posttoday

ลำปางเตือนภัยแมลงก้นกระดกกัดถึงขั้นตาบอด

24 พฤษภาคม 2560

ลำปาง-ชาวลำปางโพสต์เตือนภัยระวังแมลงก้นกระดกกัดช่วงฤดูฝนนี้อันตรายถึงขั้นตาบอด

ลำปาง-ชาวลำปางโพสต์เตือนภัยระวังแมลงก้นกระดกกัดช่วงฤดูฝนนี้อันตรายถึงขั้นตาบอด

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ผู้ใช้เฟสบุ๊คชาวลำปางชื่อ Ronnakorn Mungmoonmee ได้โพสต์ภาพลงในห้องกลุ่มลำปางซิตี้ (Lampang city) เป็นภาพแขนที่มีร่องรอยของการถูกแมลงก้นกระดกกัดทำให้บาดแผลที่ถูกกัดเป็นตุ่มน้ำขึ้นมา โดยผู้โพสต์ได้เขียนข้อความเตือนภัยให้ระมัดระวังอันตรายจะเข้านอนให้ปัดเตียงก่อน ซึ่งหลังมีการโพสภาพ และข้อความเตือนภัยดังกล่าวออกไปก็มีสมาชิกในกลุ่มให้ความสนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายถึงการป้องกัน และการรักษาจากแมลงก้นกระดกที่มีพิษ และเสี่ยงที่จะเกิดปแผลผลุพอง และลุกลามได้จากพิษของแมลงชนิดนี้

นอกจากนี้ ยังมีประชาชนที่สนใจได้สอบถามถึงลักษณะของแมลงก้นกระดกด้วยว่า หน้าตาเป็นอย่างไร ทำให้บรรดาสมาชิกได้นำภาพตัวแมลงก้นกระดกมาโพสต์ต่อท้ายโพสต์เตือนภัยดังกล่าว เพื่อให้ทุกคนได้เห็น และป้องกันตัวเองในช่วงที่ฝนตกนี้ ที่อาจจะมีแมลงมีพิษเข้ามาในบ้าน และในที่นอนได้

สำหรับแมลงชนิดนี้มีข้อมูลที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตจาก ผศ.พญ.เพ็ญวดี พัฒนปรีชากุล ภาควิชาตจวิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล ระบุว่า แมลงก้นกระดก หรือที่เรียกว่า ด้วงก้นกระดก , ด้วงก้นงอน หรืออีกชื่อ แมลงเฟรชชี่ หากถูกกัดจะเกิดผิวหนังอักเสบ จากการสัมผัสสารชนิดหนึ่งจากตัวแมลง ซึ่งถิ่นที่อยู่อาศัยมักจะอยู่ตามพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟ และแสงสว่างตามบ้านเรือน โดยเฉพาะจะมีมากในช่วงปลายฤดูฝน

แมลงชนิดนี้สามารถปล่อยสารที่เรียกว่า Pederin  ออกมา โดยสารชนิดนี้ก่อให้เกิดความระคายเคืองกับผิวหนังมาก ทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ที่สัมผัสโดน และจะมีอาการแสบร้อน หรือคันได้เล็กน้อยโดยไม่ได้ก่อให้เกิดอาการปวดแสบรุนแรงแต่อย่างใด และมีการอักเสบของผิวหนังได้ โดยความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณความมากน้อย หรือความเข้มข้นของสาร Pederin ที่สัมผัสโดน  โดยจะเริ่มเกิดผื่น และอาการแสบ เมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง ต่อมาจะเกิดเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน หรือรอยไหม้ลักษณะเป็นทางยาว โดยลักษณะที่เกิดเป็นทางยาวเพราะเกิดจากการปัดด้วยมือ หรือบางรายจะเกิดผื่นที่บริเวณซอกรอยพับที่ประกบกัน (kissing lesion) ร่วมกับตุ่มน้ำพอง และตุ่มหนองใน 2-3 วัน ซึ่ง ผื่นที่เกิดจากการสัมผัสแมลงก้นกระดกนี้ในเวลาต่อมาผื่นหรือแผลจะตกสะเก็ด

สำหรับในรายที่ผื่นเป็นบริเวณกว้าง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ ข้อความแนะนำหากสัมผัสถูกตัวของ “แมลงก้นกระดก” ให้รีบล้างด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสโดนแมลง สังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ถ้าเกิดเพียงรอยแดงเล็กน้อยสามารถหายเองได้ใน 2 - 3 วัน ไม่จำเป็นต้องทายาใด แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้น หรือมีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

การรักษาผื่นก็คือการให้ครีมสเตียรอยด์ทาในผื่นแดงระยะเริ่มแรก แต่ถ้าผื่นมีตุ่มน้ำพองเป็นบริเวณกว้างหรือแผลไหม้ควรทำการประคบด้วยน้ำเกลือครั้งละ5-10 นาที วันละ  3-4 ครั้งจนแผลแห้ง ร่วมกับพิจารณายาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมและการรับประทานยาแก้คันเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันในผู้ป่วยบางราย ด้านคำแนะนำในการป้องกัน “แมลงก้นกระดก” ก็คือ ไม่ควรจับตัวแมลงมาเล่น ควรหลีกเลี่ยงการปัดหรือบีบตัวแมลงที่มาเกาะตามตัว ควรใช้วิธีเป่าแมลงให้หลุดออกไปเองโดยไม่ต้องจับโดนตัวแมลง ก่อนนอนควรปัดที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ก่อน เพื่อป้องกัน รวมทั้ง ควรปิดประตูตู้เสื้อผ้า ประตู และหน้าต่างห้องนอนให้มิดชิดทั้งกลางวัน และกลางคืน ในช่วงกลางคืนควรเปิดไฟเฉพาะเท่าที่จำเป็นโดยเฉพาะควรปิดไฟห้องนอน เพราะ “แมลงก้นกระดก” มักชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้าน