ทหารเคยปฏิรูปประเทศไทยหรือไม่
“ปฏิรูป” แปลว่า ทำให้ดีขึ้น “อย่างช้าๆ” ในสมัยที่ผู้เขียนเรียนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
“ปฏิรูป” แปลว่า ทำให้ดีขึ้น “อย่างช้าๆ”
ในสมัยที่ผู้เขียนเรียนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยได้ฟังการอภิปรายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในประเด็นที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 เป็นการปฏิวัติจริงหรือ?” โดยมีทั้งฝ่ายที่ยืนยันว่า “เป็น” กับฝ่ายที่บอกว่า “ไม่เป็น” ซึ่งนักวิชาการทั้งสองฝ่ายต่างก็มีข้อโต้แย้งที่น่าสนใจ ด้วยการอ้างทฤษฎีและเหตุผลทางวิชาการมากมาย
ฝ่ายที่เชื่อว่า เป็น ก็อธิบายว่า ปฏิวัติมาจากคำว่า Revolt ในภาษาอังกฤษ แปลว่า การหมุนไปอย่างรวดเร็ว (มีท่านหนึ่งเปรียบเทียบกับปืนลูกโม่ ที่เรียกว่า Revolver ที่มีการหมุนเปลี่ยนกระสุนยิงได้อย่างรวดเร็ว) โดยชี้แจงว่าจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า “อภิวัฒน์” ก็ได้ หรือการ “เปลี่ยนโฉม” อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า “เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ”
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย ก็แย้งว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เพียงแต่ถ่ายเทอำนาจมาจาก “กลุ่มอำนาจเก่า” คือกษัตริย์กับขุนนางที่เคยครองอำนาจอยู่ มาสู่ “กลุ่มอำนาจใหม่” คือขุนนางอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะเข้ามามีอำนาจ อีกทั้งก็ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง เพราะกษัตริย์ทรงยินยอมแต่โดยดี ทั้งนี้การปฏิวัติจะต้องมีการต่อสู้อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่ของไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว การครอบงำอำนาจโดยชนชั้นนำก็ยังคงเป็นไปดังเดิม ประชาชนไม่ได้มีบทบาทอะไรในทางการเมืองการปกครอง เป็นเพียง “สมบัติผลัดกันชม” ของผู้นำเท่านั้น
ผลัดกันชมระหว่างทหารกับนักการเมือง!
ความจริงนั้น ทหารคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 (ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็มีความสำคัญมาแต่โบราณกาล เพราะเป็นสถาบันหลักที่ค้ำจุนราชบัลลังก์และรักษาเอกราชของชาติตลอดมา) เพราะถ้าไม่มีทหารเข้าร่วมหรือเป็นแกนนำในครั้งนั้น คณะราษฎรที่มีแต่ข้าราชการ “หัวนอก” ก็คงไม่มีกำลังที่จะไปบีบบังคับให้กลุ่มอำนาจเก่ายอมสละอำนาจได้ จากนั้นมาทหารก็มีบทบาทสำคัญมากขึ้นๆ ในทางการเมืองไทย อันเนื่องมาจากความรู้สึกผูกพันในการใช้อำนาจ อย่างที่เรียกว่า “การเสพติดอำนาจ” ของทหาร ผ่านกระบวนการ “รัฐประหาร” โดยมีนักการเมืองกลุ่มที่ต้องการ “ห้อยโหนอำนาจ” และประชาชนที่เบื่อหน่าย “นักการเมืองเลวๆ” มอบให้เป็นระยะๆ
ในระยะเวลาอันยืดยาวกว่า 80 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ประเทศไทยก็ยังไปไม่ถึงไหน โดยเฉพาะการพัฒนาประชาธิปไตย ที่วินาทีนี้เราก็ยังย่ำกลับมาที่เดิมที่มีทหาร “ครองเมือง” ก็ด้วยความหวังแบบเดิมที่มีมาแต่ปี 2475 คือ “หวังว่าทหารจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้น” แต่สิ่งที่เราเห็นว่าทหารประสบความสำเร็จก็มีเพียงแค่ “การสืบทอดอำนาจ” และ “รักษาระบอบเดิม” เอาไว้ นั่นก็คือความคงอยู่ในอำนาจของทหารไปอีกเป็นระยะๆ และรักษาความเป็นเผด็จการให้คงอยู่อย่างฝังแน่นในสังคมไทย
มีคนหลายคนบอกว่า ถ้าไม่มีทหาร ประเทศไทยจะไม่มีการพัฒนาอย่างนี้หรอก ดูอย่างการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั่นปะไร ถ้าไม่มีนายทหาร 2 คนนี้ ประเทศก็ยังคงไม่ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี” และ “โชติช่วงชัชวาล” อย่างนี้หรอก หรือถ้าไม่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงจะไม่มีประเทศไทย เพราะนักการเมืองชั่วชาติและกลุ่มทุนสามานย์คงฮุบประเทศไทยไว้ให้แก่เครือญาติและพวกพ้องไปหมดแล้ว
เช่นเดียวกัน ก็มีผู้แย้งว่า ในสมัยจอมพลสฤษดิ์นั้น ถ้าไม่มีการโกงกินกันมโหฬาร รวมทั้งที่ได้สร้างวัฒนธรรมการโกงกินแบบ “ไม่อายฟ้าดิน” ป่านนี้ประเทศไทยก็จะเจริญขนาดน้องๆ สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกันกับสมัย พล.อ.เปรม ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ส่งเสริมและภาคเอกชนในประเทศไม่ร่วมขับเคลื่อน ร่วมกับการที่ระบบราชการมีความเข้มแข็ง ในขณะที่คนไทยก็มีความเข้าใจและมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น คอยชี้แนะและกำกับให้รัฐบาลรู้และเข้าใจในสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ รัฐบาล “เตมีย์ใบ้” ก็คงเป็นได้แค่ “ทหารรักษาการ”
เหมือนกันกับการทำรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ในทั้งสองครั้งนั้นประชาชนในฝ่ายที่ “ไม่เอานักการเมืองชั่ว” เรียกร้องหรือสนับสนุนให้ทหารออกมาทำการยึดอำนาจ จนกระทั่งทหารที่เคยเสพอำนาจมาทุกยุคทุกสมัยถือเป็น “อาญาสิทธิ์” เข้ามาทำรัฐประหารนั้นแล้ว ก็อย่าหวังเลยที่จะเข้ามามีอำนาจได้อย่างสะดวกโยธิน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าประชาชนอีกฝ่ายไม่ขัดขืน ซึ่งตรงนี้นี่เองที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ คือทหารไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพียงแต่ “เยียวยาและรักษาไข้” ไว้เท่านั้น
ดังนั้น การปกครองโดยทหาร จึงยังไม่มีการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ ที่จะเรียกได้ว่าการปฏิวัติ ในขณะเดียวกันที่ผ่านมาในเวลาอันยาวนานนี้บ้านเมืองของเราก็ยังไม่ได้พัฒนาไปถึงไหน อันควรที่จะเรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูป ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหากคนไข้ที่ชื่อว่าประเทศไทยยังให้ “หมอทหาร” มารักษาอยู่เรื่อยๆ ในอนาคตประเทศไทยก็อาจจะเกิดโรคเรื้อรังขึ้นได้
เป็นโรคร้ายแรงที่ชื่อว่า “เสพติดทหาร”