posttoday

ความคุ้นเคย กับ ความถูกต้อง

09 กรกฎาคม 2560

วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. ใกล้เข้ามา หัวข้อสนทนาเรื่องการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องวนกลับมาเป็นประเด็นอีกคำรบ

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. ใกล้เข้ามา หัวข้อสนทนาเรื่องการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องวนกลับมาเป็นประเด็นอีกคำรบ

วิวาทะเรื่องตัวสะกดที่ถูกต้องระหว่าง “หมูหย็อง” กับ “หมูหยอง” กลายเป็นหัวข้อสนทนาที่ร้อนแรง เรียกแขกให้ออกมาแสดงความคิดความเห็นหลากหลาย

ปัญหาอยู่ที่ “คำเฉลย” ยืนยันว่าตัวสะกดที่ถูกต้อง คือ “หมูหย็อง” ไม่อาจนำไปสู่ข้อยุติ​

เมื่อส่วนหนึ่งมองว่า “ความคุ้นเคย” ​กับ “ความถูกต้อง” น่าจะเป็นสิ่งเดียวกัน 

อีกด้านเห็นแย้งว่า “ความผิด” ที่แพร่หลายใช้กันจนกลายเป็นความเคยชินไม่อาจ “เปลี่ยนผิดให้เป็นถูก” บางฝ่ายย้อนไปถึง “จุดประสงค์” ของที่ใช้และเป็นที่ยอมรับเข้าใจกันในหมู่คนจำนวนมาก

ไม่ใช่เรื่อง “ปกติ” เมื่อจำนวนมากในประเทศ สะกดคำนี้กันผิดๆ ว่า “หมูหยอง” ​ยืนยันด้วยภาพถ่ายหีบห่อบรรจุภัณฑ์ “หมูหย็อง” เจ้าดังจาก จ.ขอนแก่น ซึ่งพลเมืองเน็ตถ่ายรูปมาเป็นหลักฐานหักล้าง

แถมไล่เรียง ด้วยผลิตภัณฑ์จากหมูฝอยยี่ห้ออื่นที่สะกดไปในทิศทางเดียวกันว่า “หมูหยอง” แบบพร้อมเพรียง

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้น่าจะมาจากในอดีต ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 บัญญัติศัพท์คำนี้ว่า “หมูหยอง” ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็น “หย็อง” ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ปี 2542 และ 2554 ด้วยความหมาย “น. ของกินทำด้วยหมูเนื้อแดงปรุงรส ต้มเคี่ยวให้เปื่อยจนงวด นำไปผัดจนแห้ง ขยี้ให้เป็นฝอย”

สอดรับกับคำอธิบายถึงที่มาที่ไปของการเปลี่ยนวิธีการสะกด​เพื่อกระชับเสียงอ่านให้สั้น จึงต้องใส่ “ไม้ไต่คู้” ยกเว้นคำศัพท์ที่มาจากภาษาต่างประเทศ แม้จะเสียงสั้นก็ไม่ต้องใส่ “ไม้ไต่คู้”

ไม่ต่างจากคำว่า “แซว” ที่เคยใช้กันมาจนคุ้นเคยนั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ระบุว่าคำที่ถูกต้องต้องเขียนว่า “แซ็ว” แปลว่า “(ปาก) ก.กระเซ้า”

บางฝ่ายยังพยายามเสาะหาคำมาเปรียบเทียบหามาตรฐานของการใช้ “ไม้ไต่คู้” ในภาษาไทย เช่น คำว่า “เซเล็บ” ที่น่าจะออกเสียงได้ชัดเจนว่า “เซเลบ” ที่ใช้กันปกติ หรือ “สเต๊ก” ที่สะกดถูกต้อง​ แต่ยังมีคนสะกด “สเต็ก”

บางคนมองไกลไปถึงคำอื่นๆ ที่ควรเปลี่ยนตัวสะกดเพื่อให้เข้ากับเสียงอ่าน เช่น “ท่าน” ​เป็น “ทั่น” “ร้องไห้” เป็น “ร้องห้าย”

กระแสขัดหูขัดตาของผู้ที่เคยชินกับคำว่า “หมูหย็อง” ลุกลามไปสู่การตั้งคำถามของบางกลุ่มที่เห็นว่า​ ราชบัณฑิตควรเอาเวลาไปทำอย่างอื่นมากกว่าจะมา​แก้ไขคำที่ใช้กันมานานนม กลับ “ถูก” ​เป็น “ผิด”

​บางฝ่ายเห็นด้วยว่าเมื่อผิดก็ควรแก้ไข แต่ควรต้องให้เหตุผลและเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้รับทราบ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่รับรู้มาในอดีต และปรับใช้ของใหม่ได้อย่างถูกต้อง

ส่วนกระแสตอบรับ มีทั้งฝ่ายยอมรับในชุดข้อมูลที่ถูกต้อง และพร้อมจะแก้ไขคำสะกดให้ถูกต้องในอนาคต แต่บางฝ่ายประกาศชัดจะเขียนแบบผิดๆ ต่อไป

ยังไม่รวมกับเสียงด่า เสียงประชดประชัน ของบรรดาเกรียนคีย์บอร์ดที่ออกแนว “แซะ” มากกว่าการพูดกันด้วยเหตุด้วยผล

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนแต่สะท้อนความคิดความอ่านของคนในสังคมในปัจจุบัน ​ทั้งการตั้งคำถามกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยชุดข้อมูลต่างๆ  ที่หยิบยกมาหักล้างกัน​ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล อารมณ์ ความรู้สึก

แต่ที่สำคัญคือมุมมองความคิดของคนบางกลุ่มที่ยัง “ยึดติด” ​และปักใจเชื่อในชุดความคิดของตัวเอง โดยไม่เปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พยายามออกมาทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น

พานคิดไปว่าความคุ้นเคยล้วนแต่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่แตกต่างจากเดิมล้วนแต่เป็นสิ่งผิดไม่สมควรยอมรับ

ในขณะที่บางฝ่ายเริ่มตั้งคำถามถึงความถูกต้องกับดุลพินิจของ “ผู้มีอำนาจ” ชี้ขาดสร้างความเปลี่ยนแปลง