วิทย์วิจัยเพิ่มมูลค่ายาง สร้างเศรษฐกิจไทย
ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินสินค้าเกษตรอย่าง “ยางพารา” มีแนวโน้มราคาปรับตัวดีขึ้นอยู่ในเกณฑ์ “ฟื้นตัว”
โดย...อาทิตย์ ลมูลปลั่ง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินสินค้าเกษตรอย่าง “ยางพารา” มีแนวโน้มราคาปรับตัวดีขึ้นอยู่ในเกณฑ์ “ฟื้นตัว” หลังครองตำแหน่งดาวร่วง ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2554 เกิดวิกฤตยางพาราล้นตลาด ส่งผลให้ราคาลดลงเกือบร้อยละ 80 ต่อเนื่อง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เม็ดเงินสูญหายเฉลี่ยปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท สร้างผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญของประเทศไทย
แม้ว่าในปี 2559-2560 ราคายางพาราจะทรงตัวขึ้นแล้วก็ตาม แต่เพื่อให้ประเทศมีรายได้จากสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มจากยางพารา จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาของหลายองค์กร ที่จะช่วยสร้างผลกระทบที่ดีต่อการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม “ยางพารา” และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราโดยรวมของประเทศไทย
ล่าสุด จึงเกิดการผนึกกำลังที่เรียกได้ว่าเป็น “เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา” โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยระดับประเทศ ร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ประกอบด้วย การยางแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดการประชุมความร่วมมือการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยียาง เพื่อเป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา และนำไปสู่ความร่วมมือสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมยางพาราในประเทศ
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราหรือยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยผลิตได้มากกว่า 4 ล้านตัน/ปี และมีผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนหลายภาคส่วนในประเทศ เช่น เกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ผลิตยางดิบ อุตสาหกรรมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งนี้รัฐบาลได้สนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาแปรรูปยางดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก สำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านยางพาราของศูนย์เอ็มเทค สวทช. มียุทธศาสตร์การวิจัยยางล้อ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 โดยอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมขนส่งและการบินนั้น ซึ่งถือเป็น 2 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยศูนย์เอ็มเทค สวทช. มีโครงการวิจัยเกี่ยวกับแปรรูปยางพารา เช่น งานวิจัยยางล้อยึดเกาะถนนเปียกได้ดี ยางล้อความต้านทานการหมุนต่ำ ยางล้อเสียงดังต่ำ และยางล้อไม่ใช้ลม (Lite Wheel) เป็นต้น จะช่วยให้เกิดการเพิ่มผลผลิตในการส่งออก ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีนวัตกรรมการแปรรูปยางพาราซึ่งเป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่ายางพารา จาก “เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา” อีกมาก อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีนวัตกรรม แผ่นรองแผลกดทับจากโพลีเมอร์ผสมยางพารา เพื่อช่วยผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ ข้อดีของแผ่นรองแผลกดทับที่ทำจากยางพารามีคุณสมบัติที่นิ่มพอดี ยังช่วยกระจายแรงกดทับได้ดีกว่าเบาะแบบใช้ลม และช่วยให้แผลใหญ่นั้นเล็กลงได้เร็วขึ้น เป็นที่ชื่นชอบของคนไข้และแพทย์ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีสีเพนต์เสื้อผ้าจากยางพารา สร้างสีสันให้กับเสื้อผ้ามีมูลค่าสูงขึ้น
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำนวัตกรรมยางพาราแท่งมาประยุกต์ใช้เป็นไส้ในของ “หมอนขิด” ทดแทนการใช้ไส้นุ่นซึ่งเริ่มหายากในประเทศ ถือเป็นการประยุกต์ใช้ยางพาราเข้ากับอัตลักษณ์ของสินค้าพื้นเมืองภาคอีสานได้อย่างลงตัว ที่สำคัญทำให้หมอนขิดนุ่มขึ้นจากความยืดหยุ่นของยางพารา และไม่เกิดเชื้อราบนหมอน “ยางจุกนมเทียมสำหรับลูกโค” ทำจากยางพาราพัฒนาขนาดให้พอดีกับขวดพลาสติกเหลือทิ้ง เป็นการลดต้นทุนการนำเข้ายางจุกนมเทียม จากต่างประเทศ
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผลิตวัสดุปลูกต้นกล้า โดยใช้เศษวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติ เช่น กะลากาแฟ หญ้าแฝก เยื่อแฝก และศิลาแลง มาผสมกับน้ำยางธรรมชาติเล็กน้อยเพื่อขึ้นรูปเป็นวัสดุปลูกกล้าไม้ ที่มีความเป็นธรรมชาติทดแทนการใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก
มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญญบุรี ผลิตผลิตภัณฑ์แผ่นผนังดินอัดสำเร็จรูปที่ต้านทานการชะล้างสูง ที่พัฒนาจากดินเหนียวผสมวัสดุธรรมชาติ (น้ำยางพารา) เพื่อช่วยต้านทานการพังทลายจากการชะล้างของน้ำ และสภาพอากาศ ประหยัดพลังงานและมีความทนทานกว่าการอัดดินเหนียวแบบเดิม และยังมี “อิฐบล็อกจากคอนกรีตผสมน้ำยางพารา” เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของอิฐบล็อกก่อผนังได้อีกด้วย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำนวัตกรรมยางพาราอัดก้อนบรรจุลงในตาข่ายแห สำหรับเป็นวัสดุดูดซับคราบน้ำมันที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติและในท้องทะเล สามารถดูดซับได้รวดเร็วและนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ไม่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เหล่านี้เป็นเพียงบางตัวอย่างของนวัตกรรมยางพาราที่นำมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งต้องพึ่งพาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาช่วย และการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งของ “เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา” ในครั้งนี้ จะช่วยให้การทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมยางพาราในประเทศไทยมีความยั่งยืนต่อไป