posttoday

วิกฤต"ขยะทะเลไทย"ไม่ช่วยกันพังแน่

06 มีนาคม 2560

ความคิดเห็นน่าสนใจจากวงเสวนาเรื่อง “ วิกฤตขยะบกสู่แพขยะในทะเล : จะแก้อย่างไร? ”

โดย...พรพิรุณ ทองอินทร์

เมื่อเร็วๆนี้มีการจัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “วิกฤตขยะบกสู่แพขยะในทะเล : จะแก้อย่างไร?” โดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยหวังจะสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนต่อวิกฤตขยะมูลฝอยของประเทศจากเหตุการณ์แพขยะในทะเลอ่าวไทย พร้อมกับร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง

ขยะทะเล...ภัยร้ายต่อสุขภาพคนและสัตว์

จากผลการสำรวจโดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ปี 2558 ระบุว่า ไทยรั้งอันดับ 5 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขยะทะเลต่างจากขยะบนบกตรงที่สามารถลอยน้ำออกไปได้ไกลสู่ทะเลในต่างประเทศ ซึ่งการจัดการแพขยะต้องเป็นมาตรการเดียวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจกที่นานาชาติจะเข้ามาบีบให้เราจัดการ ไทยถึงจะขยับตัว

“ประเทศไทยติดอันดับที่ 5 ของโลกที่มีการทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุด ทั้งที่มีประชากรน้อยแต่ขยะเยอะ ไทยชอบรอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ รอให้โดนบีบอัดเต็มที่ก่อนถึงจะทำ สิ่งที่ชี้ชัดก็คือ การรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกที่รณรงค์ให้ตายยังไงก็ทำได้แค่ 10 %”

วิกฤต\"ขยะทะเลไทย\"ไม่ช่วยกันพังแน่

 

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ภัยเงียบสำคัญจากขยะในท้องทะเลคือ ไมโครพลาสติก ที่ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยพลาสติกจะแตกย่อยเป็นปิโตรเคมีและจะเล็กลงเรื่อยๆ จนมองไม่เห็นแต่ยังคงมีสารเคมีหลงเหลืออยู่ แพลงตอนจะกินไมโครพลาสติกเข้าไป ปลาเล็กกินแพลงตอน ปลาใหญ่จะกินปลาเล็ก แล้วมนุษย์ก็จะกินปลาใหญ่อีกที ในท้ายที่สุดไมโครพลาสติกจึงเข้าไปสะสมในร่างกายของมนุษย์ ทำให้เกิดอันตรายได้

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ กล่าวด้วยว่า การลดใช้ถุงพลาสติกไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคีวิชาการควรจับมือกับคนในสังคม วิเคราะห์นิสัยของคนไทย เพื่อศึกษาทำความเข้าใจนิสัยและพฤติกรรมของคน ก่อนจะเปลี่ยนแปลงความคิดของพวกเขา

ทั้งนี้มาตรการที่ขอเสนอให้รัฐนำไปพิจารณาและจัดการ คือ 1. ขายถุงพลาสติก ใครต้องการใช้ถุงต้องจ่ายเงินเพิ่ม 2. นำขยะมาต่อยอดเป็นสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น รองเท้า

 

วิกฤต\"ขยะทะเลไทย\"ไม่ช่วยกันพังแน่

 

ขยะไหลลงทะเลปีละ 60,000 ตัน

ดร.วิจารย์  สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญเรื่องไมโครพลาสติกมาก เพราะไมโครพลาสติกเกิดจากขยะในทะเล มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันแต่ละคนสร้างขยะวันละ 1.1 กิโลกรัมต่อวัน คิดรวมทั้งประเทศเท่ากับ 7.4 หมื่นตันต่อวัน รวมกัน 27 ล้านตันต่อปี  ขณะที่ขยะที่กำจัดถูกต้องมีเพียง 36% มีขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อ 21%  ขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง 43% และขยะตกค้างอีก 10 ล้านตันต่อปี 

“เรามีถังขยะเพียงพอแต่เหตุใดคนถึงไม่ทิ้งขยะลงถัง ทั้งที่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ควรทำได้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญโดยตั้งเป้าลดขยะจากต้นทาง 5% ตามนโยบายประเทศไทยไร้ขยะ”

ด้าน ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนมักคิดว่าขยะทะเลมากจากคนริมทะเลและชาวประมง  แต่งานวิจัยพบว่า ขยะในทะเล 80% มาจากขยะบนบก ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก ขวดน้ำและเศษอาหาร  มีเพียง 20% ที่มาจากกิจกรรมทางทะเล

“ประเทศไทยยังไม่สามารถเก็บขยะในท้องทะเลได้ทั้งหมด มีหลงเหลือในปริมาณสูงถึงปีละ 3,000-4,000 ตัน ดังนั้นต้องรีบหาทางจัดการปัญหาการเก็บขยะให้ได้มากขึ้น วางระบบจัดการที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง พร้อมกับส่งเสริมให้ซาเล้งสามารถร่วมจัดการขยะเหล่านี้ด้วย”

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยอ้างอิงจากผลการสำรวจประเมินจากภาพรวมปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศ ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งมีจำนวนขยะประมาณ 26.85 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นปริมาณขยะ จำนวน 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน โดยในจำนวนนี้มีปริมาณขยะที่ตกค้างเพราะไม่สามารถกำจัดอย่างถูกวิธี ราว 23% หรือประมาณ 6.22 ล้านตันต่อปี โดยชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีปริมาณขยะประมาณ 10 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้มีประมาณ 5 ล้านตันที่ได้รับการจัดการไม่ถูกวิธี

ทั้งนี้ข้อมูลจากการสำรวจ พบอีกว่าประมาณร้อยละ 10 ของขยะที่ตกค้างเนื่องจากจัดการไม่ถูกวิธีจะไหลลงทะเล ซึ่งนั่นหมายถึงมีขยะไหลลงทะเลปีละประมาณ 50,000-60,000 ตันต่อปี ซึ่งประเมินว่าในแต่ละปีจะมีปริมาณขยะพลาสติดในทะเลประมาณ 50,000 ตัน หรือ 750 ล้านชิ้น

 

วิกฤต\"ขยะทะเลไทย\"ไม่ช่วยกันพังแน่ ซากเต่าตนุ น้ำหนักถึง 100 กิโลกรัม โดยผลการชันสูตรพบเศษขยะอัดแน่นเต็มกระเพาะ ภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

 

ถึงเวลากำหนดยุทธศาสตร์จัดการขยะ

นอกจากมาตรการแก้ไขเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการจัดการขยะทะเลโดยประกอบด้วย 5 มาตรการดังนี้

1.การสำรวจ ศึกษา จัดทำฐานข้อมูลชนิด ปริมาณ แหล่งที่มาของขยะทะเล

2.การลดปริมาณขยะทะเลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ชุมชนชายฝั่ง การประมง การท่องเที่ยว และกลุ่มวิสาหกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น

3.การลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อระบบนิเวศ ต่อการท่องเที่ยว ต่อสุขอนามัย

4.การส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

5.การรณรงค์สร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

วิกฤต\"ขยะทะเลไทย\"ไม่ช่วยกันพังแน่

 

เช่นเดียวกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ที่เสนอมาตรการจัดการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยบนบกและขยะในทะเลไว้ดังนี้
 
1.กำหนดมาตราการการจัดการขยะทะเล ควบคุมการทำกิจกรรมบนชายฝั่ง เช่น การทำประมง การท่องเที่ยว การเดินเรือ และการขนถ่ายสินค้าทางทะเล ไม่ให้มีการทิ้งขยะมูลฝอยลงในทะเล มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดกับผู้ที่ฝ่าฝืน

2.เร่งดำเนินการตามมาตราการแก้ไขปัญหาขยะทะเลในระยะยาว เสนอโดยสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย   ได้แก่ แก้ไขปัญหาขยะบนบกและชายฝั่ง โดยเฉพาะพลาสติกและไมโครพลาสติก เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรรีบแก้ไข ลดปัญหาขยะพลาสติกที่ต้นทาง เช่น การขายถุงพลาสติก จัดทำจังหวัดนำร่องในการจัดการปัญหาขยะทะเล เสนอให้จังหวัดระยอง เป็นจังหวัดนำร่อง จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและมาตราการที่เหมาะสมในระยะยาว ผ่านคณะอนุกรรมการด้านทรัพยากรทางทะเล

3.กำหนดมาตราการจำกัดจำนวนที่พักต่างอากาศในบางพื้นที่ คำนวนศักยภาพในการรองรับ และความสามารถในของระบบการจัดการขยะจากนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว

4.กำหนดระเบียบเฉพาะว่าด้วยการกำขัดขยะมูลฝอย โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวที่เป็นเกาะ ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดเก็บค่าขยะจากนักท่องเที่ยว โดยออกกฎห้ามนำบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ยากเข้าในพื้นที่ เช่น โฟมควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่ายแทน

5.ผลักดันให้เป็นวาระระดับอาเซียน เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาร่วมกันโดยเฉพาะประเทศที่ถูกจัดอันดับที่มีขยะในทะเลมากที่สุด เช่นเดียวกับประเทศไทย คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและมาเลเซีย

การจัดการปัญหาขยะจะสำเร็จได้เมื่อคนไทยทุกคนหันมาตระหนักว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่มันคือปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกัน.