เอเชียตะวันออก ถึงจะแก่แต่ไม่ชรา
ปลายสุดทวีปเอเชียทางฝั่งตะวันออกไกลเป็นแหล่งอารยธรรมของโลกแหล่งหนึ่งที่เจริญรุ่งเรืองและสืบทอดยาวนานมากว่า 5,000 ปี
โดย...ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย [email protected]
ปลายสุดทวีปเอเชียทางฝั่งตะวันออกไกลเป็นแหล่งอารยธรรมของโลกแหล่งหนึ่งที่เจริญรุ่งเรืองและสืบทอดยาวนานมากว่า 5,000 ปี บนแผ่นดินนั้นมี 3 ประเทศหลัก ได้แก่ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรมสายเลือด และความรักความชัง มานานนับพันปี จนปัจจุบันนี้ทั้งสามประเทศมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การเมือง สังคมและวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและโลกอย่างมาก
ในด้านเทคโนโลยีก็ถือได้ว่าทั้งสามเป็น ผู้นำทางด้านนวัตกรรม และ Technology Transfer ของอุตสาหกรรมในซีกโลกตะวันออก เช่น เทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ การสื่อสารด้วยระบบไอที และ Internet of Things (IoT) ซึ่งมีส่วนช่วยในการผลิตจีดีพีของโลกให้ขยายตัวขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจโลกตะวันตกได้เดินมาถึงจุดหักลงของ S-Curve จึงทำให้คนเอเชียมี Purchasing Power Parity (ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ หรือ ประสิทธิผลของการใช้เงินซื้อสินค้าและบริการ) เพิ่มมากยิ่งขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (Akrur Barua, 2016)
ด้วยเหตุนี้ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น จึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจำนวนมากในทศวรรษนี้ ทั้งเที่ยวไขว้กันเองและเป็นเดินทางมาจากทวีปอื่น รวมกันถึง 98.18 ล้านคน/ปี นำรายได้เข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกรวมกันถึง 154,377 ล้านเหรียญสหรัฐ (KNTO 2016, JNTO 2016, UNWTO, 2016 Edition) เรียงลำดับแล้วที่หนึ่งคงเป็นใครไม่ได้นอกจากจีน ตามมาด้วยญี่ปุ่น และเกาหลี
37 ปีก่อน (1980) จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ากลุ่มประเทศ Emerging Economy (เช่น เอเชีย ละตินอเมริกา ยุโรปกลาง และตะวันออก) มีเพียง 30% ส่วนอีก 70% เดินทางไปประเทศ Advanced Economy (เช่น อเมริกา และยุโรป) ทว่าทุกวันนี้กลับตาลปัตร United Nations World Tourism Organization ทำนายว่า อีกแค่ 3 ปี (2020) นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปกลุ่มประเทศ Emerging Economy มากกว่า และอีก 13 ปีให้หลัง (2030) นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปกลุ่มประเทศ Emerging Economy จะเพิ่มขึ้นเป็น 57% และเหลือไปกลุ่มประเทศ Advanced Economy เพียงแค่ 43%
ดังนั้น จึงคาดกันว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเอเชียตะวันออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 195 ล้านคน ในปี 2020 และ 293 ล้านคน ในปี 2030 รายได้จากการท่องเที่ยวจึงเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญ ที่มีผลกระทบต่อจีดีพี งบดุลของประเทศ และการจ้างงาน/ว่างงาน ตัวอย่างเช่นในปีที่แล้ว กิจกรรมการท่องเที่ยวทั้ง Supply Chain ได้สร้างจีดีพีทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้แก่เกาหลีมากถึง 5.1% จีน 9.0% และญี่ปุ่น 7.4% ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมหาศาลถึง 25.4 ล้านคน (เกาหลี 601,000 คน จีน 23,680,500 คน ญี่ปุ่น 1,125,000 คน) นี่ล่ะค่ะคือความสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลแต่ละประเทศจึงต้องบริหารจัดการอย่างเข้มข้นในระดับนโยบายของชาติ ตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2000-2015 เกาหลีใช้กระแสวัฒนธรรมที่เรียกว่า ฮันรยู หรือ Korea Wave (K-Wave) เช่น K-Drama (ละครโทรทัศน์เกาหลี) K-Pop (นักร้องดนตรีเกาหลี) K-Book (วรรณกรรมเกาหลี) K-Food (อาหารเกาหลี) เป็น Soft Power ในการดูดนักท่องเที่ยวเข้าเกาหลี
รัฐบาลเกาหลียังได้ใช้เงิน 1% (ราว 2,872 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากงบประมาณแผ่นดิน (Melissa Leong, 2014) ในการเปิดสอนด้าน Media and Entertainment ในสถาบันการศึกษาราว 300 แห่ง และใช้จ่ายในโครงการประชาสัมพันธ์ ช่วยเหลือทางการเงินเพื่อยกระดับกิจการของผู้ประกอบการเอกชน ซึ่งต่อมา “ฮันยรู” ถือว่าเป็น “ปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จ” อันหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวของเกาหลีประสบความสำเร็จอย่างมาก (Semann Kim, KNTO,2012) คือ กระทรวงวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวเกาหลี ประเมินว่าการส่งออกทางวัฒนธรรม K-Wave มีมูลค่าปัจจุบันราว 8.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเกาหลีเพิ่มขึ้นจากระดับ 4 ล้านคน/ปี ในปี 2003 มาเป็นระดับ 17 ล้านคน/ปี ในปัจจุบัน และนำเงินตราเข้าประเทศได้ถึง 15,285 ล้านเหรียญสหรัฐ
วันนี้ว่ากันเรื่องสถิติมากหน่อยนะคะ สถิติบอกอะไรเราได้หลายอย่าง เช่น จากสถิติของ China Statistic Yearbook 2016, Korea Tourism Organization 2016 บอกว่า มีนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เดินทางเข้าเกาหลี จีน และ ญี่ปุ่น รวมกันถึง 4.99 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้ที่เดินทางเข้าเกาหลี 177,508 คน เข้าจีน 3,470,900 คน และเข้าญี่ปุ่น 1,346,187 คน นับเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ทีเดียวค่ะ (หมายเหตุ ของญี่ปุ่นประมาณการจากฐานข้อมูลการสำรวจความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นประจำปี 2016 โดย Japan Tourism Agency ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 39,956 คน พบนักท่องเที่ยวที่มีอายุมากกว่า 60 ปี 5.60% จึงได้ใช้ตัวเลขนี้ประมาณการนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุที่เดินทางเข้าญี่ปุ่น)
ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาโครงสร้างอายุประชากรของทั้งสามประเทศ พบว่าเกาหลีและจีนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เนื่องจากมีจำนวนประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไปเกินกว่า 7% ของประชากรทั้งหมด (เกาหลี 12.83% จีน 9.56%) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged Society) ในเวลาไม่เกินปี 2030 ส่วนญี่ปุ่น (26.34%) เขาเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged Society) ไปเรียบร้อยแล้ว การเพิ่มขึ้นของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุในแต่ละปีได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่การเมืองและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น นโยบายยืดอายุเกษียณราชการหรือการทำงานออกไป เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนคนทำงาน โดยมีแนวคิดพื้นฐานว่าเมื่อคนอายุยืนขึ้น ช่วงอายุของการทำงานก็ต้องนานขึ้น เป็นต้น (Donghyun Park et al., 2012)
ประชากรกลุ่มผู้สูงอายุใน 3 ประเทศนี้ ในอนาคตจะมีจำนวนถึง 410 ล้านคน ซึ่งจะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในปี 2050 เป็นกลุ่มคน Generation X และ Y ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการศึกษา มีประสบการณ์ผ่านการทำงานมาแล้ว มีศักยภาพ ความมั่นคง และความพร้อมด้านการเงินค่อนข้างสูงในวัยเกษียณ และมีแนวโน้มที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ