วิเคราะห์สาเหตุ "เฮลิคอปเตอร์"ตก เกิดจากอะไรได้บ้าง?
สาเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่เลสเตอร์ยังไม่คลี่คลาย เจ้าหน้าที่อังกฤษอยู่ระหว่างตรวจกล่องดำ ตำรวจยืนยันไม่ได้ชน "โดรน"
สาเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่เลสเตอร์ยังไม่คลี่คลาย เจ้าหน้าที่อังกฤษอยู่ระหว่างตรวจกล่องดำ ตำรวจยืนยันไม่ได้ชน "โดรน"
เหตุเฮลิคอปเตอร์ตกบริเวณลานจอดรถ สนามคิงเพาเวอร์ สเตเดี้ยม ในเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เป็นเหตุให้ "วิชัย ศรีวัฒนประภา" ประธานสโมสรเลสเตอร์ซิตี้ พร้อมทีมงานและนักบินรวม 5 คน เสียชีวิต ยังมีประเด็นน่าสนใจที่ชวนให้ติดตามคือสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้
เฮลิคอปเตอร์ที่ประสบอุบัติเหตุเพิ่งเข้ามาประจำการเป็นพาหนะให้ผู้บริหารสโมสรเลสเตอร์เพียง 2 ปี เป็นเฮลิคอปเตอร์แบบ AgustaWestland AW169 ผลิตโดยบริษัทลิโอนาโด ในประเทศอิตาลี เริ่มนำออกสู่ตลาดเมื่อ 4 ปีก่อน และยังไม่มีประวัติการประสบอุบัติเหตุ
คำถามคือเหตุใดจึงทำให้เฮลิคอปเตอร์ใหม่ประสบอุบัติเหตุตกได้?
ภาพล่าสุดจากกล้องวงจรปิดนอกสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม เผยให้เห็นเหตุการณ์ขณะเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินจากกลางสนาม ก่อนที่จะไต่ระดับความสูงพ้นไปจากการจับภาพของกล้อง แต่แล้วเพียงไม่กี่วินาที เฮลิคอปเตอร์ก็เสียการควบคุม มีอาการ "หมุนคว้าง" กลางอากาศ ก่อนตกลงสู่พื้น
***ภาพจากกล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่เลสเตอร์***
สื่อต่างประเทศได้ตั้งข้อสงสัยว่าเฮลิคอปเตอร์ได้ชนกับสิ่งใดหรือไม่ก่อนตก โดยเฉพาะ "โดรน" ที่อาจจะบินอยู่ในจุดเกิดเหตุ แต่ตำรวจเมืองเลสเตอร์ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่า ระหว่างที่เกิดอุบัติเหตุไม่พบว่ามีโดรนบินอยู่ในพื้นที่
ขณะที่ สำนักงานสืบสวนอุบัติเหตุทางอากาศของอังกฤษ (AAIB) อยู่ระหว่างการตรวจสอบกล่องบันทึกการบินของเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าว เพื่อค้นหาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
พล.อ.ต.ทวีศักดิ์ ขันติรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุการตกของอากาศยานว่า สาเหตุหลักๆ มี 3 ประการ คือ 1.เกิดจากตัวนักบิน 2.ปัญหาเครื่องขัดข้อง และ 3.สภาพอากาศ
"จากสถิติ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวนักบิน คือ ต้นเหตุที่ทำให้เครื่องบินตกมากที่สุด อาทิ สภาพร่างกายไม่พร้อมจากพักผ่อนไม่เพียงพอจนทำให้สายตาหรือร่างกลายเหนื่อยล้า และนักบินบางคนอาจจะมีโรคประจำตัว นอกจากนี้มีเรื่องของสภาพจิตใจไม่พร้อม เช่น กังวลใจเรื่องส่วนตัว หรือ นักบินใหม่บินกับนักบินอาวุโสมากๆ ก็อาจทำให้การทำงานไม่เต็มที่และเกิดความกังวลได้"
ขณะที่ปัญหาจากเครื่องยนต์ ตามปกติจะมีการตรวจเช็คบำรุงรักษาตามวงรอบอยู่แล้ว และก่อนนำเครื่องขึ้นนักบินจะตรวจเช็คตามมาตรฐานการบินของเครื่องแต่ละรุ่น ซึ่งตรงนี้หากเครื่องไม่พร้อม ซึ่งมักจะมีสัญญาณไฟแจ้งเตือน แต่หากนักบินตัดสินใจผิดพลาดนำเครื่องขึ้นก็อาจทำให้มีปัญหาได้
สำหรับปัญหาจากสภาพอากาศจะมีหมอกหรือเมฆฝน ซึ่งทำให้ทัศนวิสัยไม่ดีจนส่งผลต่อการบิน เช่น เครื่องขนาดเล็กมักจะห้ามบินเข้าบริเวณที่มีกลุ่มเมฆฝน เพราะข้างในจะเกิดสภาพลมวนซึ่งอาจทำให้เครื่องตกหลุมอากาศ หรือหลงการบินและทำให้เครื่องตกได้
พล.อ.ต.ทวีศักดิ์ ให้ความเห็นถึงกรณีเฮลิคอปเตอร์ตกที่เลสเตอร์ว่า ทราบจากข่าวว่าเกิดจากใบพัดหางเสีย ซึ่งจุดนี้สามารถทำให้เครื่องหมุนและเสียการทรงตัวได้
***คลิปเหตุการณ์ใบพัดหลังของเฮลิคอปเตอร์ไม่ทำงาน แต่นักบินประคองเครื่องเพื่อลดแรงกระแทกขณะตกลงพื้น***
ขณะที่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้รายงานอ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน ที่ได้อธิบายกรณีที่ใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ขัดข้องว่า หากใบพัดของเฮลิคอปเตอร์เสียหาย นักบินสามารถนำเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงได้ด้วยการทำสิ่งที่เรียกว่า ออโต้ โรเตชัน (auto rotation)เพื่อประคองเครื่องให้ลงแตะพื้นโดยไม่กระแทกอย่างรุนแรงเพื่อลดความเสียหายได้
อย่างไรก็ตามการที่จะสามารถทำสิ่งดังกล่าวได้ เครื่องต้องบินอยู่ในความสูงที่มากพอ ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ที่ตกที่เลสเตอร์ บินอยู่ในความสูงไม่มากนัก ทำให้ตกลงมาอย่างรวดเร็วจนนักบินไม่สามารถแก้สถานการณ์ได้ทัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินระบุด้วยว่า การที่ใบพัดหลังถูกชนจากวัตถุ อาทิ โดรน นก ฯลฯ ก็อาจเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายจนหยุดการทำงานได้
นาวาอากาศโทอรรถยุทธ ขาวสอาด นักบินเฮลิคอปเตอร์ ให้ความเห็นในรายการตอบโจทย์ทางสถานีไทยพีบีเอสว่า จากคลิปกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเห็นว่า เฮลิคอปเตอร์ขึ้นจากสนามตามปกติ แต่ในช่วงที่ตกลักษณะของเครื่องเป็นการหมุนตกกระแทกพื้น ซึ่งคงต้องมุ่งไปที่ระบบใบพัดท้ายที่อาจจะผิดปกติ
"ใบพัดท้ายเป็นตัวช่วยให้การทรงตัวของเฮลิคอปเตอร์เป็นไปอย่างปกติ ให้หัวเฮลิคอปเตอร์ตั้งตรงเมื่อบินขึ้นไปในอากาศ ถ้าใบพัดท้ายหยุดหมุน ตัวลำเฮลิคอปเตอร์จะเกิดการหมุน"นักบินเฮลิคอปเตอร์รายนี้ระบุ
นาวาอากาศโทอรรถยุทธ กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นขณะที่เฮลิคอปเตอร์ลอยตัวอยู่ การตอบสนองของนักบินที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาต้องเป็นแบบทันทีทันใดและต้องรู้ว่าปัญหากำลังจะเกิด จะว่าไปมันเป็นเรื่องที่ยากก็ยาก ง่ายก็ง่าย แต่ถ้าไม่รู้ตัวมาก่อนว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น จะทำให้การตอบสนองต่อเหตุการณ์ของนักบินช้าลง
"จากภาพวงจรปิด เฮลิคอปเตอร์อยู่ใน แนวโค้งมรณะ หรือ Dead Man Curve ค่อนข้างนาน เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ต้องยกตัวขึ้นตรงๆเพื่อให้พ้นจากหลังคาของสนามฟุตบอล จากนั้นเมื่อมีพื้นที่อากาศว่างๆจึงจะสามารถเคลื่อนที่ไปในทิศทางอื่นได้
"ในตำราบอกว่า หากอยู่ใน แนวโค้งมรณะ และต้องลงจอดแบบออโต้โรเตชั่น จะทำให้เครื่องเกิดการกระแทกรุนแรง และนักบิน ผู้โดยสารจะบาดเจ็บ ซึ่งเท่าที่เห็นในคลิป เชื่อว่า นักบินทำดีที่สุดแล้ว"
นาวาอากาศโทอรรถยุทธ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทุกอย่างเป็นสมมติฐานได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโดรน, นก,สภาพอากาศ ,แรงลม ซึ่งหลังจากนี้ สมมติฐานต่างๆก็จะทยอยถูกตัดออกไปเมื่อการสอบสวนของเจ้าที่ที่ตรวจสอบอุบัติเหตุจำกัดวงมากขึ้น
ภาพ เอเอฟพี