posttoday

แพ็กเกจกฎหมาย เครื่องมือปฏิรูปชาติ

13 เมษายน 2560

ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วสำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วสำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง แต่ระหว่างก่อนถึงการเลือกตั้งนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดภารกิจหรือเรียกว่า “กระบวนการเปลี่ยนผ่าน” ไว้เป็นจำนวนมาก โดยเป็นการดำเนินการผ่านการออกกฎหมาย เพื่อบังคับใช้กับคนไทยทั้งประเทศ

กฎหมายที่ต้องจัดทำในระหว่างกระบวนการเปลี่ยนผ่าน รัฐธรรมนูญได้แบ่งกลุ่มตามลำดับเวลาและความเร่งด่วนไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

กลุ่มที่ 1 กฎหมายที่ต้องจัดทำภายใน 120-240 วันนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีทั้งสิ้น 16 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. (240 วัน) 2.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. (240 วัน) 3.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (240 วัน) 4.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (240 วัน) 5.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (240 วัน)

6.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (240 วัน) 7.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (240 วัน) 8.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (240 วัน) 9.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (240 วัน) 10.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน (240 วัน)

11.กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ดำเนินการเรื่องที่กระทบสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพชีวิต สุขภาพ (240 วัน) 12.ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (180 วัน) 13.ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง (240 วัน) 14.ร่าง พ.ร.บ.รณรงค์ต่อต้านการทุจริต (240 วัน) 15.กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ (120 วัน) และ 16.กฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ (120 วัน)   

กลุ่มที่ 2 กฎหมายที่ต้องจัดทำภายใน 1-2 ปีนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.กฎหมายกองทุนลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาพัฒนาครูและมาตรการทางภาษี (1 ปี) 2.กฎหมายการบริหารงานบุคคลในศาลยุติธรรม ศาลปกครอง อัยการ (1 ปี) 3.กฎหมายปฏิรูปตำรวจ (1 ปี) และ 4.กฎหมายปฏิรูปการศึกษา (2 ปี)

กลุ่มที่ 3 กฎหมายที่ต้องจัดทำแต่ไม่มีกำหนดเวลา จำนวน 37 ฉบับ อาทิ กฎหมายให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ กฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย กฎหมายเงินเดือน บำนาญ สส. สว. องคมนตรี กฎหมายการถือหุ้นของรัฐมนตรี กฎหมายปรับปรุงระบบการสอบสวนและนิติเวชศาสตร์ กฎหมายปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานการศึกษา กฎหมายปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เป็นธรรม กฎหมายว่าด้วยการจ่ายเงินแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กฎหมายหลักประกันสุขภาพ

กลุ่มที่ 4 การดำเนินการโดยวิธีอื่นนอกเหนือจากการออกกฎหมาย จำนวน 30 เรื่อง อาทิ มาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งใช้กับองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ สส. สว. และคณะรัฐมนตรี (1 ปี) การส่งเสริมความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วม (ต้องดำเนินการทันที) การกำหนดให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจะเป็นของรัฐน้อยว่า 51% ไม่ได้ และต้องไม่เก็บค่าบริการแพง (ต้องดำเนินการทันที)

การให้หน่วยงานรัฐต้องแจ้งรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบถึงการจะให้สื่อมวลชนทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ (ต้องดำเนินการทันที) มาตรการคุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่น (ต้องดำเนินการทันที) การช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส (ต้องดำเนินการทันที)

กลุ่มที่ 5 มาตรการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งที่ต้องออกกฎหมายและการดำเนินการโดยวิธีอื่นๆ จำนวน 38 เรื่อง อาทิ การสร้างความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย วัฒนธรรมทางการเมืองการเลือกตั้ง การตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง การกำหนดกลไกความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการโฆษณานโยบาย การกำหนดกลไกให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องซื่อสัตย์และรับผิดชอบต่อประชาชน การปรับปรุงกฎหมายก่อนใช้รัฐธรรมนูญให้เข้ากับมาตรา 77 ว่าด้วยการปรับปรุงให้กฎหมายเข้ากับสภาพการณ์

นอกเหนือไปจากการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการออกกฎหมายแล้ว ในร่างรัฐธรรมนูญยังมีมาตรการลงโทษในกรณีที่หน่วยงานรัฐไม่ได้ดำเนินการเสนอกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การรักษาวินัยการเงินการคลัง และการรณรงค์ป้องกันและปราบปรามทุจริตต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายใน 240 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นพ้นจากตำแหน่ง

ทั้งหมดนี้ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามมาตรา 257 ที่กำหนดให้การปฏิรูปประเทศต้องบรรลุเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ 1.ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ 2.สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ และ 3.ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข