ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ 'งานเพื่อสาธารณะ'
ใครที่ติดตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปีเศษที่ผ่านมา คงพอจะคุ้นหูคุ้นตากับชื่อ “ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์”
โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ
ใครที่ติดตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปีเศษที่ผ่านมา คงพอจะคุ้นหูคุ้นตากับชื่อ “ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์” อยู่พอสมควร นอกจากจะคุ้นในฐานะที่เป็นโฆษกด้านเศรษฐกิจ หลายคนอาจสงสัยและสนใจว่าหนึ่งใน “จาตุศรีพิทักษ์” ผู้นี้ เขาคนนี้คือใคร
“หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์” ฉบับนี้มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ พาผู้อ่านไปรู้จักกับ “ณัฐพร” ลูกชายคนเดียวของ “สม จาตุศรีพิทักษ์” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีต รมว.พาณิชย์ ถึงเส้นทางทั้งอดีตและปัจจุบันที่ได้มาร่วมงานกับรัฐบาลในตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งที่ฟังดูดี แต่ตำแหน่งนี้ทำงานฟรีไม่มีเงินเดือน เวลานี้จึงถือเป็นช่วงการทำงานเพื่องานสาธารณะของเขาอย่างแท้จริง
ณัฐพร กล่าวว่า เข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาลตอนที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็น รมว.พาณิชย์ ตอนนั้นอาจารย์อุตตม สาวนายน (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รมว.อุตสาห กรรม) เป็นเลขานุการของ พล.อ.ฉัตรชัย และดึงผมกับเพื่อนอีกคนหนึ่งเข้ามาช่วยงานด้วย ก่อนหน้าที่จะเข้ามาตรงนี้ ผมทำงานอยู่ที่ Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งในสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์
งานที่ทำที่ SIGA เน้นการให้คำปรึกษา หรือเป็นคอนซัลท์หน่วยงานรัฐ หลักๆ คือการทำแผนยุทธศาสตร์ให้ภาครัฐ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ที่ผมได้ร่วมทำคือแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงการคลังระยะ 5 ปี และแผนแม่บทของกระทรวงพาณิชย์ พอได้ช่วยงานที่กระทรวงพาณิชย์ได้ระยะหนึ่งพอมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรี จึงได้มีโอกาสช่วยงานทั้งที่กระทรวงพาณิชย์และทำเนียบรัฐบาล ได้ทำหน้าที่กึ่งๆ ประสานระหว่างทำเนียบฯ กับกระทรวงพาณิชย์ด้วย เพราะท่านรองนายกฯ ก็ดูแลกระทรวงพาณิชย์ด้วย
“ตอนอยู่ที่ศศินทร์ สไตล์เราจะเป็นนักวิชาการกึ่งที่ปรึกษา แต่พอเข้ามาตรงนี้มันได้อยู่อีกมุมมอง ทำให้เรารู้ว่าการทำงานในภาครัฐมันยากกว่าเยอะ คนเป็นนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ได้มาก จริงๆ คนส่วนใหญ่รู้หมดว่าต้องทำอะไร แต่ถึงเวลามาทำจริง มันไม่เหมือนกับในตำรา”
ณัฐพร อธิบายต่อว่า ภาครัฐมีกลไก อย่างแรกบุคลากรจำนวนมาก ข้าราชการมีประมาณ 2 ล้านคน สามารถเป็นได้ทั้งพลัง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตัวถ่วงได้ ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ 1 ใน 10 วาระ PM Agenda ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ปยป.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงมีเรื่องของการปฏิรูปกลไกภาครัฐด้วย
ปัจจุบันได้รับมอบหมายให้เข้าไปดูสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ New Economy Academy (NEA) ซึ่งสิ่งที่จุดประกายสถาบันนี้ เกิดจากที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี สมคิด เดินทางไปเยือนสำนักงานใหญ่ของอาลีบาบา ในช่วงเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา กรุ๊ป ได้พาเดินชมพิพิธภัณฑ์ประวัติ ความเป็นมาของอาลีบาบา ซึ่งน่าทึ่งมากที่ 17 ปี จากศูนย์สามารถเติบโตมาได้ขนาดนี้ และมีอยู่พาร์ตหนึ่งของที่นี่ที่เขาได้ลงไปช่วยชุมชนพัฒนาเกษตรกรคนต่างจังหวัดให้สามารถใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็น ซึ่งหลักๆ คือการทำอี-คอมเมิร์ซ ให้ชาวไร่ชาวสวนขายของผ่านอี-คอมเมิร์ซ เขาลงไปตั้งศูนย์เพื่อให้ความรู้ในชนบทพร้อมกับทำระบบโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้าให้ค่อนข้างครบวงจร
รองนายกรัฐมนตรีเห็นแล้วก็เกิดแรงบันดาลใจว่า ตอนนี้โลกเปลี่ยนไป ไม่จำเป็นว่าชาวนาปลูกข้าวต้องไปหาพ่อค้าคนกลางหรือโรงสีเหมือนสมัยก่อน แต่มันมีเทคโนโลยี เครื่องมือใหม่ๆ เข้ามา โมเดลการทำธุรกิจก็ไม่เหมือนเดิม และเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่ดี รองนายกรัฐมนตรีจึงนำมาปรับใช้กับเมืองไทยและตั้งเป็นสถาบันนี้ขึ้นมา แล้วดึงทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมกันทำ โดยที่สถาบันนี้จะอบรมสำหรับคนทุกเซ็กเมนต์ มีตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงระดับบน ขณะเดียวกันเมื่อรองนายกฯ ไปเยือนประเทศเพื่อนบ้าน ท่านก็เชิญประเทศต่างๆ โดยเฉพาะซีแอลเอ็มวีให้ส่งคนมาอบรมในสถาบันนี้
สำหรับคำถามที่ว่า สนใจงานด้านการเมืองหรือไม่ ณัฐพร กล่าวทันทีว่า “ไม่ชอบงานการเมือง อย่างที่บอกว่าไม่ได้เป็นคนแสวงหาชื่อเสียง และไม่ได้ต้องการที่จะเป็นสปอตไลต์อะไรแบบนั้น แต่สำหรับช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่หากเราสามารถช่วยอะไรได้ก็ช่วยให้มากที่สุด ส่วนการที่คุณพ่อเคยเป็น รมว.พาณิชย์ ไม่มีส่วนทำให้อยากทำงานการเมืองบ้างหรือนั้น จริงๆ คุณพ่อมาทำช่วงสั้นๆ เท่านั้น และตอนนี้ท่านเป็น สนช. งานหลักๆ ก็คือการพิจารณากฎหมายมากกว่า ไม่ใช่งานการเมืองแบบตรงๆ”
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามีหลายอย่างที่ได้เรียนรู้จากคุณพ่อ (สม จาตุศรีพิทักษ์) ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเพื่อสาธารณะ เรียนรู้การทำงานว่าทุกอย่างมันจะมีหนัก เบา เร็ว ช้า คือต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ ทุกอย่างต้องมีจังหวะของมัน ซึ่งสิ่งนี้ก็คือสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีกำลังทำอยู่กับ ปยป. วาระการปฏิรูปมีจำนวนมาก ต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง เพื่อทำให้ได้มากที่สุดในเวลาที่จำกัด
ณัฐพร กล่าวทิ้งท้ายว่า หากหมดวาระการทำงานตรงนี้ และได้กลับไปทำงานด้านวิชาการอีกครั้ง คงทำด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป คราวนี้มุมมองมันจะ Practical (ใกล้เคียงกับความเป็นจริง) มากขึ้น จะมองเห็นว่าอุปสรรคที่แท้จริงของระบบราชการคืออะไร