอนไป ก็ต้องชำระเงินแทน หากขัดขืนก็ต้องเสียดอกเบี้ย หรืออาจถูกคุมขัง และอาจถูกยึดทรัพย์สินมาขายทอดตลาดต่อไป “จึงกล่าวได้ว่า มาตรการริบทรัพย์นี้ แม้โกงเงินบาทเดียวก็เป็นความผิดและหนีไม่ได้”

นิกร ย้ำเจตนาส่วนตัวของเขาว่า อยากให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เรียกว่าไทยสุจริต คือการทุจริตนั้นจะไม่สามารถแก้ได้ ถ้าคนในสังคมไม่ให้ความร่วมมือ ยอมรับว่าระบบกฎหมายและศาลเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ

“ประเทศไทยทำไมดัชนีการทุจริตจึงสูงกว่าประเทศอื่น อาจเกิดจากความหย่อนยานทางจิตใจสำนึกในความซื่อสัตย์สุจริต และไม่ได้รับการปลูกฝัง เมื่อมาประกอบกับคิดถึงแต่ด้านวัตถุนิยม ที่มีการเคารพและให้ความสำคัญต่อคนรวยและความรวย ทั้งสองอย่างนี้จึงนำพาเป็นสังคมทุจริตโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว”

ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีทุจริตฯ ท่านนี้ ยังกล่าวเปรียบเปรยเรื่องความสุจริต ว่า บางคนรู้สึกว่า “จะให้เป็นคนสุจริตก็ได้ แต่ขอสุจริตเป็นคนสุดท้าย” เพราะ 1.ยังรู้สึกว่ายากจนอยู่ 2.คนอื่นก็ทุจริตเหมือนกัน 3.คนทุจริตยังไม่ถูกลงโทษ และ 4.ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ทุจริตก็ยังได้รับการยอมรับ แล้วเรายังจะยอมให้ประเทศไทยของเราเป็นแบบนี้ต่อไปอีกหรือไม่

เขาทิ้งท้ายว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่มีศาลประเภทนี้มากำจัดคนทุจริตเป็นการเฉพาะ ดังนั้น การที่ประเทศไทยต้องตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ เท่ากับเราใช้ต้นทุนและภาพลักษณ์ของประเทศไปแลกอยู่เหมือนกัน เพราะเท่ากับประเทศของเรามีคนทุจริตอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อถ่วงน้ำหนักแล้วเชื่อว่าการมีศาลอาญาคดีทุจริตฯ น่าจะดีกว่าไม่มี และในอนาคตก็หวังว่าอีกสิบปีข้างหน้าเราสามารถยุบศาลนี้ได้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่สุจริต จะไม่มีคดีทุจริตให้ต้องตัดสินกันอีกแล้ว