เปิดชีวิตแร้นแค้นของเด็กไทย! พบยากจนมากกว่า21% ขณะที่3 จังหวัดจนหนักสุด
สศช.เผยเด็กไทยยากจนมากกว่า 21% พบปัญหาการศึกษาต้นเหตุความเหลื่อมล้ำ ภาคอีสานมีเด็กยากจนสูงสุดรองลงมาเป็นภาคเหนือชี้นโยบายมารดาประชารัฐช่วยได้
สศช.เผยเด็กไทยยากจนมากกว่า 21% พบปัญหาการศึกษาต้นเหตุความเหลื่อมล้ำ ภาคอีสานมีเด็กยากจนสูงสุดรองลงมาเป็นภาคเหนือชี้นโยบายมารดาประชารัฐช่วยได้
เมื่อวันที่ 11 ก.ย.62 ศ.ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่าจากการเก็บข้อมูลความยากจนของเด็กไทย โดย มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด พบว่าค่าเฉลี่ยของความยากจนของเด็กไทยอยู่ที่ 21.5% หรือราว 1 ใน 5 ของเด็กทั้งหมด ส่วนตัวเลขความรุนแรงทางการยากจนของเด็กในไทยสูงถึง 34.7% ซึ่งจังหวัดที่มีความยากจนรุนแรง 3 อันดับแรก(เรียงตามลำดับ) คือ จ.กาฬสินธุ์ (40%) จ.แม่ฮ่องสอนและจ.ปัตตานี สำหรับการแบ่งเป็นรายภาคนั้นพบว่าภาคอีสานมีเด็กยากจนที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ
ด้านสาเหตุของความยากจนมาจากด้านการศึกษาสูงที่สุด 41% ควบคู่ไปกับเรื่องโภชนาการ 15% และคุณภาพความเป็นอยู่ (Living Condition) 15% ดังนั้นการศึกษาคือปัญหาหลักที่เด็กไทยขาดแคลน
"จากการเก็บข้อมูลของพบว่า เด็กอายุ 0-3 ขวบจำนวนมากไม่มีหนังสืออ่านและเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไปจำนวนมากไม่ได้เข้าโรงเรียน อีกทั้งคุณภาพชีวิตของเด็กจำนวนมากมีสภาพไม่สู้ดีนัก ทั้งการไม่มีตัวตนในทะเบียนประชากรและความรุนแรงภายในครอบครับที่เพิ่มมากขึ้น ตามสภาวะของสังคม อีกทั้งเด็กยังขาดความอบอุ่นโดยเฉพาะเด็กชนบทที่พ่อและแม่ต่างต้องเข้ามาทำงานในหัวเมืองใหญ่ จึงทิ้งเด็กไว้ให้ญาติหรือปู่ย่าตายายเลี้ยงดูแทน"เลขาธิการสศช.กล่าว
ด้าน นายโทโมโอะ โอคุโบ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์นโยบายสังคม จาก องค์การยูนิเซฟ กล่าวเสริมว่า การปลูกฝังความรู้ให้เด็ก การเข้าโรงเรียนอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมาพร้อมกับคุณภาพทางการศึกษา รัฐบาลต้องส่งเสริมให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เรียนรู้ภาษาที่สองหรือสาม ตลอดจนส่งเสริมองค์ความรู้ทั้งในเชิงวิชาการและด้านอาชีพรวมถึงการใช้ชีวิต เพื่อให้เด็กมีความพร้อมที่สุดที่จะยืนหยัดในสังคม
ขณะที่ นางสาวมนต์ทิพย์ สัมพันธวงศ์ ผู้อำนวยการพัฒนาฐานข้อมูลและภาวะสังคม สศช. กล่าวว่า ความยากจนของเด็กไทยมีตัวเลขที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับคุณภาพการใช้ชีวิต(Living condition) เพิ่มขึ้นเช่นกันเป็น 35% จากเมื่อปี 2006 มีสัดส่วนที่ 46% สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลให้เด็กในประเทศไทยมีความยากจนลดลงคือปริมาณคนจนในไทยน้อยลง อีกทั้งประชากรยังเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้มากขึ้น เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน และสาธารณสุข สิ่งเหล่านี้เป็นข้อได้เปรียบที่เด็กไทยดีกว่าประเทศอื่นมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มชาติในตะวันออกกลางหรือแอฟริกา
นางสาวมนต์ทิพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับสิ่งที่อยากเสนอต่อภาครัฐบาลคือการผลักดันนโยบายที่ช่วยเหลือเด็กให้มีคุณภาพชีวิตมากที่สุดเพื่อต่อสู้กับความท้าทายครั้งสำคัญของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น นโยบายมารดาประชารัฐ ซึ่งจะมืการมอบเงินให้คุณแม่ ตั้งแต่วันแรกที่ตั้งครรภ์ มีค่าทำคลอดและมีเงินให้เด็กต่อเนื่องเดือนละ 2,000 บาทจนอายุครบ 6 ปี สอดคล้องกับผลศึกษาที่ระบุว่า เด็กอายุ 0-4 ปีในไทย มีสัดส่วนความยากจนมากที่สุด
นอกจากนี้ภาครัฐควรรักษานโยบายเดิม เช่น เรียนฟรี 15 ปี การเรียนผ่านสื่อทางไกล กองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เป็นต้น ตลอดจนภาครัฐควรมีนโยบายจัดการเรื่องพ่อแม่วัยใสหรือการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรเพราะกระทบกับคุณภาพชีวิตของเด็กโดยตรงหากผู้ปกครองยังไม่มีความพร้อมดูแล อย่างไรก็ตามความท้าทายใหญ่คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ของไทย ดังนั้นเด็กจึงเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติที่ต้องได้รับการดูแลอย่างดี เพื่อเป็นแกนหลักในภารกิจขับเคลื่อนประเทศในอนาคต และแน่นอนว่าต้องทำงานหนักกว่าพ่อแม่ เพราะไทยกำลังจะขาดบุคลากร