posttoday

"ทวี สอดส่อง" วอนพปชร.หยุดข่มขู่ยุบสภาเข้าข่ายละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

29 พฤษภาคม 2562

เลขาพรรคประชาชาติ วอน เด็กพลังประชารัฐหยุดข่มขู่อ้างจะยุบสภาและครอบงำสมาชิกวุฒิสภา ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เลขาพรรคประชาชาติ วอน เด็กพลังประชารัฐหยุดข่มขู่อ้างจะยุบสภาและครอบงำสมาชิกวุฒิสภา ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

29 พ.ค. 62 พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ในการหาเสียงกับประชาชนของพรรคการเมืองจะมีนโยบายพรรคหลากหลายแต่ที่เป็นหลักให้ประชาชนตัดสินใจเลือก คือ

-พรรคไม่เอาเผด็จการหรือการสืบทอดอำนาจ หากรวมทุกพรรคจะมีคะแนนป๊อปปูล่า โหวต ประมาณมากกว่า 24 ล้านเสียง
-พรรคที่สืบทอดอำนาจฯ หากรวมทุกพรรคจะมีคะแนน ป๊อปปูล่า โหวต ประมาณมากกว่า 8 ล้านเสียง

ตามปรากฏทางเว็บประชาไท และเว็บมติชน เมื่อวันที่ 28 และ 29 พฤษภาคม 2562 กรณีรองหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคเสนอ พล.อ.ประยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อ โดยให้สัมภาษณ์ ว่า (จากประชาไท)

“แม้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน เมื่อถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ ก็พร้อมให้มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีโดยมีเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล รวมกัน 191 เสียง คือพรรคพลังประชารัฐ 116 สียง พรรคภูมิใจไทย 51 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 3 เสียง และพรรคเล็ก 10 พรรคที่มี 10 เสียง เมื่อรวมกับ ส.ว. 250 คน ก็สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยเสียง 441 เสียง ซึ่งมีเสียงเกินกึ่งรัฐสภา แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ก็ต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเรียบร้อยก็ควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี”

ในหลักการประชาธิปไตยนั้นอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน นักการเมืองต้องเคารพเสียงของประชาชนเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ เลือกพรรคการเมืองไม่สืบทอดอำนาจหรือฝ่ายประชาธิปไตย ที่มากถึง 24 ล้านเสียงเศษ แต่เลือกพรรคที่เสนอสืบทอดอำนาจเพียง 8 ล้านเสียงเศษ หรือเลือกฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่าฝ่ายที่เลือกฝ่ายที่สืบทอดอำนาจถึง 3 เท่า แสดงถึงไม่แคร์เสียงของประชาชน

ที่สัมภาษณ์ว่า เมื่อเลือกนายกรัฐมนตรีโดย ส.ว.จำนวน 250 เสียงที่มาจากการแต่งตั้งแล้วก็ควรยุบสภานั้น ถือว่าไม่คำนึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลต้องเสมอกัน เพราะประชาชนส่วนใหญ่เลือกฝ่ายประชาธิปไตยเป็นผู้แทน ไม่ได้เลือกบุคคลฝ่ายสืบทอดอำนาจเข้าไปเพื่อยุบสภาแต่อย่างใด

ขณะนี้ยังไม่ได้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะมีการประชุมรัฐสภาในเร็วๆนี้ ซึ่งการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องใช้เสียงสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว 250 คนด้วย แต่จากการสัมภาษณ์ได้บอกว่า ส.ว.250 คน ได้เลือก หัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ทั้งที่เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 บัญญัติให้ ส.ว. “เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย” ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม “โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว ส.ว.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่โหวต หัวหน้า คสช.ที่เป็นผู้สรรหา ส.ว.เป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่วนบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ คสช.หรือ หัวหน้า คสช.นั้น ส.ว.โหวตได้

การที่สัมภาษณ์ว่า ส.ว.250 ตัดสินใจเลือก หน.คสช เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว นอกจาก ส.ว.ไม่สามารถเลือกได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงการเป็นผู้มีอำนาจครอบงำ ส.ว.ทั้งหมด ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ ส.ว.ย่อมมีเหมือนประชาชนทั่วไปเช่นกัน

กฎหมายเลือกตั้งของไทยได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้ แต่การบังคับใช้เพื่อจัดการเลือกตั้งให้เสรีและเป็นธรรมไปตกอยู่ในอุ้งมือของ ก.ก.ต. ที่ผ่านมากรณีที่เกิดขึ้นกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เช่น คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ห้ามถือหุ้นสื่อ ก.ก.ต.จะเร่งรัด รวดเร็ว ในการบังคับใช้กฎหมาย จนศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พักการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ขณะนี้

ส่วนที่เหตุลักษณะเดียวกันนี้ เกิดกับพรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ก.ก.ต.กลับล่าช้า เพิกเฉย ถ่วงเวลา ทั้งที่พยานหลักฐานอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ที่เป็นหน่วยราชการอยู่ทั้งหมด ซึ่งตามที่ปรากฏตามสื่อมวลชนพบว่ามี ส.ส.ผ่ายที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจที่ถือหุ้นสื่อ ประมาณ 40-50 คน

ตามหลักกฎหมายการเลือกประธานสภาและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยบุคคลที่ไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งดังกล่าว จะถือว่าการใช้สิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี ของบุคคลดังกล่าวเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น เป็นความชอบธรรมอาจเป็นปัญหาใหญ่หลวงของบ้านเมืองที่นำไปสู่ความขัดแย้งและปัญหาการยอมรับต่อไป

และถ้าใช้มาตรฐานเดียวกันกับ ก.ก.ต.ดำเนินการกับพรรคการเมืองที่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจแล้ว จะมีผลให้ฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าฝ่ายที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจประมาณ 40-50 เสียง นั้นคือฝ่ายประชาธิปไตยเป็นผู้มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง