เศษเนื้อข้างเขียง
บทความวันนี้เกิดจากความรู้สึกที่ว่า บ้านเมืองของเรานั้นมี “ส่วนเกิน” หรือ “เศษเนื้อข้างเขียง” นี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในทางการเมืองการปกครอง ซึ่งในที่นี้หมายถึงเฉพาะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นมามากมาย....
บทความวันนี้เกิดจากความรู้สึกที่ว่า บ้านเมืองของเรานั้นมี “ส่วนเกิน” หรือ “เศษเนื้อข้างเขียง” นี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในทางการเมืองการปกครอง ซึ่งในที่นี้หมายถึงเฉพาะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นมามากมาย....
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
ผู้เขียนชอบเดินตามแม่ไปจ่ายตลาด ไม่ใช่ว่าจะชอบซื้อของสดของแห้งเพื่อมาทำกับข้าว แต่แม่จะให้รางวัลที่ไปช่วยหิ้วของด้วยการเลี้ยงขนม ที่มีมากเจ้า หลายชนิด หลากรส และแสนอร่อย อันเป็นจิตวิทยาพื้นๆ ที่จะฝึกให้เด็กรักในการช่วยงานบ้าน
นอกจากนี้ยังได้เห็น “การแสดง” อะไรแปลกๆ ที่น่าตื่นเต้น เช่น การทอดและโยนโรตีอย่างพิสดารของอาบังหนุ่ม หรือการสับเนื้ออย่างแคล่วคล่องเป็นจังหวะต่างๆ ของพ่อค้าเนื้อหน้าเหี้ยม รวมทั้งการที่เขาจัดการชำแหละชิ้นเนื้อในส่วนต่างๆ วางไว้เป็นพวกๆ เหมือนเจ้ามือไพ่สับและแจกไพ่เป็นกองๆ อย่างว่องไวจนแทบจะมองไม่ทันฉะนั้น
เวลาที่ลูกค้ามาซื้อก็แค่บอกว่าอยากได้เนื้อส่วนใด สันใน (เนื้อที่นุ่มที่สุดและแพงที่สุด) สันนอก (เนื้อที่นุ่มรองลงมา) เนื้อน่อง (หรือเนื้อลายที่ลวกแล้วจะกรอบกรุบหรือเอาไปตุ๋นก็เคี้ยวหนึบดี) เนื้ออก (ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเนื้อมะพร้าวเพราะจะเป็นก้อนกลมๆ ขนาดลูกมะพร้าว) เนื้อตะโพก (ใช้ในแกงต่างๆ เพราะมีปริมาณมากและเนื้อสวยพอประมาณ ค่อนข้างเหนียว แต่ถ้าเอาไปเคี่ยวก็จะอร่อยมาก) เนื้อคอ เนื้อเอว แต่ที่แม่ของผู้เขียนชอบซื้อก็คือเศษเนื้อที่วางกองอยู่ข้างเขียง
ที่จริง “เศษเนื้อข้างเขียง” เหล่านี้ไม่ใช่เนื้อเลวหรือเนื้อเสีย คือเป็นเนื้อสดเหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดเล็กไปบ้าง ชิ้นไม่สวยบ้าง มีส่วนประกอบอื่นติดมาบ้าง เช่นเส้นเอ็นหรือพังผืด แต่ที่เป็นจุดเด่นก็คือราคาถูก ส่วนใหญ่พ่อค้าข้าวแกงเฉพาะอย่าง เช่น ข้าวสตูเนื้อ กะหรี่เนื้อ หรือก๋วยเตี๋ยวเนื้อเปื่อย จะมาเหมาไปทำของดังกล่าวขาย เพราะช่วยประหยัดต้นทุนได้มาก
ที่บ้านผู้เขียนเมื่อได้เศษเนื้อดังกล่าวมาก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วน (ส่วนมากแม่จะซื้อมา 2–3 กิโล ซึ่งจะมีราคาเท่ากับเนื้อสะโพกราวครึ่งกิโล) โดยเอาส่วนที่มีเอ็นหรือพังผืดมากๆ ใส่ในหม้อที่มีข่าตะไคร้และใบมะกรูดแล้วโรยเกลือเล็กน้อย ใส่น้ำพอท่วมแล้วเคี่ยวไปจนเปื่อยนุ่ม เอาไว้ทำต้มยำหรือเนื้อตุ๋น อีกส่วนหนึ่งที่มีเนื้อมากกว่าก็เอาไปเคล้าน้ำปลากับกระเทียมและพริกไทยโขลกหยาบๆ หมักข้ามคืนไว้
พอรุ่งเช้าก็เอาไปตากแดด เก็บเอาไว้ทอดรับประทานได้หลายมื้อ
ถ้าวันไหนแยกเนื้อสวยได้มากก็จะทำ “เนื้อส้ม” หรือแหนมเนื้อแบบอีสาน คือสับเนื้อพอหยาบๆ คลุกเกลือ กระเทียม ข้าวสุก และดินประสิวเล็กน้อย (ว่ากันว่าจะทำให้เนื้อแดงสวย) ห่อมัดให้แน่นด้วยใบตองหลายๆ ชั้น แขวนหรือเก็บไว้ในที่ร่มสัก 2–3 วัน ก็จะมีรสเปรี้ยว นำมาย่างทั้งใบตองให้มีกลิ่นหอม แกะออกรับประทานกับพริกขี้หนูสด ซึ่งคนที่ชอบจะบอกว่า “แซบมั่กๆ”
ทว่าในชีวิตของผู้คน วลี “เศษเนื้อข้างเขียง” กลับมีความหมายไปในทางที่ “ต้อยต่ำ” หรือ “ไร้ค่า” อย่างในเพลง “เศษเนื้อข้างเขียง” ที่ขับร้องโดยคุณสวลี ผกาพันธุ์ มีเนื้อเพลงท่อนสุดท้ายร้องว่า “อย่าห่วงฉันเลย เมื่อความชื่นเชยสิ้นเสน่หา ทิ้งฉันเสียดีกว่าเมื่อไร้คุณค่าคู่เคียง หัวใจฉันแหลกแตกแล้วเป็นเสี่ยงๆ เหมือนเศษเนื้อข้างเขียง เก็บไว้รกเตียงทำไม”
ตอนต้นของเพลงนี้กล่าวถึงความเลวของผู้ชายที่ได้ความสาวของหญิงที่หลอกล่อมาได้โดยอ้างว่าทำไปเพราะรัก แต่แล้วก็ทอดทิ้งหญิงไปโดยไม่บอกเหตุผล หญิงจึงต้องออกมาคร่ำครวญเพราะคิดว่าคงหมดคุณค่าแล้ว ดั่งเศษเนื้อข้างเขียงกระนั้น
นอกจากนี้ยังมีเพลงที่มีความหมายหรือเรื่องราวคล้ายๆ กัน คือเพลง “ส่วนเกิน” ของคุณดาวใจ ไพจิตร ที่ท่อนสุดท้ายรำพันไว้อย่างน่าเห็นใจว่า “อาดูรเดียวดายเขาคงจะหน่ายไม่มา หรือว่าทำเมินเมื่อยามนิทราหอมภรรยาคุณเพลิน ปล่อยให้ส่วนเกินหอมหมอนเพลินแทนคุณ”
บทความวันนี้เกิดจากความรู้สึกที่ว่า บ้านเมืองของเรานั้นมี “ส่วนเกิน” หรือ “เศษเนื้อข้างเขียง” นี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในทางการเมืองการปกครอง ซึ่งในที่นี้หมายถึงเฉพาะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นมามากมาย แต่ทำหน้าที่ได้ไม่สมที่สังคมคาดหวัง ทั้งยังสร้างความผิดหวังให้แก่ผู้คนในสังคมครั้งแล้วครั้งเล่า
กรณีล่าสุดก็คือ “เรื่องตลก” ที่เกิดขึ้นจากกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีการใช้เงินกองทุนของพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 29 ล้านบาท โดยที่ยังหาบทสรุปไม่ได้ แต่จากข่าวที่ปรากฏก็สร้างความสับสนให้กับสังคมอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ “ความรับผิดชอบ” ที่จะต้องตกอยู่แก่ใคร จะมีก็แค่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านออกมาแถลงว่าให้คอยอ่านคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการแต่ละคนนั้นก่อน (ซึ่งก็น่าจะพอคาดเดาได้ว่าคงจะสร้างความงุนงงแก่สังคมอยู่เช่นเดิม) รวมทั้ง กกต.ก็มีการปกป้องกันและกัน โดยบอกได้แต่ว่า “ทำดีที่สุดแล้ว”
หลายคนที่ร่วมอยู่ในกระแสการปฏิรูปการเมืองไทยที่ก่อตัวมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535 คงพอจะจำได้ว่าภาคประชาชนมีความตื่นตัวในเรื่องนี้รุนแรงเพียงใด อย่างที่ได้เห็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ใส่ “ความหวังและที่พึ่ง” ไว้ในหลายๆ มาตรา อย่างที่ได้ตั้งองค์กรอิสระต่างๆ ขึ้นมาอย่างมากมาย แม้เมื่อได้ปรับปรุงมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็ยังคงรักษาบทบาทหน้าที่องค์กรเหล่านี้ไว้ ทั้งยังเสริมเขี้ยวเล็บหรือเพิ่มอำนาจให้อีกพอสมควร
ส่วนตัวผู้เขียนพอจะเข้าใจว่าความบกพร่องขององค์กรทั้งสองคือศาลรัฐธรรมนูญและ กกต.นี้มีสาเหตุมาจากเรื่องใดบ้าง ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นจากเป็นองค์กรที่ต้องโต้อยู่ในกระแสการต่อสู้ทางการเมืองอันเชี่ยวกรากของประเทศไทย ที่ยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในบรรยากาศที่ “แพ้ไม่ได้” ของนักการเมืองบางคนหรือกลุ่มการเมืองบางฝ่าย
แต่ก็มีองค์กรอิสระบางองค์กรที่ควรจะทำหน้าที่ได้สบายๆ เพราะเพียงแค่เป็น “บุรุษไปรษณีย์” ทำหน้าที่ส่งสารความเดือดร้อนไปสู่องค์กรต่างๆ ให้ช่วยแก้ไข ซึ่งก็คือ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” อย่างเรื่องหนึ่งก็คือการสร้างและรักษา “จริยธรรมทางการเมือง” ที่มาตรา 280 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ระบุไว้ชัดเจน (เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะขอนำมาขยายในภายหลัง) แต่ท่านก็ “ละเว้น” ไม่เห็นจะดำเนินการใดๆ
อนึ่ง ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้มีผู้เสนอให้ยุบองค์กรอิสระที่ไร้ประโยชน์เหล่านี้เสีย เพราะนอกจากจะไม่สร้างประโยชน์อะไรให้ส่วนรวมแล้ว ยังมีพฤติกรรมที่ทำให้เห็นว่า “รับใช้” กลุ่มการเมืองบางกลุ่ม หรือไม่ก็พยายามที่จะ “รักษาประโยชน์ส่วนตน” หรือ “เอาตัวรอดและอยู่ไปวันๆ” เท่านั้น
ระวัง “เศษเนื้อข้างเขียง” จะกลายเป็น “เนื้อเน่าบนระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งที่สุดนั้นคงต้องส่งไปเผาทิ้งเสียที่ป่าช้า!