"น้ำมันไทยถูกหรือแพง" ข้อเท็จจริงจากปาก "มนูญ ศิริวรรณ"
เคลียร์ให้ชัด!กับ "มนูญ ศิริวรรณ" ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเพื่อไขข้อข้องใจเรื่องราคาน้ำมัน ที่กำลังถูกวิจารณ์เเละตั้งคำถามอย่างหนักจากสังคม
เคลียร์ให้ชัด!กับ "มนูญ ศิริวรรณ" ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเพื่อไขข้อข้องใจเรื่องราคาน้ำมัน ที่กำลังถูกวิจารณ์เเละตั้งคำถามอย่างหนักจากสังคม
----------------------------------
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วสังคมไทย
ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่หลายฝ่ายมองว่าไม่สดใสทำให้การปรับตัวแต่ละครั้งของราคากลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบต่อประชาชนไม่น้อย
ท่ามกลางข้อถกเถียงจำนวนมากและการรณรงค์ไม่เติมน้ำมันที่ปั๊ม ปตท. ในโลกออนไลน์
วันนี้ “มนูญ ศิริวรรณ” ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน พร้อมจะอธิบายให้หลายคนเข้าใจและหาทางออกบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง
โครงสร้างราคาน้ำมัน 3 ส่วน
โครงสร้างราคาน้ำมันนั้นประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ออกจากโรงกลั่น
2. ภาษีและเงินกองทุน ซึ่งประกอบไปด้วย ภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม , เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
3. ค่าการตลาดของโรงกลั่นและผู้ประกอบการปั๊มน้ำมัน
“จากโครงสร้างจะเห็นว่าส่วนที่ 1 เป็นต้นทุนที่เรานำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนที่ 2 ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าต้องการให้สูงต่ำมากน้อยแค่ไหน เพื่ออะไร และส่วนที่ 3 กำไรของโรงกลั่น ซึ่งใกล้เคียงกันทั่วโลก เนื่องจากราคาน้ำมันดิบมีราคามาตรฐาน ต่างกันที่ค่าขนส่ง ขณะที่โรงกลั่นแต่ละแห่งก็มีมาตรฐาน มีค่าใช้จ่ายพอๆ กัน ค่าการกลั่นจึงอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมาก
ส่วนค่าการตลาด ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ อย่างประเทศไทย มีค่าการตลาดอยู่ที่ 5-6 เปอร์เซนต์ของราคาค้าปลีก เช่น ค้าปลีก 30 บาท ค่าการตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 1.50-1.60 บาท บางประเทศอาจจะมีกำไรสูงกว่าอย่างมาเลเซีย ราคาหน้าปั๊ม 17-20 บาท แต่ให้ค่าการตลาดถึง 2 บาท” มนูญอธิบายและว่าเรื่องโครงสร้างน้ำมันเป็นสิ่งที่ประชาชนควรทำความเข้าใจและมีเหตุมีผลในการมองปัญหาด้านอื่นๆ
โดยสรุปในน้ำมัน 1 ลิตร มีต้นทุนเป็นเนื้อน้ำมันประมาณ 60-65 เปอร์เซนต์ ภาษีและกองทุนประมาณ 30-40 เปอร์เซนต์ ที่เหลือ 5 เปอร์เซนต์ เป็นค่าการตลาด
ภาษี-กองทุน ตัวการสำคัญส่งน้ำมันราคาแพง
ข้อมูลจากสำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เมื่อเดือน ม.ค. 2561 ระบุว่า รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีน้ำมันมากกว่า 2.2 แสนล้านบาท นับเป็นรายได้อันดับ 1 ในบรรดาภาษีสรรพสามิตซึ่งเป็นภาษีที่เก็บกับสินค้าฟุ่มเฟือย โดยภาษีรถยนต์เป็นอันดับที่ 2 มูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ภาษียาสูบ 6.6 หมื่นล้านบ้าน ภาษีเบียร์ 8.3 หมื่นล้าน ภาษีสุรา 6.1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
มนูญ ระบุว่า สิ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยสูงกว่าบางประเทศคือ “ภาษี” ยกตัวอย่างเช่น เบนซิน 95 ราคาหน้าปั๊มประมาณ 37.++ บาท เป็นสัดส่วนของภาษีและกองทุนมากถึง 15-16 บาท หากลบส่วนนี้ออกไปจะทำให้ราคาน้ำมันเหลือเพียง 20-21 บาท
หรือน้ำมันดีเซล มีภาษีและกองทุนประมาณ 8-9 บาท หรือประมาณ 25 เปอร์เซนต์ของราคาขายปลีกที่ 29.++ บาท หากหักภาษีส่วนนี้ออก ราคาจะเหลือเพียงแค่ 19-20 บาทเท่านั้น ซึ่งใกล้เคียงและแทบไม่แตกต่างกับมาเลเซีย
“สิ่งที่ทำให้ราคาบ้านเราแพงกว่าบางประเทศ ไม่ใช่ทุกประเทศ คือภาษี เพราะบ้านเราเก็บสูงถึง 30-40 เปอร์เซนต์ หากเทียบกับมาเลเซียเราแพงกว่าจริง แต่หากเทียบกับ ลาว กัมพูชา เราถูกกว่า ”
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้บอกว่า การเปรียบเทียบราคาน้ำมันกับเพื่อนบ้าน จำเป็นต้องมองบริบท นโยบาย สถานการณ์ของแต่ละประเทศประกอบด้วย
“ทำไมมาเลเซียน้ำมันถูก คำตอบคือเพราะไม่เก็บภาษีมากเท่าไทย คำถามต่อมาคือทำไมไม่เก็บล่ะ ก็เพราะเขาเป็นประเทศร่ำรวยน้ำมัน มีเพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศ มีรายได้จากการส่งออกปิโตรเลียมเยอะ แต่บ้านเราไม่ใช่ เรามีน้ำมันจริง แต่มีในอัตราที่ไม่พอใช้”
“เราไม่เก็บภาษีเหมือนเขาได้ไหม คำตอบคือ ได้ แต่นั่นเท่ากับรายได้รัฐบาลหายไปกว่า 2 แสนล้านบาท และต้องจ่ายเพิ่มด้วย เพราะยิ่งถูกประชาชนก็ยิ่งใช้เพิ่มมากขึ้นและหมายถึงการนำเข้ามากขึ้น”
ราคาน้ำมันตลาดโลก – ทำไมต้องอ้างอิงสิงคโปร์?
มนูญบอกว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลาย หากดีมานด์มาก ซัพพลายน้อย ราคาก็พุ่งขึ้น เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์มาแล้ว ตัวอย่างเช่นเมื่อ 3 ปีก่อน กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน โอเปก (OPEC) ผลิตน้ำมันออกมาจำนวนมากเพื่อแข่งขันกับเชลล์ออยล์ของสหรัฐฯ ทำให้เกิดสงครามราคาน้ำมัน จาก 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหลือเพียง 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ต่อมาซาอุดิอาระเบียเปลี่ยนแปลงนโยบายลดการผลิตลง สต็อกน้ำมันที่ล้นตลาดอยู่ก็ลดลงเรื่อยๆ และใช้เวลา 2 ปี กระทั่งเข้าสู่ปี 2018 ปริมาณน้ำมันลดลงในระดับที่ทำให้ราคาขยับขึ้นมา พร้อมๆ กับความต้องการหรือดีมานด์ที่มากขึ้น
“ถ้าเฉพาะปัจจัยพื้นฐาน ราคาน้ำมันจะไม่เกิน 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่มีปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์เข้ามา คือเรื่องของสงครามในตะวันออกกลาง การประกาศคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ปัญหาภายในประเทศของเวเนซุเอลา ปัจจัยเหล่านี้ซ้ำเติมให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และเป็นสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเข้ามาเก็งกำไรของบรรดากองทุนต่างๆ ทั่วโลก”
คำถามที่ชาวบ้านหลายคนสงสัยคือ ทำไมต้องอ้างอิงราคาน้ำมันจากสิงคโปร์ Singapore Price (SP) และเหตุใดไม่ตั้งราคาเองเสียเลย
มนูญบอกว่า เนื่องจากสิงคโปร์มีโลเคชั่นที่เหมาะสมในการเป็นจุดศูนย์กลางการค้าและการเดินเรือ มีสิ่งอำนวยความสะดวกชั้นยอด จนในที่สุดมีโรงกลั่นน้ำที่มีประสิทธิภาพจำนวนมาก และแทบทุกประเทศในเอเชียล้วนอ้างอิงราคาสิงคโปร์สำหรับประเทศไทยหากอยากตั้งราคาเอง ตัวอย่างเช่น ราคาศรีราชา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ถ้าตั้งสูงกว่าสิงคโปร์ คนก็จะไปแห่ซื้อน้ำมันจากสิงคโปร์มาขายแข่ง และหากตั้งราคาต่ำกว่า ก็จะมีคนขนน้ำมันในประเทศไปขายยังตลาดสิงคโปร์ เพราะได้ราคาดีกว่า
“เมื่อตลาดคุณเล็กกว่า คุณเปิดการค้าเสรี ในที่สุดราคาศรีราชาที่ตั้งขึ้นมามันก็ต้องวิ่งไปที่สิงคโปร์อยู่ดี เพราะตลาดที่นั่นใหญ่มาก เป็นระดับนานาชาติ คุณจะบอกว่าฉันเป็นไทยแลนด์ฮับ เป็นเอกเทศได้ไหม ไม่ได้ เว้นแต่จะตั้งกำแพงภาษี แต่คุณทำแบบนั้นไม่ได้ในโลกการค้าเสรี”
เขาบอกว่า น้ำมันเป็นสินค้าระดับโลก มีสิ่งที่ทุกคนตกลงและยอมรับกันที่เรียกว่า ราคาตลาดโลก
“ไม่ว่าคุณจะค้นพบน้ำมันเอง เอกชนที่เราให้สัมปทานไปค้นพบ หรือแม้แต่รัฐบาลค้นพบเอง กรรมสิทธิ์ในน้ำมัน มีมูลค่าในราคาตลาด คุณคงไม่เอาน้ำมันหรือทองคำไปขายในราคาต่ำกว่าตลาด เช่น ปัจจุบันทองบาทละ 1.9 หมื่นบาท เราเจอ 500 ตัน แล้วบอกว่าดีเว้ย ขอขายในราคา 2,000 บาท เพื่อให้คนไทยได้ประโยชน์ คุณคงไม่ทำแบบนั้น”
เมื่อเราซื้อขายในราคาตลาดและมีการเก็บภาษี สิ่งสำคัญที่ควรตั้งคำถามคือ เราจะนำรายได้เหล่านี้ไปบริหารอย่างไร เช่น อุดหนุนราคาน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชน , ตั้งกองทุนพัฒนาด้านสวัสดิการต่าง , พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรืออื่นๆ
“รัฐบาลให้สัมปทานเอกชนในการขุดเจาะจัดหา ในแต่ละปีเราได้ค่าสัมปทานนับแสนล้าน รัฐบาลนำเงินตรงนี้เก็บเข้าเป็นงบประมาณแผ่นดิน และนำไปบริหารพัฒนาประเทศ แต่ถ้าประชาชนบอกว่า ไม่ได้นะ เงินตรงนี้ต้องนำมาลดราคาน้ำมันเท่านั้น คุณต้องไปเรียกร้องต่อรัฐบาล
แต่คำถามคือทรัพยากรธรรมชาติเป็นของคนใช้น้ำมันหรือเป็นของคนทั้งประเทศ ถ้าเอาเงินที่ได้มาใช้กับคนใช้น้ำมันเท่านั้นมันยุติธรรมหรือเปล่า”
คำถามที่ว่าเราส่งออกน้ำมันได้อย่างไรเมื่อยังต้องนำเข้าจำนวนมาก
มนูญ บอกว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำมันวันละประมาณ 1 ล้านบาเรลต่อวัน เป็นการนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 85 เปอร์เซนต์ อีก 15 เปอร์เซนต์หาได้จากในประเทศ หากมีการกลั่นเกินความต้องการ หรือเป็นเกรดที่มีคุณภาพที่ไม่สอดคล้องกับการใช้งานในประเทศก็จะถูกส่งออก โดยราคาส่งออกใกล้เคียงกับราคาหน้าโรงกลั่นที่ขายในประเทศ ไม่รวมภาษีสรรพสามิต
ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงานระบุว่า การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2560 มีปริมาณน้ำมันดิบนำเข้าเฉลี่ย 9.07 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่วนน้ำมันสำเร็จรูป นำเข้า 6.7 หมื่นบาร์เรลต่อวัน
ขณะที่ยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันของปี 2560 (ม.ค.-ธ.ค.) อยู่ที่ 149.49 ล้านลิตร โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินมีการใช้เฉลี่ยที่ 30.1 ล้านลิตร น้ำมันดีเซล มีการใช้ 62.2 ล้านลิตรต่อวัน แก๊สโซฮอล์อี 85 มียอดการใช้ 1.1 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี)มีการใช้ 17 ล้านกิโลกรัมต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี)มีการใช้ 6.8ล้านกิโลกรัม
ราคาขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล
สิ่งที่มนูญบอกก็คือ เมื่อเรามีความต้องการใช้สินค้ามากกว่าที่เราผลิตเองได้ ก็ต้องเผชิญหน้ากับความผันผวนของราคาตลาดโลก การเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ต้องดูอย่างรอบด้านว่าประเทศดังกล่าวในอยู่ในบทบาทไหน มีน้ำมันอยู่ในมือ หรือมีการอุดหนุนจากภาครัฐมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับนโยบาย สภาพสังคมของแต่ละประเทศด้วย
ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ประเทศต้นกำเนิดอุตสาหกรรมรถยนต์ และมีวัฒนธรรมการใช้รถยนต์ที่แข็งแกร่ง คนที่นั่นมักมองรถยนต์เป็นเสมือนปัจจัยที่ 5 สำหรับการดำรงชีวิต รวมถึงมีอุตสาหกรรมน้ำมันจากหินดินดาน (เชลออยล์) เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเหตุผลให้นโยบายของสหรัฐฯ คือ การทำให้น้ำมันราคาถูกเพียงแค่ 20 กว่าบาท
ขณะที่ประเทศในยุโรป เลือกที่จะให้น้ำมันมีราคาแพงประมาณ 60-70 บาท เพราะมองเป็นสินค้าสร้างมลภาวะ และเลือกส่งเสริมยกระดับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟ
“คนยุโรปใช้น้ำมันแพงเพื่อเอาภาษีมาพัฒนาการขนส่งสาธารณะและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เห็นไหมครับว่าแต่ละบริบทและสถานการณ์ของแต่ละประเทศแตกต่างกัน คุณเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ไม่เช่นนั้นคนยุโรป โกรธรัฐบาลตายเลย การเลือกเปรียบเทียบกับเฉพาะบางประเทศ เป็นเจตนายุยงให้เกิดความไม่พอใจระหว่างกัน”
ปัญหาของคนไทยคือการใช้น้ำมันฟุ่มเฟือย ซึ่งมนูญมองว่า ต้นเหตุสำคัญเกิดจากการมีระบบรถโดยสารสาธารณะที่ห่วยแตก นับเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรพัฒนาอย่างเร่งด่วน มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการบริหารงบประมาณและภาษีอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
เขาทิ้งท้ายถึงการรณรงค์ไม่เติมน้ำมันที่ ปตท.ในสังคมออนไลน์ว่า อยากให้ศึกษาหาข้อมูลให้ดีและหาข้อเท็จจริงมาพูดคุยกัน
“กระทรวงการคลังถือหุ้นใน ปตท. 51 เปอร์เซนต์ คุณจะไปเติมที่ไหนก็ได้ จะเป็นบริษัทเมืองไทยหรือต่างชาติก็ได้ เติมของต่างชาติบริษัทเขาก็ส่งเงินกลับไปประเทศเขา”