posttoday

IP ของไทยกับไอเดีย ต้านโกงในต่างประเทศ

12 ธันวาคม 2559

ต่อจากฉบับที่แล้ว กล่าวถึงการจัดประชุม ADB/OECD Anti-Corruption Initiative for Asia and the Pacific ครั้งที่ 14

โดย...กิตติเดช ฉันทังกูล [email protected]

ต่อจากฉบับที่แล้ว กล่าวถึงการจัดประชุม ADB/OECD Anti-Corruption Initiative for Asia and the Pacific ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 9-10 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา รัฐบาลภูฏานเป็นเจ้าภาพ การประชุมดังกล่าวเน้นสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยปราบปรามคอร์รัปชั่น ของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก วาระการประชุมและหัวข้อการสัมมนาส่วนใหญ่จึงเน้นเฉพาะงานปราบปรามคอร์รัปชั่น

เล่าถึงโครงการต่อต้านคอร์รัปชั่นของประเทศปาปัวนิวกินี ประเทศในแถบหมู่เกาะโอเชียเนีย ที่นำเสนอโครงการ “Phones Against Corruption” ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นผ่านการส่ง SMS จากมือถือของประชาชนมายังกระทรวงการคลังโดยตรง

โครงการนี้อยู่ระหว่างการทดลองระบบต้นแบบและได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้ตั้งแต่ ก.ค. 2014  ในช่วงแรกต้องอาศัยแรงประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนหนักมาก กว่าที่จะตื่นรู้และเริ่มยินดีส่งข้อมูลได้ก็ล่วงเลยเข้ากลางปี 2015 และจากข้อมูลล่าสุดมีประชาชนที่ส่ง SMS แล้วกว่า 1 หมื่นคน คนเหล่านี้แจ้งข้อมูลรวมกันแล้วเกือบ 3 หมื่นเรื่อง โดยประชาชนส่วนใหญ่นิยมส่งข้อความในรูปแบบภาษาท้องถิ่นมากกว่าภาษาอังกฤษ

ในด้านคุณภาพของข้อมูลที่ส่งมานั้นปรากฏว่ามีรายละเอียดครบถ้วนเพียง 10% ในปีแรกจากนั้นค่อยๆ เพิ่มเป็น 17.5% ประเด็นที่แจ้งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเรื่องการกระทำผิดทั่วไปๆ ไม่ใช่คอร์รัปชั่นเสียทีเดียว เรื่องที่แจ้งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง 34% ที่เหลือเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ 66% และเรื่องที่แจ้งส่วนใหญ่เป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการเรียกรับเงินสินบน ยักยอกเงินของรัฐโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ถึง 63% แสดงให้เห็นว่าระบบรับแจ้งนี้เกาได้ถูกที่คัน

ในภาพรวมคดีคอร์รัปชั่นที่ได้รับแจ้งผ่าน SMS นี้ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าจังหวัดที่ได้รับแจ้งมากสุดมีประมาณ 43 คดี และน้อยสุดอยู่ที่ 3 คดี และข้อมูลส่วนใหญ่ถูกส่งมาจากประชาชนที่อาศัยในต่างจังหวัด (94%) มากกว่าในเขตเมือง (4%) เห็นได้ว่าข้อดีของระบบ SMS ทำให้รัฐบาลกลางมีข้อมูลที่ใช้จัดอันดับเขตพื้นที่ที่มีคอร์รัปชั่นสูงสุดไปถึงน้อยสุดได้ใกล้เคียงความเป็นจริงและน่าเชื่อถือเพราะข้อมูลมาจากประชาชนตัวจริง

นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานต่างๆ ก็ถูกหน่วยงานปราบปรามนำไปดำเนินการสอบสวนขยายผล ปัจจุบันมีคดีความอยู่ในขั้นการพิจารณาของศาล 5 คดี ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 2 คดี คดีเป็น

ที่สิ้นสุดแล้ว 10 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 15 คดี และพิจารณาว่าจะรับสืบสวนหรือไม่อีก 45 คดี รวมทั้งสิ้น 77 คดีเกี่ยวพันกับเงินรวมกันประมาณ 6 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 213 ล้านบาท ที่ได้จากการเปิดโปงผ่าน SMS

จากข้อมูลของกระทรวงการคลังปาปัวนิวกินี ทำให้เห็นว่าระบบแจ้งคอร์รัปชั่นผ่าน SMS นี้เหมาะสำหรับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในระดับเล็กและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ การเรียกเงินค่าอำนวยความสะดวกเวลาไปติดต่อขออนุญาตต่างๆ ในหน่วยงานราชการ การพบเห็นเจ้าหน้าที่รัฐนำเงินหรือทรัพย์สินของราชการไปใช้ส่วนตัว เป็นต้น

ในอนาคตรัฐบาลปาปัวนิวกินีตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าว่าโครงการนี้จะต้องเป็นระบบรับแจ้งข้อร้องเรียนของประชาชนทุกคนในประเทศและใช้แจ้งได้กับทุกหน่วยงาน และจากผลสำเร็จของความพยายามต่อต้านคอร์รัปชั่นโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็ทำให้ UNDP Asia-Pacific Innovation Fund มอบรางวัลดีเด่นด้านนวัตกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม แถมยังมีอีก 4 ประเทศขอนำระบบนี้ไปใช้งาน

สำหรับประเทศไทยได้ข่าวว่าภาคเอกชนกำลังจะทำระบบที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ซึ่งถ้าหากเปิดใช้งานเมื่อไรก็หวังว่าจะได้รับความนิยมจากประชาชนโดยร่วมให้ข้อมูลผ่าน SMS กันมากๆ นะครับ