posttoday

ชายเข้าสู่วัยทอง

25 มิถุนายน 2560

“ชายวัยทอง” เป็นคำที่หลายท่านกังวลว่าตัวเองจะเป็นหรือไม่ มีอาการอย่างไร ต้องไปพบแพทย์หรือไม่ ป้องกันได้ไหม

โดย...ผศ.นพ.ธิติ สนับบุญ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ชายวัยทอง” เป็นคำที่หลายท่านกังวลว่าตัวเองจะเป็นหรือไม่ มีอาการอย่างไร ต้องไปพบแพทย์หรือไม่ ป้องกันได้ไหม

ที่จริงคำคำนี้ถูกบัญญัติขึ้นมาให้สอดคล้องกับคำว่า “หญิงวัยทอง” เพื่อที่จะให้ผู้ชายได้ตระหนักถึงสุขภาพของร่างกายและจิตใจที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

ความผิดปกติที่พบนี้เกิดจากระดับฮอร์โมนเพศชายที่ลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ปกติหรือเรียกว่า “ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย” ซึ่งจะมีอาการและอาการแสดงคล้ายคลึงกับลักษณะที่เกิดขึ้นในคนสูงอายุ โดยที่ภาวะชายวัยทองนี้สามารถรักษาและป้องกันได้

คำถามที่มักจะถามบ่อยเกี่ยวกับ “ชายวัยทอง” ประกอบด้วยดังนี้

1.ภาวะ “ชายวัยทอง” มีจริงหรือไม่ ฮอร์โมนเพศชายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ จากช่วงวัยเด็กเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ได้แก่ กล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น เสียงแตกห้าว สิว ความต้องการทางเพศ ความกระชุ่มกระช่วย ความกระฉับกระเฉง โดยที่ระดับฮอร์โมนเพศจะสูงสุดช่วงวัยหนุ่มและค่อยๆ ลดลงเมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป 

การที่ฮอร์โมนเพศชายลดลงมากเกินไปส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ กล้ามเนื้อแขนขาเล็กลง อ้วนลงพุง ความต้องการทางเพศลดลง เต้านมโตขึ้น ไม่ค่อยสดชื่นหรือกระฉับกระเฉง ซึ่งจะคล้ายคลึงกับลักษณะที่พบในผู้ชายที่สูงอายุ ทำให้ตัวผู้ป่วยและแพทย์ผู้ดูแลไม่ให้ความสนใจ เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นผลจากความสูงวัย

รวมถึงมีความเข้าใจว่าชายวัยทองเป็นเรื่องเกี่ยวกับความต้องการทางเพศเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้วการศึกษาในต่างประเทศพบว่าความชุกของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายที่อายุมากกว่า 45 ปี สูงถึง 12-38% และพบสูงขึ้นตามอายุ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้คุณภาพชีวิตกลับมาเป็นปกติได้

2.มีอาการอย่างไร การดำเนินโรคของชายวัยทองจะแตกต่างกับที่เกิดขึ้นกับของผู้หญิง เนื่องจากระดับฮอร์โมนเพศชายที่ค่อยๆ ลดลง ขณะที่ของเพศหญิงจะหยุดทำงานทันที ทำให้ความผิดปกติทางคลินิกที่พบจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และไม่ค่อยชัดเจนนักโดยเฉพาะในช่วงระยะแรก สามารถจัดกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเป็นหมวดหมู่ดังนี้

2.1 ความต้องการทางเพศและสมรรถภาพทางเพศลดลง บางรายอาจมีปัญหาเรื่องมีบุตรยาก สังเกตจาก ความถี่ของการแข็งตัวของอวัยวะเพศช่วงเช้าหลังตื่นนอน (Morning Erection) ลดลง ซึ่งโดยปกติผู้ชายทุกคนควรมีทุกเช้า

2.2 ความจำและอารมณ์ ได้แก่ ความจำเลวลง สมรรถภาพการทำงานเลวลง ซึมเศร้าหรือหงุดหงิดง่าย

2.3 การนอนหลับ คุณภาพเลวลง นอนหลับไม่สนิท ตื่นเช้าไม่ค่อยสดชื่น และง่วงนอนช่วงบ่าย

2.4 กล้ามเนื้อและรูปร่างของร่างกาย จะพบลักษณะอ้วนลงพุง กล้ามเนื้อเล็กลง ความแข็งแรงหรือความอดทนลดลง

2.5 การลดลงของขนตามร่างกาย สังเกตจากความถี่ของการโกนหนวดและเคราห่างออก

2.6 มวลกระดูกบางลง ทำให้เกิดหลังโค้งและกระดูกหักง่ายขึ้น

ถ้ามีอาการหรืออาการแสดงที่กล่าวไว้ข้างต้น อย่างน้อยหนึ่งข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวข้อด้านเพศ ควรพบและปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับความน่าจะเป็นของภาวะชายวัยทอง กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะพบภาวะนี้ ได้แก่ คนอ้วน เบาหวานชนิดที่ 2 ไตวาย เคยได้รับการผ่าตัดหรือฉายแสงบริเวณต่อมใต้สมอง โรคถุงลมโป่งพอง ไตวาย และได้รับยาสเตียรอยด์ การวินิจฉัยจำเป็นต้องได้รับการตรวจฮอร์โมนเพศชายเพื่อยืนยัน

3.ต้องทำการรักษาหรือไม่ ผู้ป่วยภาวะชายวัยทองเมื่อได้รับฮอร์โมนเพศเพื่อชดเชย สามารถทำให้ความผิดปกติดีขึ้นหรือหายได้ นอกจากนี้ยังทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น โดยฮอร์โมนที่ใช้สามารถเลือกได้ทั้งแบบ รับประทาน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อและทา การใช้ยาดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพื่อประเมินประโยชน์ที่ได้รับรวมถึงอาการข้างเคียงของฮอร์โมนที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่ ปัญหาต่อมลูกหมาก ความเข้มข้นของเลือด และนอนกรน เป็นต้น

4.ป้องกันได้หรือไม่ พบว่าการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ประกอบด้วย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การควบคุมน้ำหนัก เป็นวิธีพื้นฐานที่จะลดโอกาสที่จะเกิดภาวะชายวัยทอง รวมถึงการป้องกันการบาดเจ็บต่อระบบฮอร์โมนเพศชาย ได้แก่ การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การกระทบกระแทกบริเวณอัณฑะและสมอง เป็นต้น ล้วนเป็นวิธีที่สามารถช่วยให้เรามีสุขภาพดีและแข็งแรงได้

จะเห็นว่า ภาวะชายวัยทองไม่จำเป็นจะต้องเกิดทุกคน สามารถป้องกันและรักษาได้ ถ้าเรามีความรู้ ความเข้าใจ และนำมาประยุกต์กับตัวเรา จะถือเป็นการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีชีวิตที่มีคุณภาพ