posttoday

เมืองพี่เมืองน้อง

12 สิงหาคม 2560

Nice (นีซ) เมืองริม Riviera หรือ Cote d’Azur ที่ทะเล Mediterranean ยังดูแลรักษาให้ตัวเองครองการเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลชั้นหนึ่ง

โดย...ม.ล.อัจฉราพร ณ สงขลา

Nice (นีซ) เมืองริม Riviera หรือ Cote d’Azur ที่ทะเล Mediterranean ยังดูแลรักษาให้ตัวเองครองการเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลชั้นหนึ่ง แต่ Nice ก็ไม่ต้องการเดินหน้าไปอย่างโดดเดี่ยว จึงได้จับมือกับหลายเมืองในโลกให้เป็นเมืองพี่เมืองน้อง (Sister Cities) ซึ่งก็มีทั้งหมดราว 30 เมือง ในหลายทวีป

เช่น Cape Town ในประเทศแอฟริกาใต้ Miami ในสหรัฐ SaintPetersburg ในรัสเซีย Rio de Janeiro ในบราซิล ฯลฯ และอีกหลายเมืองในเอเชีย ทั้งในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และจีน ซึ่งรวมทั้งเมือง “ภูเก็ต” ในประเทศไทย เมืองเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นเมืองอยู่ติดทะเล มีบรรยากาศหรือเนื้อหาบางอย่างคล้ายคลึงหรือเชื่อมต่อกันได้

“ภูเก็ต” ต้องมีเสน่ห์มากพอ Nice จึงมาจับมือร่วมเป็นเมืองพี่เมืองน้องด้วยว่าตามจริงแล้วคนยุโรปชอบนำคำว่า Riviera มาใช้เปรียบเปรยกับหาดภูเก็ตอยู่นานแล้ว เพราะในภาษาอิตาลี Riviera ก็แปลว่าหาดหรือท่าน้ำตรงตัวอยู่ 

คนไทยบางคนไม่ค่อยชอบที่จะนำภูเก็ตไปย้อมด้วยคำที่ใช้เรียกว่า Riviera เพราะเห็นว่าภูเก็ตต้องเป็นตัวตนและรูปแบบของเราเอง 

ข้อโต้แย้งนี้จะจบตรงที่ว่า...“เราจะหาจุดต่างหรือเราจะหาจุดร่วม” แต่ในที่สุดภูเก็ตก็ได้ตกลงเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมือง Nice ริมทะเล Mediterranean ของฝรั่งเศส

คนฝรั่งเศสเดินทางท่องเที่ยวเมืองไทย หากจะให้ครบสูตรจะมี 2 เป้าหมายใหญ่ คือการได้เรียนรู้วัฒนธรรมและสัมผัสธรรมชาติ

การมาเมืองไทยของคนฝรั่งเศสจึงมักจะเริ่มด้วยรายการเที่ยววัดและคลองในกรุงเทพฯ จากนั้นจะขึ้นไปดูวัฒนธรรมที่เชียงใหม่ แล้วก็ลงมาพักผ่อนที่ภูเก็ตแล้วบินกลับบ้าน มีโรงแรมของฝรั่งเศสตั้งอยู่ในไทยอยู่มากพอสมควร สายการบินไทยเที่ยวบิน TG 931 ใช้เครื่องบิน A380-800 ขนผู้โดยสารฝรั่งเศสจาก Paris Charles de Gaulle มากรุงเทพฯ เต็มลำทุกวัน ทั้งยังมีสายการบินเหมาลำบินจากฝรั่งเศสมาภูเก็ตอีก รวมแล้วมีผู้โดยสารฝรั่งเศสเดินทางมาภูเก็ตปีละไม่น้อย

สำหรับในแนวคิดการเป็นเมืองพี่น้องในระยะหลังมานี้ เหมือนกับกลายเป็นค่านิยมใหม่ หรือเป็นวัฒนธรรมใหม่ นอกจากจะร่วมมือให้เกิดความสัมพันธ์เพื่อเป้าหมายบางอย่างร่วมกันแล้ว ก็ยังแสวงหาความร่วมมือให้เกิดความเข้มแข็ง ช่วยผลักดันภารกิจบางอย่างให้เดินหน้าไปด้วยกัน

แนวคิดการเป็นเมืองพี่เมืองน้องมักเป็นเมืองที่มีลักษณะทางภูมิประเทศ หรือมีคุณค่าคล้ายกันจึงมาร่วมจับมือกัน

แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะอาจจะมีเจตนารมณ์ร่วมกันในอย่างอื่นก็ได้ สำหรับ Nice และภูเก็ตนั้นต่างก็เสนออัตลักษณ์ของตนได้ชัดเจน เช่นเดียวกับหลายเมืองในประเทศไทยที่ได้ร่วมมือตกลงเป็นเมืองพี่เมืองน้อง หรือเมืองแฝดกับเมืองอื่นในต่างประเทศในบางประเด็นที่น่าสนใจ

เช่น จ.ยโสธร ในประเทศไทยตกลงเป็นเมืองพี่เมืองน้องหรือเมืองแฝดกับเขตโยชิดะในเมืองโตโยะฮะชิ ประเทศญี่ปุ่น เพราะทั้ง จ.ยโสธร ของไทย และที่เขตโยชิดะของญี่ปุ่น มีกิจกรรมการยิงบั้งไฟคล้ายกัน  ซึ่งก็ไม่ถึงกับคล้ายคลึงกันเสียทีเดียว

เพราะบั้งไฟที่ยโสธรนั้นเขายิงกันขึ้นไปเป็นจรวดขอฝน ดูว่าบั้งใครยิงขึ้นไปใกล้วิมานให้พระอินทร์เกิดอาการสะดุ้งมากกว่ากัน

ส่วนที่เขตโยชิดะเขามีเทศกาลยิงพลุถวายเทพที่ช่วยดูแลชาวประมง และถือเป็นการอำลาเทศกาลปีนภูเขาไฟฟูจิยามาประจำปีด้วย โดยยิงกันในพื้นที่บริเวณปราสาทโยชิดะในวันที่ 27 ส.ค. ทุกปี 

การจุดพลุชนิดหนึ่งที่เรียกว่า...เทะซัทสึ ฮะนะบิ เขาจะบรรจุพลุในท่อนไม้ไผ่ยาวราว 1 เมตร ให้ผู้กล้าถือส่งพลุพ่นขึ้นไปในอากาศสูงราว 20 เมตร ราวครึ่งนาที จบด้วยการระเบิดที่ท้ายพลุยิงลงพื้น

ห้ามลอกเลียนแบบเด็ดขาด

ที่ จ.ยโสธร นั้น การยิงบั้งไฟทำให้เกิดโศกนาฏกรรมบั้งไฟแตกบ้าง หล่นใส่บ้าง ตายกันมาหลายครั้งแล้ว ที่โยชิดะการถือพลุเป็นกิจกรรมสำหรับผู้มีประสบการณ์เท่านั้น เพราะอันตรายมาก พลุอาจทำให้ผู้กล้าที่ไม่ใช่ตัวจริงถูกพลุลวกและหูดับได้

การเป็นเมืองที่มีกิจกรรมเร้าอารมณ์ ในเรื่องบั้งไฟและพลุของ จ.ยโสธร และที่เขตโยชิดะที่ญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้ เมื่อทั้งสองพื้นที่มาจับมือเป็นพื้นที่พี่น้องกันได้ก็ดูเหมาะสมดี 

ในบางกรณี การเป็นเมืองพี่เมืองน้องอาจอยู่ในประเทศเดียวกันก็ได้ ขอยกตัวอย่างเมืองพี่เมืองน้องหรือเมืองแฝด ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในประเทศไทยด้วยกัน มาร่วมมือกันทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับแผ่นดินตัวเอง

คือ...กรุงเทพมหานครไปตกลงเป็นเมืองพี่น้องกับ จ.แพร่

การเกิดเป็นเมืองพี่เมืองน้องของ 2 จังหวัดนี้ มาจากการที่ตกลงทำกิจกรรมที่สำคัญใหญ่ด้วยกัน

คือเมื่อครั้งที่กรุงเทพฯ ดำริจะรื้อเสาชิงช้าเดิมทิ้งเพราะไม้เสาชิงช้าเก่าผุและทรุดโทรม จึงตั้งคณะกรรมการหาต้นไม้สักทองขนาดใหญ่มาใช้ทำเสาชิงช้าทดแทนต้นที่กำลังจะรื้อลง

ในกิจกรรมนี้ก็ได้ถือฤกษ์ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ใน พ.ศ. 2549

กรุงเทพมหานครต้องตั้งคณะกรรมการจัดหาต้นไม้สักทองที่มีความสูงใหญ่และลำต้นตรงเพื่อความเหมาะสมกับการทำเสาชิงช้า ซึ่งคณะกรรมการได้ออกตระเวนหาในป่าหลายจังหวัด

ก็ได้มาพบไม้ที่มีคุณลักษณะเหมาะสมที่ จ.แพร่ จึงได้ติดต่อขอนำต้นไม้ที่เหมาะสมมาใช้ในวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่ง จ.แพร่ ก็ได้มอบต้นสักทองจาก อ.เด่นชัย ให้กรุงเทพมหานครจำนวน 9 ต้น 

ถือเป็นความเอื้ออารีต่อกัน โดยกรุงเทพมหานครได้เพาะเนื้อเยื่อจากต้นสักที่ได้มาทำเสาชิงช้าจำนวน 1 ล้านต้น ปลูกคืนในธรรมชาติทดแทน ซึ่งก็มีความน่ารักซ่อนอยู่ในความหมายดีค่ะ

ถึงอย่างไร สิ่งที่เราเห็นได้อย่างหนึ่งในการเป็นบ้านพี่เมืองน้องหรือเมืองแฝดนั้นคือ การมีเป้าหมายที่ให้เกิดผลดีขึ้นทั้งสองฝ่าย

หากพื้นที่ใดในบ้านเรา...จังหวัด อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน ไปผูกมือเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับอีกพื้นที่ มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ที่ดีๆ ร่วมกันก็น่าจะดีนะคะ

ช่วงนี้นายกฯ ตู่กำลังให้คนในประเทศสมานฉันท์กันอยู่ด้วย

(พบกันวันเสาร์หน้าค่ะ)