ปฏิรูป"ชาติไทยพัฒนา"เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ได้
"สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ" หนึ่งในเลือดใหม่หลังยุคบรรหาร ศิลปอาชา กับเส้นทางการเมืองของ "พรรคชาติไทยพัฒนา"
"สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ" หนึ่งในเลือดใหม่หลังยุคบรรหาร ศิลปอาชา กับเส้นทางการเมืองของ "พรรคชาติไทยพัฒนา"
****************************
โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้ง สส.ครั้งแรกของประเทศไทยในรอบ 5 ปีกำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมคลายล็อกให้กับพรรคการเมืองให้สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้บางส่วน
จากท่าทีของ คสช.ดังกล่าว ส่งผลให้พรรคการเมืองต่างเร่งเดินหน้าแต่งตัวเพื่อให้ตัวเองพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งสำคัญครั้งนี้มากที่สุด ซึ่ง “พรรคชาติไทยพัฒนา” ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ “บรรหาร ศิลปอาชา” อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงแก่อนิจกรรม
ถึงแม้มังกรการเมืองจะได้จากไปแล้ว แต่เวลานี้พรรคก็ได้เดินหน้าปฏิรูปตัวเองครั้งสำคัญ คือ การดันคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารพรรค จากเดิมที่จะผูกติดกับความอาวุโสเป็นสำคัญ ในโอกาสนี้เอง “สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” หนึ่งในเลือดใหม่ของพรรคที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของพรรคอย่างน่าสนใจ
“ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันของผู้ใหญ่ในพรรคว่าจะทำพรรคต่อไปในทิศทางไหน ซึ่งเราคุยกันว่าถ้าเราปล่อยให้สภาพของพรรคดำเนินการไปอย่างที่ผ่านๆ มา คือ เหมือนกับว่าเราไม่สามารถเป็นทางเลือกที่เป็นกลางได้จริงๆ พรรคก็จะเล็กลงทุกวัน”
“หลายคนก็อาจมองว่า พี่ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา ยังไม่มีอาวุโสทางการเมืองและยังไม่เคยเห็นฝีไม้ลายมือทางการเมือง แต่หลังจากที่ได้มีการพูดคุยกันกับพี่ท็อป ก็เห็นว่าพี่ท็อปมีความเป็นผู้นำสูง เป็นคนที่มีความประนีประนอม มีความรู้ และองค์ความรู้”
“อาจเป็นการยากสักหน่อยสำหรับพรรคที่มีความเก่าแก่ในการที่จะดันคนรุ่นใหม่ขึ้นมา และในบางครั้งก็อาจจะมองว่าเหมือนกับเป็นการข้ามเจเนอเรชั่น (รุ่นอายุ) เพราะยังมีรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นเล็กอย่างพวกเรา มันก็อาจจะมีแรงเหวี่ยงบ้าง แต่มันก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำ เพราะว่าไม่อย่างนั้นเราเปลี่ยนตามโลกไม่ทัน เพราะเราอยากเป็น
ทางเลือกที่สามจริงๆ ให้ได้”
“รุุ่นใหม่ของจะออกสู่สาธารณะมากขึ้นเพื่อขายไอเดียและแสดงความคิดเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ในขณะที่จะมีผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษา เพราะยังมีหลายอย่างที่จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ เช่น ข้อกฎหมายสำคัญ หรือ นโยบายบางเรื่อง ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็น Perfect Combination (ส่วนผสมที่ลงตัว) ได้”
“จุดยืนทางการเมืองของพรรคมีความชัดเจนอยู่แล้ว บางคนบอกว่าพรรคชาติไทยตั้งใจจะเป็นรัฐบาลอย่างเดียว แต่ในประวัติศาสตร์ของพรรคชาติไทยเราเป็นมาครบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล แกนนำหรือพรรคร่วมฝ่ายค้าน”
“ภาพในอดีตเราอาจจะเปลี่ยนไม่ได้ แต่เราจะพยายามนำเสนอว่าเราไม่ได้เป็นพรรคแบบนั้น เพราะถ้ามองดีๆ จะเห็นว่าพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง และเราพยายามเสนอทางออกของการเมืองไทยมาตลอด 10 ปี” ว่าที่เลขาธิการพรรคย้ำจุดยืน
สำหรับแนวทางการทำนโยบายของพรรคเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวว่าที่เลขาธิการพรรค ระบุว่า ปัจจุบันปัญหาของสังคมไทยมีมากมาย ของบางอย่างถ้าเราไปเร่งหรือรีบกับมันจนเกินไป มันก็จะไม่ใช่การแก้ปัญหา หากแต่ว่าต้องเรียนรู้และใช้เวลากับมันเพื่อให้มันพัฒนาต่อไป ดังนั้น ถ้าเรามองข้ามปัญหาการเมือง เราก็จะเห็นได้ว่าสังคมไทยมีปัญหาเยอะมาก เช่น ความเหลื่อมล้ำ การศึกษา ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ลักลั่นกัน เป็นต้น
“หลายอย่างเราต้องอาศัยความสงบภายในประเทศ พอถึงเวลาคนก็จะพูดเข้ามุมตัวเอง คือ ถ้าบอกว่าฉันไม่ชอบรัฐประหาร ก็จะไม่พูดเลยว่าความสงบสำคัญอย่างไร หรือถ้าเป็นฝั่งที่นิยมการรัฐประหารก็จะบอกว่ามันมีความสงบนะ”
“ผมคิดว่าทุกอย่างมันมีข้อดีข้อเสีย เช่น การรัฐประหาร มันอาจจะขาดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ การขยายฐานการผลิตของบางประเทศที่นิยมในประชาธิปไตยก็อาจลดลงไป แต่ผมเชื่อว่านักลงทุนก็ไม่ได้นิยมแค่จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะอาจจะนิยมความชัดเจนว่าประเทศของคุณจากวันนี้จะเดินหน้าไปอย่างไร สมมติถ้าเลือกตั้งไปแล้ว ทำอย่างไรที่ประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้”
“ถ้าทุกคนต่างยืนอยู่ฝั่งของตัวเองเป็นกระต่ายขาเดียวแบบนี้ มันก็จะกลับเข้าสู่วังวนเดิม 12 ปีที่ผ่านมาจะไม่ได้ให้บทเรียนอะไรกับเราเลย เราก็จะต้องวนไปอีกนานเท่าไรก็ไม่รู้”
ส่วนทิศทางการเมืองในอนาคตว่าที่เลขาธิการพรรควิเคราะห์ว่า ต้องยอมรับว่าโครงสร้างของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งมันเอื้อมากกับการให้มีการสืบทอดอำนาจ เนื่องจากการเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องใช้เสียงเกินกึ่งของสมาชิกรัฐสภา หมายความว่าถ้าเราคิดโดยทฤษฎีในปัจจุบัน สว.250 คน เป็นของรัฐบาลปัจจุบัน รัฐบาลต้องการเสียงอีกแค่ 126 เสียง ก็จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้
“ถ้าเราดูเกมนี้ง่ายๆ สั้นๆ เราอาจจะได้นายกรัฐมนตรีที่ได้มาจากการเลือกของประชาชนส่วนมาก ซึ่งผมก็จินตนาการไม่ออกนะว่ามันจะเป็นอย่างไร แต่เท่าที่ดูจากบทเรียนที่ผ่านมา ก็จะมีอยู่ 2-3 เกม คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การพิจารณางบประมาณ การให้ความเห็นชอบกฎหมาย ซึ่งมันอาจจะไม่ผ่าน อาจจะมีเกมกันนอกสภาที่บอกว่านายกฯ มาได้ด้วยเสียงข้างน้อยและเกิดความ
ไม่ชอบธรรม”
“ผมก็คิดว่ามันก็จะกลับเข้าสู่วังวนเดิมเป็นไปได้สูงมาก แต่หากพรรคการเมืองทุกพรรคสามารถจับมือกันได้ ก็อาจจะมีโอกาส แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรที่เมื่อพรรคการเมืองจับมือกันได้แล้ว ทุกคนจะช่วยกันคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน”
“พรรคชาติไทยพัฒนานั้นต้องการให้การเมืองมีทางออกไปได้ และเราอยากเห็นเสถียรภาพและความมั่นคง ไม่ได้หมายความว่าเราจะร่วมรัฐบาลอย่างเดียว เพราะเราเป็นฝ่ายค้านก็ได้ ถ้ารัฐบาลมีเสียงมากเกินไปจนมันจะเป็นเผด็จการรัฐสภา เสียงของเราก็ย่อมไม่มีความจำเป็นแล้ว เราก็เป็นฝ่ายค้านได้ ไม่มีปัญหา”
“สิ่งที่สำคัญ คือ ประเทศต้องการการขับเคลื่อนที่ผลักดันกลไกต่างๆ ได้จริงๆ และต้องการการยอมรับจากต่างชาติด้วย ดังนั้น Perfect Combination คือ ทุกพรรคจับมือกัน แต่ถ้ามันเป็นไปได้ก็ต้องมาดูกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้”
พรรคประเมินโอกาสของพรรคในการเลือกตั้งอย่างไร? สิริพงศ์ คิดว่า เราต้องยอมรับว่าวันนี้เรามี สส.เก่าที่ขอแยกทางกับเราจำนวนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันเราก็มีผู้สมัครใหม่ หรืออดีต สส.ที่มาขอร่วมทางกับเราจำนวนมากพอสมควร เรามีเป้าที่จะส่งผู้สมัคร สส.ทั้งสิ้น 350 เขต แต่เราคงหวังที่ประมาณ 30 ที่นั่งทั้งระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ
“คราวนี้จำเป็นที่พรรคต้องส่งผู้สมัครครบทุกเขตจากเดิมที่ส่งไม่ครบ เพราะระบบเลือกตั้งเปลี่ยนไปตามรัฐธรรมนูญ ในอดีตเราตั้งเป้าให้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 5% ก็ได้ตามเป้านะ แม้จะไม่ได้ส่งผู้สมัครครบทุกเขต ดังนั้นถึงตอนนี้จะเป็นระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่โอกาสที่ได้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อระดับ 4-5% เหมือนที่ผ่านมาก็ยังพอมีโอกาสอยู่”
“ระบบการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวเราอาจจะเสียเปรียบบ้าง เพราะพรรคอาจจะถูกมองว่าที่ผ่านมาเป็นพรรคการเมืองเล็ก แต่ข้อดีของเราคือ เรามี สส.ที่เป็นจุดแข็งของพรรคในระดับหนึ่ง”
“เราคงไปหว่านแหไม่ได้ เพราะพรรคเรามีทรัพยากรจำกัด จึงไม่ได้หวังว่าจะได้ สส. 70-80 ที่นั่ง เราแค่ต้องการได้ สส.มาส่วนหนึ่ง เพื่อให้พรรคสามารถทำงานได้ และเราจะได้พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าการทำบทบาท สส.ของเราเป็นไปในลักษณะใด ซึ่งเรามองเห็นว่าเมื่อมีสภาแล้ว การทำบทบาทของ สส.ของพรรคเรา ประชาชนจะต้องได้เห็นและเป็นทางเลือกให้กับประชาชน”
โอกาสของพรรคในการได้ สส.หลากหลายพื้นที่ จากเดิมที่จะอยู่ที่ภาคกลางเป็นหลัก? ว่าที่เลขาฯ ระบุว่า เมืองหลวงของเราอยู่ที่สุพรรณบุรี และภาคกลางเป็นภูมิภาคที่มีทัศนคติเรื่องการเมืองไม่ได้รุนแรงมากนัก การเลือก สส.จะเลือกจากคุณภาพของคนสมัครมากกว่าพรรค ดังนั้น ภาคกลางอาจเป็นภาคที่เหมาะกับพรรคชาติไทยพัฒนา
“แต่ในขณะเดียวกันเราก็ขยายฐานของเรา เรามี สส.อีสาน เราเคยได้ สส.ภาคใต้ หรือภาคเหนือ แต่ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร พรรคชาติไทยพัฒนาก็จะยังมี สส. ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจแน่นอน เนื่องจากเรามีฐานที่มั่นชัดเจน แม้พรรคจะไม่ใหญ่ก็ตาม”
“พรรคชาติไทยพัฒนายืนอยู่ท่ามกลางความเก่าและความใหม่ เราก็บอกได้ไม่ชัดว่าเราใหม่ 100% เพราะเราผสมผสานและมีประสบการณ์ เราอยากเป็นตัวแทนของคนที่ไม่ได้ทัศนคติแบบสุดโต่ง ซึ่งเราก็พยายามนำเสนอแนวทางของเรามาตลอด”
“ถ้าภาพจำของคนที่มีต่อท่านบรรหาร คือ การเป็นพรรคปลาไหล ผมคิดว่าเป็นภาพจำที่ผิดทันที เพราะถ้าเรามาดูดีๆ กลุุ่มคนที่มีพฤติกรรมปลาไหลจริงๆ ไม่ได้อยู่พรรคชาติไทยพัฒนาในปัจจุบันแล้ว ลองไปไล่เรียงดูกันว่ากลุ่มต่างๆ ในสมัยไหนที่ทำให้พรรคถูกเรียกว่าปลาไหลไปอยู่พรรคไหนแล้ว”
“ท่านบรรหารน่าจะเป็นอดีตนายกฯ ที่ไม่มีเรื่องด่างพร้อยเลย เหมือนเมื่อก่อนคนอาจมองว่าพรรคนี้เป็นเฉพาะของสุพรรณบุรี แต่วันนี้พรรคชาติไทยพัฒนาจะดูแลคนทั้งประเทศมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” สิริพงศ์ สรุป