posttoday

J-Cruises 12

06 สิงหาคม 2560

บนถนนสายหลักของเมือง Shenkeng ยามค่ำคืนไม่ได้เงียบเหงาอย่างที่คิด ยังมีร้านรวงเปิดอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก

บนถนนสายหลักของเมือง Shenkeng ยามค่ำคืนไม่ได้เงียบเหงาอย่างที่คิด ยังมีร้านรวงเปิดอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก สลับกับแผงลอยขายอาหารแบบบ้านเราอีกสามสี่แผง นอกจากนี้ยังมีร้านสะดวกซื้ออีกร้านสองร้านให้ฝากชีวิต ผมมายืนสังเกตการณ์หน้าร้านขายของชำที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังระดับโลก ทั้งสองฝั่งมีป้ายรถเมล์อยู่บริเวณหน้าร้านทั้งคู่ ป้ายรถเมล์หน้าร้านขายของชำคือรถขาเข้า ป้ายหน้าร้านสะดวกซื้อคือรถขาออก เวลา 4 ทุ่มร้านขายของชำยังคงเปิดอยู่

โดยส่วนตัวผมว่าไม่ใช่เรื่องปกตินักสำหรับกิจการแบบนี้ในบ้านเรา ยิ่งเจอร้านสะดวกซื้ออยู่ตรงข้ามด้วยโอกาสปิดกิจการสูงมาก แต่ร้านในเมือง Shenkeng สามารถแข่งขันได้ โดยความเข้าในพฤติกรรมของคนในชุมชนครับ อย่างแรก คือ มีเครื่องเล่นหยอดเหรียญสำหรับเด็กตั้งไว้ที่หน้าร้าน เท่าที่กวาดดูด้วยสายตา รถและเรือบินหยอดเหรียญ 2 เครื่องนี้เป็นความบันเทิงสำหรับเด็กเพียง 2 ชิ้นของเมือง

J-Cruises 12

อย่างที่ 2 คือคนที่นั่งรถเมล์กลับจากทำงานแล้วลงป้ายนี้ ก็สามารถเข้าไปหาซื้อของกระจุกกระจิกได้ทันที รวมทั้งสุราสารพัดยี่ห้อที่เรียงอยู่เต็มชั้นอันเป็นจุดเด่นอีกอย่างที่ร้านตรงข้ามไม่มี ตอบโจทย์นักดื่มหรือคนชอบร่ำสุราได้เป็นอย่างดี อย่างที่ 3 แผงลอยขายอาหารตั้งอยู่ฝั่งเดียวกันกับร้านชำทั้งหมด ผมคิดว่าเจ้าของแผงรู้พฤติกรรมคนในชุมชน ลงรถเมล์ซื้อของจุกจิกหรือสุรา แล้วก็แวะซื้อกับแกล้มหรือของกินเข้าบ้าน ไม่ต้องข้ามฟากไปให้เสียเวลาแต่อย่างใด ยกนี้ร้านประจำถิ่นชนะครับ

ติดกับร้านชำเป็นร้านขายเสื้อผ้าที่เปิดจนดึกเช่นกัน ถัดไปอีกหน่อยมีร้านขายอาหารอยู่ติดกับร้านขายแว่นตา เป็นอะไรที่น่าแปลกใจอีกเช่นกัน 4 ทุ่มยังพอมีคนเดินดูเสื้อผ้า แต่แว่นตานี่สิจะมีใครมาซื้อก็ไม่รู้ ระหว่างที่คิดก็เหลือบไปเห็นหนุ่มหน้าตาดีที่ร้านข้างๆ เลยแวะไปดูหน่อย พ่อหนุ่มกำลังลวกหมี่อยู่พร้อมๆ กับเปิดเข่งนึ่งเห็นเกี๊ยวและเสี่ยวหลงเปาดูน่ากิน เมื่อเย็นไม่มีโอกาสกินที่ร้าน Din Tai Fung สงสัยโชคชะตาพาให้มาเจอร้านนี้ เลยถือโอกาสสั่งทั้งเกี๊ยวนึ่งและเสี่ยวหลงเปามากิน เกี๊ยวรสชาติเหมือนเกี๊ยวซ่าญี่ปุ่น แต่อร่อยสู้เสี่ยวหลงเปาไม่ได้ เจอมื้อดึกเข้าไป 2 เข่ง ที่ตั้งใจว่าจะเดินไปชิมไปเป็นหมดกัน แผงลอยสารพัดที่เล็งไว้คงต้องไปจัดคราวหน้าแล้ว

J-Cruises 12

เช้าวันถัดมาตั้งใจจะลงมาหาข้าวเช้าแบบท้องถิ่นกินเสียหน่อย เดินกลับมาที่ป้ายรถเมล์ก็พบว่ายามเช้าคือชัยชนะของร้านสะดวกซื้อ เพราะนอกจากจะเปิดแอร์เย็นฉ่ำผิดกับร้านท้องถิ่นแล้วยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งจัดเป็นที่นั่งดื่มกาแฟและของขบเคี้ยวในร้านได้เลย ผู้คนที่จะเดินทางเข้าไทเปหรือออกนอกเมือง ต่างมายืนรอรถเมล์ฝั่งร้านสะดวกซื้อ ความเสียเปรียบยามค่ำคืนกลับพลิกฟื้นมีเปรียบได้ในยามเช้า นี่แหละครับสัจธรรมริมทาง ไม่มีใครที่ชนะได้ตลอดและไม่มีใครแพ้ไปเสียทุกครั้ง ผมเดินเตร่ดูร้านอาหารเช้าหลายร้านดูน่ากินไปหมด มีทั้งแนวท้องถิ่นอย่างอิ่วจาก้วย (หรือที่คนไทยเราเรียกผิดว่าปาท่องโก๋) และแนวประยุกต์ฝรั่งปนจีน เช่น แซนด์วิช และแฮมเบอร์เกอร์ ส่วนแผงลอยขายอาหารยามค่ำก็แปลงร่างเป็นแผงขายหมูในยามเช้า นอกจากนี้ก็ยังมีชาวบ้านนำผักสดมาขายตามมุมถนนอีกด้วย เป็นบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาไม่แพ้ยามค่ำคืนเลยครับ

10.30 น. ได้เวลาออกเดินทางจากโรงแรม Fullon โดยมีจุดหมายปลายทางที่ท่าเรือ Keelung เราใช้เวลาเดินทางกันประมาณ 40 นาทีก็ถึง เรือ Sapphire Princess จอดเทียบท่าเห็นเด่นเป็นสง่าแต่ไกล รถบัสเข้าไปยังลานจอด พวกเราทยอยลงจากรถพร้อมสัมภาระ มาเรือสำราญกับทัวร์นี่ดีอย่างตรงจะขนกระเป๋ามากี่ใบหนักแค่ไหนก็ไม่มีปัญหา เพราะรถบัสรับส่งถึงทุกจุด ถึงแม้ต้องลากกระเป๋าเองก็เป็นระยะสั้นๆ แต่ถ้าท่านเดินทางเองคงลำบากมิใช่น้อย

J-Cruises 12

จากลานจอดรถลากกระเป๋าไปยังอาคารผู้โดยสารที่ออกแบบมาเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้สบายๆ จุดแรกที่ต้องไปก่อนเลย คือ ช่องรับสัมภาระ แนะนำว่าให้ส่งมอบกระเป๋าใหญ่เล็กของเรากับเจ้าหน้าที่ให้หมดจะได้ไม่เป็นภาระยกเว้นของสำคัญและเอกสารที่ต้องใช้ในการเช็กอิน จากนั้นก็เดินตามช่องทางเพื่อไปเช็กอิน ผู้โดยสารทยอยมากันเยอะแล้วคิวเช็กอินเลยยาวหน่อย อันที่จริงในตั๋วเรือเค้าจะระบุเวลาเช็กอินมาให้แล้ว

ดังนั้น ทุกท่านจึงควรมาตามเวลาที่ระบุ เพราะถ้าทุกคนมาพร้อมกันก็จะเกิดความโกลาหล และเนื่องจากเรือลำนี้เป็นเรือที่ทางไต้หวันเหมาลำเพื่อขายในตลาดของตัวเอง ผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่เห็นจึงเป็นคนไต้หวัน มีชาติอื่นรวมชาติไทยแล้วไม่มากนัก เจ้าหน้าที่ของเรือทยอยปล่อยผู้โดยสารขึ้นไปเช็กอินทีละชุดเพื่อไม่ให้เคาน์เตอร์เช็กอินคับคั่งเกินไป เอกสารที่ใช้ก็มีตั๋วเรือ (E-Ticket Boarding Pass) หนังสือเดินทาง ใบสำแดงสุขภาพ (Public Health Questionnaire) และแบบฟอร์มเข้าประเทศญี่ปุ่น เมื่อเจ้าหน้าที่รับเอกสารไปตรวจสอบเรียบร้อยแล้วก็จะส่งมอบ Cruises Card พร้อมคืนหนังสือเดินทางกับตั๋วเรือและแผนที่เรือมาให้ จากนั้นก็ไปเข้าแถวเพื่อผ่านพิธีการตรวจคนออกนอกประเทศและเดินเข้าสู่ตัวเรือ ระหว่างทางก็มีจุดถ่ายภาพตามธรรมเนียมเพื่อเอาไว้ขายเราบนเรือ

J-Cruises 12

ด่านแรกบนเรือ คือ การถ่ายภาพเพื่อให้หน้าของเราไปปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลหลักของเรือ ซึ่งจะแตกต่างจากเรือ Costa ตรงที่ของ Princess รับการ์ดตอนเช็กอินแล้วค่อยไปถ่ายรูปในเรือ แต่ของ Costa ถ่ายรูปก่อนเข้าเรือและการ์ดวางรอไว้อยู่ในห้องพัก

ถ่ายภาพเสร็จแล้วก็ตรงไปยังห้องพักเพื่อรอรับสัมภาระ ผมเดาเอาว่าขั้นตอนการถ่ายภาพเป็นการส่งสัญญาณไปยังแผนกดูแลกระเป๋าให้นำส่งสัมภาระไปยังห้องพัก เพราะผมเข้าห้องได้แป๊บเดียวกระเป๋าก็มาถึงหน้าห้องในเวลาอันรวดเร็ว ยังไม่ทันสำรวจอะไรในห้องเลยด้วยซ้ำ พอได้กระเป๋าอย่างแรกที่ทำด้วยความสาแก่ใจก็คือ รื้อเสื้อผ้าและข้าวของออกจากกระเป๋าใหญ่ บรรจงแขวนบรรจงเก็บให้เป็นที่เป็นทาง ห้องพักของ Princess Cruisess กว้างขวางและมี Closet ขนาดกำลังเหมาะแขวนเสื้อผ้าทั้งกระเป๋าแล้วยังมีที่อีกเหลือเฟือ ที่ชอบมากอีกอย่างคือไม้แขวนเสื้อที่เตรียมไว้ให้หลายสิบอันไม่ต้องขอเพิ่มแต่อย่างใด ด้านข้างมีตู้ที่ทั้งชูชีพและเซฟบรรจุอยู่ในนี้หมด และยังเหลือช่องไว้เก็บพวกชั้นใน ถุงเท้า หรือเสื้อผ้าใส่แล้วอีกเหลือเฟือ

อีกด้านของ Closet เป็นห้องน้ำที่แทบจะเหมือนกับของเรือ Costa ทุกประการ กลับเข้ามาที่ส่วนพักผ่อน มีโต๊ะอเนกประสงค์พร้อมเอกสารสำคัญ Princess Patter หรือตารางกิจกรรมทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นบนเรือของแต่ละวัน ผมค่อยๆ เปิดอ่านก่อนจะเริ่มวางแผนการใช้ชีวิตตลอด 7 คืนบนเรือ Sapphire Princess อย่างปรีดิ์เปรม

J-Cruises 12