ยลโฉมหลังคา "โซลาร์รูฟ" ธรรมศาสตร์ เพิ่มพลังงานสะอาด40%
สำรวจหลังคาโซลาร์รูฟบนอาคารภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ช่วยให้ผลิตไฟฟ้าได้เองถึง 40%
โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด / ภาพ..กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร
ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กลายเป็นเเรงผลักดันให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เดินหน้าต่อสู้กับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Action) ด้วยการติดตั้งโซลาร์รูฟ "ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร” ทั่วพื้นที่มหาวิทยาลัย วิทยาเขตรังสิต
บ่ายวันหนึ่งที่ มธ. อุณภูมิ 35 องศา ไม่ได้เป็นอุปสรรค เมื่อ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รองอธิการบดี มธ. นำโพสต์ทูเดย์ ก้าวขึ้นบันไดไต่หลังคาอาคาร พูดคุยถึงที่มาที่ไปและแผนการต่อสู้เพื่อโลกครั้งสำคัญ
Climate Action สู้เพื่อโลก
กิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน คือ กิจกรรมที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิง อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ การตัดไม้ทำลายป่า การผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์
“เรื่องมันเริ่มจากการคิดถึงประชากรโลก 7,500 ล้านคน และจะกลายเป็น 1 หมื่นล้านในเวลาไม่นานนี้ ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ คือ โลกของเราร้อนขึ้นจริงๆ จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มาจาก กิจกรรมต่างๆ พอห่อหุ้มโลกหนาเข้าๆ ก็กลายเป็นสภาวะเรือนกระจก แสงแดดที่ส่องเข้ามาจากดวงอาทิตย์ถูกกักความร้อนเอาไว้ ไม่สะท้อนออกไปสู่ชั้นอวกาศ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งพบว่ามีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นถี่กว่าเดิมถึง 5 เท่า” ปริญญา กล่าวถึงที่มาของการต่อสู้
รองอธิการบดี บอกต่อว่า วิธีช่วยเหลือและลดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมโดยรวมของโลก คือ “การต่อสู้” ซึ่ง มธ. เห็นว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นสาเหตุใหญ่ของการปล่อยก๊าซ CO2 เนื่องจาก 80 เปอร์เซนต์ผลิตมาจาก ก๊าซ น้ำมันและถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศจำนวนมาก
“วิธีง่ายๆ ในการลดผลกระทบที่เลวร้าย คือการผลิตไฟฟ้าที่สะอาด ประเทศไทยโชคดีที่มีแดดออกทุกวัน และทำให้โซล่าเซลล์กลายเป็นตัวเลือกที่น่าลงทุนอย่างจริงจัง”
เพิ่มพลังงานสะอาด 40 เปอร์เซนต์
เป้าหมายของโครงการโซลาร์รูฟ คือ ภายในปี พ.ศ. 2559 จะผลิตไฟฟ้าได้ 6 เมกะวัตต์ และภายในปี 2560 จะติดตั้งได้อีก 9 เมะวัตต์ รวมเป็น 15 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นระบบโซลาร์รูฟท็อปใหญ่อันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยในเอเชีย และอันดับ 4 มหาวิทยาลัยโลก เป็นรองมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา คือ Colby College 30 เมกะวัตต์ Arizona State University 24 เมกะวัตต์ และ University of California 16 เมกะวัตต์
“ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ใช้ไฟฟ้าปีละ 70 ล้านหน่วย เฉลี่ยเท่ากับวันละประมาณ 190,000 หน่วย คิดเป็นตัวเงินราว 300 ล้านบาทต่อปี ขณะที่โครงการนี้ ถ้าติดตั้งครบทั้งหมด 15 เมกะวัตต์ จากพลังงานแดด 5 ชั่วโมงต่อวัน จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยวันละ 75,000 หน่วย ถือเป็นการช่วยลดการใช้พลังงานและสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในมหาวิทยาลัยได้ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนี้คือ การลงมือทำเพื่อโลก”
โมเดลลงทุนเพื่อโลก
โครงการมูลค่า 700 ล้านบาทดังกล่าว บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR ลงทุนให้ทั้งหมด โดย มธ. จะซื้อพลังงานไฟฟ้าจากบริษัทในราคาเดียวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีระยะสัญญาทั้งหมด 21 ปี
“ประโยชน์ประการแรกคือ ถึงแม้ มธ.จะจ่ายค่าไฟในราคาเดิม แต่พลังงานที่ได้นั้นสะอาด สบายใจได้ว่า แสงสว่างที่ได้รับ แอร์ที่เราใช้ มีผลกระทบต่อโลกต่างจากเดิม ประการที่ 2 ปกติการคิดราคาค่าไฟของประเทศไทยเป็นลักษณะอัตราก้าวหน้า แต่ผลจากโซลาร์รูฟ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลงประมาณ 30-40 เปอร์เซนต์”
รองอธิการบดีหนุ่ม บอกต่อว่า ถึงเวลาที่สถาบันการศึกษา หน่วยงานเอกชนและราชการอื่นๆ จะร่วมกันเดินหน้าอย่างแข็งขันต่อสู้ภัยคุกคามที่ส่งผลต่อโลก หากสู้พร้อมกัน โซล่าเซลล์ก็จะมีราคาถูกลง ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
“โทรศัพท์มือถือเมื่อ 20 ปีก่อนราคา 5 หมื่นกว่าบาท ปัจจุบันแค่ไม่กี่พัน คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คอดีตราคาแสนกว่าบาท ปัจจุบันแค่หลักพันก็หาได้แล้ว ความหมายคือถ้าทุกคนช่วยกันลงทุน ราคาจะถูกลงและคุ้มค่า อย่าปล่อยให้ชะตากรรมของโลกเราเดินหน้าไปสู่สภาพเดียวกับดาวศุกร์ที่ถูกห่อหุ้มด้วยเมฆหนาและมีอุณภูมิพื้นผิวถึง 464 องศาเซลเซียส” ปริญญา ทิ้งท้าย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมีแผนงานเตรียมขยายพื้นที่การติดตั้งหลังคาโซลาร์รูฟไปยังศูนย์ต่างๆ ทั้งหมด ได้แก่ ท่าพระจันทร์ ศูนย์พัทยา และศูนย์ลำปาง เพื่อช่วยโลกตามลำดับต่อไป