เปิดใจ "นักศึกษาต้านทุจริต" ผ่าขบวนการโกงเงินคนจน
"ผู้ใหญ่สั่งให้เราทำการทุจริต เรารู้สึกละอายแก่ใจ ที่เราเรียนสาขาพัฒนาชุมชนแล้วต้องไปทำเอกสารที่ไม่ยุติธรรมกับชาวบ้าน รู้สึกรับไม่ได้จึงต้องลุกขึ้นมาร้องเรียน"
"ผู้ใหญ่สั่งให้เราทำการทุจริต เรารู้สึกละอายแก่ใจ ที่เราเรียนสาขาพัฒนาชุมชนแล้วต้องไปทำเอกสารที่ไม่ยุติธรรมกับชาวบ้าน รู้สึกรับไม่ได้จึงต้องลุกขึ้นมาร้องเรียน"
**********************************************
โดย...เอกชัย จั่นทอง
หลังจาก ปณิดา ยศปัญญา นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และณัฏกานต์ หมื่นพล อดีตลูกจ้างของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น เปิดโปงแฉขบวนการโกงเงินสงเคราะห์คนยากไร้ และผู้ติดเชื้อเอดส์ (HIV) ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น รายละ 2,000-3,000 บาท มูลค่าความสูญเสียต่อรัฐกว่า 6.9 ล้านบาท ทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึกจนขยายผลไปสู่การตรวจสอบศูนย์คุ้มครองฯ ทั่วประเทศ
เบื้องหลังเรื่องใหญ่ที่มาจากคนตัวเล็กๆ ทำไมถึงยอมลุกขึ้นเผชิญกำแพงใหญ่ “น้องแบม” หรือปณิดา เล่าเปิดใจความกล้าหาญและชีวิตหลังออกมาเปิดเผยข้อมูลการทุจริตว่า ตอนนี้ยังใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเดิม เพียงแต่ทุกวันนี้มีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.และทหาร กอ.รมน.จ.ขอนแก่น คอยคุ้มครองดูแลรักษาความปลอดภัย ยอมรับกลัวคนมาดักทำร้ายเหมือนกัน หลังเปิดโปงขบวนการทุจริต
ปณิดา เล่าย้อนเปิดนาทีตัดสินใจแฉทุจริตว่า ก่อนที่จะกล้าก็มีความกลัว ในช่วงระยะแรกๆ ที่เราคิดลุกขึ้นสู้นั้นอาจไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ กล้าแฉทุจริต 50% เลือกถอย 50% จึงได้ไปปรึกษากับณัฏกานต์ที่ร่วมเปิดโปงความจริงครั้งนี้จนได้คำตอบ
“เรามาอยู่จุดนี้ได้ มาฝึกทำงานด้านนี้ ถ้าเราไม่ช่วยเหลือคนแล้วเราจะเข้ามาฝึกงานที่นี่ทำไม ส่วนตัวจึงคิดในฐานะนักพัฒนาว่า ถ้าเราได้กุมหัวใจของประชาชนแล้วเราไม่ช่วยเหลือประชาชน แล้วใครจะช่วยเหลือประชาชน เลยตัดสินใจยื่นเรื่องร้องเรียนเปิดเผยความจริงทั้งหมด”
ความไม่คาดหวังที่ได้รับกลับคืนมาคือทุกวันนี้ประชาชนทั่วประเทศเห็นด้วยกับสิ่งที่ตัวเองทำและให้กำลังใจ ต้องขอบคุณอย่างมาก ภูมิใจที่เห็นข่าวมีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการทุจริตขอบคุณว่าช่วยทำให้รู้ความจริง “แอบภูมิใจเล็กๆ ที่ทำให้ผู้เสียหายทุกคนได้รับทราบความจริง” ที่สำคัญพ่อแม่ให้กำลังใจอยู่เคียงข้าง
“สิ่งที่ทำลงไปเพราะเห็นว่ามันเป็น เรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทางผู้ใหญ่สั่งให้เราทำการทุจริต เรารู้สึกละอายแก่ใจ ที่เราเรียนสาขาพัฒนาชุมชนมาด้านนี้ แล้วต้องไปทำเอกสารที่ไม่ยุติธรรมกับชาวบ้าน รู้สึกรับไม่ได้กับเรื่องแบบนี้จึงต้องลุกขึ้นมาร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้มีการตรวจสอบ” น้องแบม กล่าวอย่างมุ่งมั่น
นอกจากนี้ ปณิดา ยังสะท้อนความคิดเห็นส่วนตัวว่า สำหรับคนอื่นๆ เช่นกันอย่าละเลยนิ่งเฉยต่อความไม่ถูกต้อง โดยส่วนตัวมองแล้วว่า หากเรารับรู้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแล้วเมินเฉย มันเหมือนกับว่าเราไม่ได้ช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง แต่ว่าถ้าเรามองลงไปแล้วเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และลุกขึ้นสู้กับปัญหา จึงคิดว่าจะทำให้สังคมยอมรับและทำให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้มากกว่า
“การทุจริตยังไงก็ไม่ใช่เรื่องดี คิดว่าถ้าทุกคนมีมือมีเท้าทำงานได้เงินเดือน รู้จักประหยัดพออยู่พอกินยังไงก็ไม่อดตาย แต่ถ้าโลภมากไม่ว่าจะมีเงินสักกี่ล้านบาทก็ใช้ไม่พอ” ปณิดา ย้ำไม่เห็นด้วยต่อการทุจริต
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้เป้าหมายชีวิตเบนเข็มไป ก่อนจะเปิดโปงการทุจริตเดิมทีตั้งธงไว้ว่า อาชีพการทำงานคือ "นักพัฒนา” แต่หลังเกิดเรื่องขึ้นมาทำให้เบนเข็มชีวิตอยากเป็น “พนักงานตรวจสอบการทุจริต” คอยตรวจสอบการทุจริตทุกรูปแบบ จึงทำให้เปลี่ยนแรงบันดาลใจแต่ก็เป็นเพียงความฝันที่วาดหวังไว้ในอนาคต ขณะเดียวกันเหลืออีกเพียง 3 เดือนจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้ว ในสาขาพัฒนาชุมชน
สาเหตุที่เลือกเรียนสาขาพัฒนาชุมชนนั้น ปณิดา ระบายออกมาว่า สมัยก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย สามารถสอบติดหลายแห่ง แต่ด้วยชีวิตที่พบเจอเห็นภาพคนเร่ร่อน คนขอทาน คนไร้บ้าน คนหาเช้ากินค่ำ จึงเลือกเรียนสาขาวิชาพัฒนาชุมชนเพื่อไปช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น ผนวกกับฐานะทางครอบครัวก็ไม่ได้ร่ำรวย ทำงานขายเครื่องสำอางออนไลน์ ตั้งแต่เรียนชั้นปีที่ 2 จนปัจจุบัน เงินบางส่วนที่ได้มาก็นำมาจุนเจือช่วยเหลือครอบครัวในยามขัดสนบ้างบางครั้ง
จึงมีความตั้งใจจะพัฒนาชุมชนสังคมให้ดีขึ้น เพียงแต่ตอนนี้ยังกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเรียน เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าไปในมหาวิทยาลัยหลังจากเกิดเรื่องขึ้น ซึ่งอยากให้ทางมหาวิทยาลัยออกมาช่วยปกป้องคุ้มครอง เนื่องจากใกล้จบการศึกษาแล้ว
ท้ายที่สุด ปณิดา แสดงความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสังคมต่อไป เพราะสังคมก็ช่วยเหลือเรา จึงไม่รู้สึกอึดอัดที่ต้องเจอกับเรื่องสารพัด กลับกันสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันในการทำความดีต่อไปในอนาคต