ปลุกมวลชนให้กำลังใจ 'ปู' กระแสที่จุดติดยาก
จะรักใครชอบใครก็รักไป แต่ไม่ควรต้องทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปด้วย หรือทำให้กฎหมายเสียหาย เพราะฉะนั้นใครที่ไปปลุกระดมมวลชนต่างๆ ให้เข้ามา หรือชุมนุม ผิดกฎหมายทุกตัว
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
“จะรักใครชอบใครก็รักไป แต่ไม่ควรต้องทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปด้วย หรือทำให้กฎหมายเสียหาย เพราะฉะนั้นใครที่ไปปลุกระดมมวลชนต่างๆ ให้เข้ามา หรือชุมนุม ผิดกฎหมายทุกตัว หากวันนี้ยังไม่โดน วันข้างหน้าก็โดน เพราะกฎหมายก็คือกฎหมาย ไม่มีการยกเลิก”
สัญญาณชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อกระแสข่าวการระดมนัดรวมตัวของประชาชนเพื่อให้กำลังใจ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมารับฟังคำพิพากษาในคดีรับจำนำข้าว ในวันที่ 25 ส.ค.นี้
สอดรับกับ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกและโฆษก คสช. ที่ออกมาระบุว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันมือที่ 3 สร้างสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ซึ่งจะมีการแถลงปิดคดีโครงการรับจำนำข้าว โดยขณะนี้ยังไม่พบความเคลื่อนไหวการนัดระดมมวลชน
สะท้อนให้เห็นความพยายามและมาตรการคุมเข้มสกัดมวลชนไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวอันสุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่ความวุ่นวาย หรือบานปลายกลายเป็นพลังมวลชนที่จะกระทบกับความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐบาล คสช. หรือเปิดช่องให้มือที่ 3 หรือกลุ่มที่จ้องก่อความไม่สงบใช้โอกาสนี้ออกมาซ้ำเติมสถานการณ์
ทำให้กระแสการระดมพลคนรักยิ่งลักษณ์รอบนี้มีโอกาสจุดติดได้ยาก
ต้องยอมรับว่า ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศมีกระแสเห็นอกเห็นใจ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อยู่ไม่น้อย ยังไม่รวมกับบรรดาฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยและมวลชนคนเสื้อแดง ที่ยังเหนียวแน่นอยู่จนถึงทุกวันนี้
แต่ในบรรยากาศบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ ยากที่มวลชนจะสามารถออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างอิยิ่งลักษณ์ ชินวัตรสระ โดยเฉพาะกับการออกมาเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าสุ่มเสี่ยงกับความมั่นคง ซึ่งยิ่งเป็นไปได้ยากด้วยเหตุผลหลายประการ
ประการแรก เงื่อนไขเรื่องข้อกฎหมาย ทั้งคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ให้ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ในการควบคุมแทนกฎอัยการศึกทันที โดยออกกฎมา 14 ข้อ
โดยข้อ 12 ระบุว่า ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
อีกด้านหนึ่ง ยังมีข้อจำกัดเรื่อง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่กำหนดรายละเอียด ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมในพื้นที่ต้องห้าม โดยข้อ 2 ห้ามชุมนุม ภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลอื่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น
เงื่อนไขเหล่านี้คงยากจะที่ทำให้มวลชนกลุ่มใหญ่กล้าฝ่าฝืนเข้ามาในพื้นที่ศาล อันจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับ ไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในแง่ “แกนนำ” ที่จะออกมาระดมมวลชนนั้น ทั้งฝั่งอดีต สส.เพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดง ที่ไปร่วมให้กำลังใจการขึ้นศาลของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แต่ละนัดที่ผ่านมา ก็เป็นการปส่วนตัวไม่ใช่การระดมมวลชนจำนวนมากเหมือนการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา
อีกทั้งเวลานี้แกนนำเสื้อแดงแต่ละคนล้วนแต่มีคดีความติดตัว หลายคนอยู่ระหว่างถูกคุมขัง ทั้ง จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ล่าสุดศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา จากคดีหมิ่นประมาทของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
แกนนำหลายคนได้รับการประกันตัวชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือสุ่มเสี่ยงกระทบต่อความมั่นคงใดๆ หากออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีระดมมวลชนย่อมเสี่ยงจะเป็นเงื่อนไขถอนประกัน หลายคนมีคดีความร้ายแรง อย่างข้อหาก่อการร้าย คงไม่เอาตัวเองมาเสี่ยง
อีกด้านหนึ่ง อดีต สส.เพื่อไทย ช่วงนี้อยู่ระหว่างการเก็บเนื้อก็ตัวรอลงสนามการเมือง ที่เบื้องต้นมีกำหนดการคร่าวๆ จะจัดวันที่ 19 ส.ค. 2561 การกระทำอันสุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่คดีความอันอาจเป็นเงื่อนไขให้ถูกกันออกจากสนามการเมืองในอนาคต อาจต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยง
รวมทั้ง อดีต สส.หลายคนก็ล้วนแต่มีคดีความอยู่ระหว่างการพิจารณา การไปดำเนินการใดๆ ที่สร้างความสุ่มเสี่ยงจะกระทบไปถึงคดีความ ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในสถานการณ์ที่รัฐบาล คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเมือง
ที่สำคัญ เวลานี้เริ่มเห็นการขยับของเจ้าหน้าที่ในหลายพื้นที่กับการสกัดมวลชนไม่ให้เดินทางขึ้นมารวมตัวกันให้กำลังในอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อย่างที่มีความพยายามจะดำเนินการเวลานี้
การใช้หลังพิงมวลชนยืนหยัดต่อสู้คดี ซึ่งประกาศไปแล้วว่าไม่คิดหนีไปไหนนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่จะปลุกให้มวลชนในพื้นที่ซึ่งสงบมานานได้ตื่นตัวอีกครั้ง
แม้รอบนี้ยากจะออกมาเคลื่อนไหวได้สำเร็จ แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีความจำเป็นเพราะต้องการทิ้งเชื้อ พุ่งเป้าไปยังเรื่องการถูกกระทำ เรียกคะแนนสงสาร อันจะถูกหยิบยกไปเป็นประเด็นเคลื่อนไหวทั้งในช่วงระหว่างการหาเสียง และหลังรู้ผลเลือกตั้ง